- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Monday, 07 September 2015 18:30
- Hits: 7456
กอช.+ประกันสังคม คอมโบสุดคุ้มเพื่อชีวิตสบายยันเกษียณ
ช่วงนี้มีเพื่อนๆ หลายคนที่ทำอาชีพอิสระและเป็นผู้ประกันตนโดยอิสระตามมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคมอยู่สอบถามกันเข้ามาเยอะเลยว่า เห็นมีข่าวให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 โอนสิทธิกรณีบำนาญชราภาพไปยังกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) นั้นมีรายละเอียดยังไงบ้าง ถ้าโอนไปแล้วจะส่งผลกระทบยังไง แล้วต้องดำเนินการเมื่อไหร่ เมื่อโอนไป กอช. แล้วต้องส่งเงินเพิ่มขึ้นด้วยไหม แล้วสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับจากประกันสังคมจะยังอยู่หรือเปล่า คำถามมากมายขนาดนี้ K-Expert จึงได้ไปหาคำตอบและรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดมาฝาก ซึ่งรายละเอียดที่ว่าจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ
ทำไมผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องโอนสิทธิกรณีบำนาญชราภาพไปยังกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
หลังจากที่ กอช. เปิดรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อส่งเสริมให้คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญได้สร้างหลักประกันหลังเกษียณของตัวเองขึ้นมา โดยจะได้รับเป็นบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตเมื่ออายุครบ 60 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขว่าสมาชิก กอช. จะต้องจ่ายเงินสะสมไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อเดือน และไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องฝากเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องฝากเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือนด้วย ซึ่งจากการที่มี กอช. เกิดขึ้นมานั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้โอนผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3, 4, 5 ในระบบประกันสังคมไปให้ กอช. บริหารแทน เนื่องจากหากร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติและร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกาประกันสังคมมาตรา 40 มีผลบังคับใช้ จะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพ คือทางเลือกที่ 3, 4 และ 5 สิ้นสภาพในทันที
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3, 4 และ 5 มีทางเลือกในการออมเงินเพื่อเกษียณยังไงบ้าง
สำหรับ ใครที่เป็นผู้ประกันตนโดยอิสระตามมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3, 4 และ 5 อยู่ก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ เพราะเรามีทางเลือกค่ะว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายไปยัง กอช. ตามความสมัครใจของเราเอง โดยทางสำนักงานประกันสังคมจะส่งจดหมายเพื่อแจ้งสิทธิที่มีอยู่และจำนวนเงินสะสมไปให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ละคนได้ทราบ และให้ผู้ประกันตนไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งภายใน 180 วันว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายไปยัง กอช. ค่ะ
คราวนี้ลองมาดูการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หากเราเลือกที่จะโอนย้ายหรือไม่ย้ายไปยัง กอช. กันค่ะ
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ซึ่งจ่ายเงินสมทบ 200 บาทต่อเดือน โดยจ่ายเอง 100 บาท รัฐสนับสนุน 100 บาทและได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 1 กรณีคือ กรณีชราภาพ (เงินบำนาญ) นั้น
- หากเลือกโอนไป กอช. สำนักงานประกันสังคมก็จะโอนผู้ประกันตนและเงินไปสะสมในบัญชีรายบุคคลของ กอช. ทำให้ได้รับเงินบำนาญรายเดือนเหมือนเดิมและสามารถจ่ายเงินสะสมต่อไปได้ ทั้งนี้ ถ้าผู้ประกันตนอายุไม่เกิน 60 ปี ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 ควบคู่ไปด้วยได้ค่ะ ซึ่งจะต้องจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน โดยจ่ายเอง 70 บาท รัฐสนับสนุน 30 บาท และจะได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณีคือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิตเพิ่มเติมขึ้นมานอกเหนือจากเงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับจาก กอช. นั่นเองค่ะ
- หากไม่โอนไป กอช. จะถือว่าผู้ประกันตนลาออกจากมาตรา 40 โดยจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมาค่ะ ซึ่งหากผู้ประกันตนอายุไม่เกิน 60 ปี และอยากได้สวัสดิการกรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิตด้วยก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ได้เลยค่ะ สำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 จะต่างจากทางเลือกที่ 1 อยู่เล็กน้อยตรงที่จะได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครองเหมือนกับทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มกรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) เข้ามาค่ะ ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน โดยจ่ายเอง 100 บาท และรัฐสนับสนุน 50 บาทค่ะ
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 4 ซึ่งจ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน โดยจ่ายเอง 170 บาท รัฐสนับสนุน 130 บาท และได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณีคือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตและชราภาพ (เงินบำนาญ) นั้น
- หากเลือกโอนไป กอช. สิทธิเงินบำนาญก็จะอยู่ที่ กอช. จะเหลือเฉพาะสิทธิการเป็นผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 เท่านั้น
- หากไม่โอนไป กอช. ก็จะได้รับเงินบำนาญที่เราจ่ายและรัฐสมทบให้กลับคืนมา และจะกลับมามีสถานภาพเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 ค่ะ
ดังนั้น หากผู้ประกันตนต้องการออมเงินต่อไปเพื่อให้ได้รับเงินบำนาญไว้ใช้หลังเกษียณ ก็แนะนำให้เลือกโอนไป กอช. จะดีกว่าค่ะ
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 5 ซึ่งจ่ายเงินสมทบ 350 บาทต่อเดือน โดยจ่ายเอง 200 บาท รัฐสนับสนุน 150 บาท และได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณีคือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ (เงินบำเหน็จ) และชราภาพ (เงินบำนาญ) นั้น
- หากเลือกโอนไป กอช. สิทธิเงินบำนาญก็จะอยู่ที่ กอช. และจะถูกโอนไปเป็นผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 โดยอัตโนมัติ
- หากไม่โอนไป กอช. ก็จะได้รับเงินบำนาญที่เราจ่ายและรัฐสมทบให้กลับคืนมา และผู้ประกันตนจะถูกโอนไปอยู่ในทางเลือกที่ 2 ตามสิทธิที่มีอยู่ค่ะ
ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกันตนเองว่า หลังเกษียณอยากได้รับเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จไว้ใช้ หากเราต้องการเงินบำนาญหลังเกษียณล่ะก็ แนะนำให้เลือกโอนไป กอช. แต่หากต้องการเงินบำเหน็จหลังเกษียณก็ไม่ต้องโอนไป กอช. แต่ไปอยู่ในทางเลือกที่ 2 แทนค่ะ
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายไปยัง กอช. แล้วจะต้องทำยังไงต่อ มาดูรายละเอียดกันเลยค่ะ
- ถ้าต้องการโอนย้ายไป กอช. ให้ผู้ประกันตนกรอกเอกสารแสดงความจำนงเป็นสมาชิก กอช. ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพฯ พื้นที่ต่างๆ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภายใน 180 วันนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยจะโอนข้อมูลและเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ประกันตนไปสะสมในบัญชีของ กอช.
- ถ้าไม่ต้องการเป็นสมาชิก กอช. ให้กรอกเอกสารแสดงความจำนงไม่เป็นสมาชิก กอช. พร้อมนำสำเนาสมุดบัญชีออมทรัพย์ของผู้ประกันตนมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพฯ พื้นที่ต่างๆ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เพื่อรับโอนเงินสมทบกรณีบำนาญชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมาค่ะ
สำหรับ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และ 2 แม้จะไม่ได้รับผลกระทบหรือต้องตัดสินใจว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายไปยัง กอช. แต่อย่างใด ก็อยากแนะนำให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณีคือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต สมัครเป็นสมาชิก กอช. ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิตเมื่ออายุครบ 60 ปี ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณีคือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตและชราภาพ (เงินบำเหน็จ) จะไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้อีกเนื่องจากเมื่ออายุครบ 60 ปีจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพค่ะ แต่ถ้าอยากสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญรายเดือนจะต้องย้ายไปอยู่ทางเลือกที่ 1 ก่อนค่ะถึงจะสมัครได้
หวังว่า ข้อมูลทั้งหมดที่บอกไปจะช่วยให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกต่างๆ ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้นะคะ ทั้งนี้ ควรศึกษารายละเอียดข้อมูลต่างๆ ให้เข้าใจและตรวจสอบสิทธิต่างๆ ที่มีอยู่อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกคอมโบสุดคุ้มให้กับตัวเอง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ครบถ้วน รวมถึงได้รับเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จไว้ใช้หลังเกษียณตามที่ต้องการค่ะ...