- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Tuesday, 24 June 2014 11:58
- Hits: 4622
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ปัญหา จากอดีต ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัญหา การค้ามนุษย์
กรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐนำเสนอรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2557 แล้วมีมติลดอันดับไทยจาก 2 เป็น 3 อันถือเป็นอันดับต่ำสุด
เหมือนกับพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก
จะแถลงในท่วงทำนองแบบปัดสวะให้พ้นหน้าบ้านเช่น นายอิสสระ สมชัย ว่าเป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ก็ย่อมได้
แต่ถามว่า เมื่อแถลงอย่างหะรูหะราอย่างนั้นแล้ว ใครกันเล่าที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มพิกัด อาจเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ขอถามว่า ณ วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอะไร
ความเป็นจริงก็คือ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้หมดสภาพไปแล้วนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความผิด และโดยเฉพาะเมื่อเกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557
คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างหาก-รับเต็ม-เต็ม
ที่ระบุว่าคสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับเต็ม-เต็ม มิได้เป็นการโบ้ยในท่วงทำนองแบบพรรคประชาธิปัตย์
หากคือ สิ่งที่เรียกว่า ความเป็นจริง
ฝ่ายที่จะต้องระดมความคิด ระดมความเห็นเพื่อรับมือกับมาตรการอันจะมาจากสหรัฐอเมริกาย่อมมิใช่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากแต่เป็นคณะที่เข้ามาหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นเอง
เพราะไม่เพียงแต่จะโดนจากรัฐบาลสหรัฐเท่านั้น ทำท่าว่าฤทธิ์เดชอันเนื่องแต่การค้ามนุษย์จะมีผลสะเทือนออกไปอย่างกว้างไกล สินค้าประเภทแช่เยือกแข็งโดยเฉพาะกุ้งทำท่าว่าอาจไม่สดใสแม้กระทั่งตลาดในสหภาพยุโรป
ตรงนี้แหละที่เรียกว่า พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก
ขณะเดียวกัน หากศึกษาจาก รายงาน อันกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจัดทำขึ้นนำเสนอก่อนมีมติออกมาอย่างเป็นทางการก็จะประจักษ์
ประจักษ์ว่า จุดเริ่มต้น 1 คือ กรณี โรฮิงยา
อันการอพยพของชาวโรฮิงยาจากเมียนมาร์นั้นมิได้เป็นเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากมีมาตั้งแต่ยุคของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาแล้ว
ขณะเดียวกัน จุดเพ่งเล็ง 1 ก็คือ การทำประมง นอกน่านน้ำ
รายละเอียดที่จะต้องหารือร่วมกันก็คือ จะมีอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรประเภทใดบ้างที่อาจจะต้องได้รับผลกระทบจากการจัดอันดับในเรื่องการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าวครั้งนี้
นี่คือ การบ้านโดยตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ต้องยอมรับว่า ยุคแห่ง การโบ้ย และการกล่าวหากันแบบเถื่อนๆ กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว
พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจและเข้ามาแบกรับปัญหา นั่นหมายถึง การยืนอยู่กับสภาพความเป็นจริงอันหมักหมม สะสมมาอย่างยาวนานหลายรัฐบาล
หลายรัฐบาลใน อดีต กระทั่งตกคลักมาถึง ปัจจุบัน
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:42 น. ข่าวสดออนไลน์
เสนอคสช. รื้อระบบค้าแรงงาน
รายงานพิเศษ
มีข้อเสนอแนะและแรงเชียร์จากคนในวงการ และนักวิชาการที่เกาะติดกับปัญหา
เพื่อให้การแก้ไขตรงจุด จำกัดกรอบไม่ให้ปัญหาบานปลาย
อัครพงษ์ ค่ำคูณ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์
แรงงานต่างชาติ คือปัจจัยสำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะแรงงานจากกัมพูชาที่เข้ามาประกอบอาชีพก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผล กระทบทันทีเมื่อแรงงานอพยพกลับประเทศ อีกส่วนหนึ่งเข้ามาทำการเกษตร เก็บผลไม้อยู่แถบตะวันออก
ชาวกัมพูชาอ่อนไหวในประเด็นพิพาทกับไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีดาราหญิงไทย หรือกรณีเขาพระวิหาร จึงเกิดความรู้สึกหวาดกลัวในกระแสข่าวลือ
และช่วงเวลานี้คือช่วงเพาะปลูก คนกัมพูชาทยอยกลับประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่อพยพมากกว่าปกติเพราะเขาอ่อนไหวต่อข่าวลือ
แต่เชื่อว่าระยะยาวไม่น่าจะมีปัญหา แรงงานเหล่านี้จะกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อบรรยากาศทางการเมืองของไทยดีขึ้น
ระหว่างนี้จึงอยากให้ คสช.กำหนดนโยบายหรือออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติให้ชัดเจน ทั้งในแง่ของสิทธิ การจัดเก็บภาษีให้เป็นระบบ
ตลอดจนสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลให้ทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างบรรยากาศการทำงานให้ดีขึ้น มีความปลอดภัย
เพราะหากไม่มีสิ่งเหล่านี้คอยดูแลหรือควบคุมแรงงานก็ถือเป็นการค้ามนุษย์อย่างหนึ่ง และหากทำได้ก็จะส่งผลดีต่อแรงงานไทยในต่างประเทศที่จะได้รับการปรับระดับสิทธิของแรงงานจากประเทศอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
อยากให้ คสช.จัดระเบียบและจริงจังต่อการแก้ปัญหาต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น อย่าปล่อยให้ฝ่ายใต้บังคับบัญชาแตกแถวมาหาผลประโยชน์ต่อประชาชนและแรงงานได้
ภูเบศ จันทนิมิ
นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงไทยมีประมาณ 3 แสนราย เป็นแรงงานพม่า 60-70% ลาว 1-2% ที่เหลือเป็นแรงงานจากกัมพูชา
เรือประมงที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงทั้งสิ้น 50,000 ลำ ขนาดใหญ่ 20,000 ลำ และเรือประมงที่ประกอบอาชีพทั้งเพื่อจับสัตว์น้ำเพื่อส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ได้รับผลกระทบ 30-40% หยุดออกเรือไปแล้ว 10-15%
การขาดแคลนแรงงานจากกัมพูชาครั้งนี้ถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประ กอบอาชีพประมง เพราะปกติก็มีปัญหาแรงงานกัมพูชากลับประเทศจำนวนมาก
โชคดีที่ คสช.ทำประกาศชี้แจงถึงข่าวลือว่าการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวไม่เป็นความจริง เป็นการรับมือได้เร็วมาก ส่งผลให้การไหลออกของแรงงานกัมพูชาเริ่มชะลอตัวลง
แต่ก็เชื่อว่า ระยะนี้จะยังกลับมาไม่ทั้งหมด ขณะที่การขาดแคลนแรงงานถือเป็นเรื่องใหญ่ อาชีพการประมงที่สร้างเงินให้เศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท/ปี
ทางการต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวมาทำความเข้าใจ ทำประวัติและจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่นให้แรงงานต่างด้าวว่าจะไม่ถูกจับกุม
น่าจะลดค่าธรรมเนียมและค่าบริหารอื่นๆ ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ไม่ควรเกิน 2,500 บาท/คน จากปัจจุบัน 4,500 บาท/คน เป็นภาระและส่งผลให้แรงงานไม่ยอมขึ้นทะเบียน
เมื่อ คสช.ต้องการจัดระเบียบก็เป็นโอกาสอันดี แต่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการจัดการให้ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้าง
แล ดิลกวิทยรัตน์
ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ปัญหาด้านแรงงานต่างประเทศหมัก หมมมายาวนาน มีลักษณะมีนอกมีในโดยตลอด ผู้อยู่ในวงการด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนรู้ดีว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับวงเงินมหาศาล เกี่ยวโยงกับมาเฟียที่ไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่ระดับเล็ก หากเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพล
ส่วนหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญของปัญหาคือ กระบวนการทางกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายยังไม่รวด เร็วเพียงพอต่อความต้องการ จนต้องไปใช้แรงงานนอกระบบหรือแรงงานเถื่อน
เห็นได้จากแรงงานที่เข้ามามี 3 ล้านคน แต่จดทะเบียนไม่ถึง 1 ล้านคน ทำให้เกิดวงเงินมหาศาลในการค้ำจุนแรงงานเถื่อน สุดท้ายแรงงานเหล่านั้นก็ถูกกดขี่ขูดรีดไม่ต่างจากทาส
การที่ คสช.เข้ามาจัดการเรื่องนี้เท่ากับชี้เป้าได้ถูกต้อง เพียงแต่ยังเป็นลักษณะปรากฏการณ์ ยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้หรือไม่
แต่ข้อดีคือแม้ตอนนี้ยังเป็นการจัดการแบบปรากฏการณ์ แต่ก็ทำให้ความชั่วร้ายของวงจรนี้เงียบลงไปในระดับหนึ่ง อาจเพราะเป็นกองทัพเข้ามาจัดการคนที่เกี่ยวข้องจึงเกรงใจ
คสช.ต้องพิจารณาต่อไป คือ ทำอย่างไรจะเข้าไปแก้ปัญหานี้ให้ถึงแก่น อาจต้องรื้อระบบ ทำโครงสร้างใหม่ จากนี้จึงควรพิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมายและการบริหาร ทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและรวดเร็ว
ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าปัญหานี้มีโครงสร้างและตัวแปรที่ซับซ้อน มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เห็นได้จากการสร้างข่าวลือให้กลุ่มแรงงานแตกตื่นกลับภูมิลำเนาเพื่อลบหลักฐานไม่ให้เชื่อมโยงถึงตัวผู้กระทำ
คสช.จำเป็นต้องใช้วิธีละมุนละม่อม อย่าผลีผลาม เพราะอาจทำให้โครงสร้างล้มจนเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ต้องค่อยๆ แก้ไปทีละปม
ส่วนมุมมองจากนานาชาติหากเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่กระทบสิทธิมนุษยชนหรือไม่ใช่ความรุนแรง และอธิบายให้เข้าใจได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน นำออกมาจากที่มืดให้อยู่ในที่สว่าง ก็เชื่อว่านานาชาติจะเข้าใจได้
อังสุรัสมิ์ อารีกุล
นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
แรงงานก่อสร้างที่เป็นต่างด้าวมีทั้งกัมพูชา พม่าและลาว ชาวลาวส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน ไม่เคลื่อนย้ายไปภาคอื่น ส่วนแรงงานพม่าและกัมพูชากระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะนี้แรงงานกัมพูชาที่กลับภูมิลำเนาบางส่วนทยอยกลับไทยแล้ว
ขณะนี้ความต้องการแรงงานต่างด้าวมีเพียงระดับแสนคน แต่หากภาครัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาทเกิดขึ้น ความต้องการแรงงานต่างด้าวก็จะขยับขึ้นไปถึงล้านคน
บริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมแจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. แรงงานหายไปพอสมควร 9,000-10,000 คน ความเสียหายขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัทก่อสร้าง เนื่องจากความต้องการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้างแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน
ผู้ประกอบการยังไม่ได้รับความเสียหายถึงขั้นงานก่อสร้างต้องหยุดทำงาน บริษัทที่ใช้แรงงานพม่ามากก็ไม่มีผลกระทบอะไรมาก ส่วนบริษัทที่จ้างแรงงานกัมพูชามากแน่นอนได้รับผลกระทบชัดเจน
การแก้ไขปัญหาระยะสั้นของผู้ประกอบการอาจดึงตัวแรงงานพม่ากับแรงงานไทยมาทดแทน โดยบริษัทขนาดเล็กอาจต้องจ่ายค่าจ้างแพงขึ้น ส่วนผู้รับเหมาที่รับงานก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ใช้แรงงานจำนวนมากอยู่แล้ว
แรงงานต่างด้าวเพิ่งหายไปประมาณ 2 อาทิตย์ ดังนั้น ถ้ากลับมาเร็วก็ไม่ถึงกับจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างมากนัก
ข้อเสนอแนะคืออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง ในราคาต้นทุนการนำเข้าที่ไม่แพงนัก
และขอให้แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้างย้ายถิ่นฐานได้ เนื่องจากไซต์งานก่อสร้างกระจายอยู่หลายพื้นที่ จบงานหนึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องย้ายคนงานไปอีกไซต์งานหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นคนละจังหวัด