- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Wednesday, 18 June 2014 14:42
- Hits: 5294
18 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
'แรงงานต่างด้าว'ไม่ใช่แค่ความมั่นคง
ทวี มีเงิน
ผลจากคำสั่ง'คสช.'ที่ 59/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) เพื่อจะแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ ทันทีที่คำสั่งออกมามีการกระพือข่าวว่าทหารจะกวาดล้างแรงงานเถื่อนส่งผลให้ แรงงานลาว พม่าและเขมร ทั้งเถื่อนและไม่เถื่อนพากันหวาดผวาอพยพหนีกลับกัน จ้าละหวั่น
'แรงงานเขมร' จะหนักกว่าเพื่อนอาจเป็นเพราะความทรงจำของคนเขมรต่อรัฐบาลทหารของเขาในอดีต ไม่ค่อยดีเมื่อเจออย่างนี้ก็เลยยิ่งกลัวไปกันใหญ่
แรงงาน ต่างด้าวในเมืองไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แรงงานเถื่อนกับแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้องและยังแยกได้อีก 2 ประเภทคือ พวกที่เข้ามาตั้งใจมาทำงานจริงๆ กับพวกที่เข้ามาสร้างปัญหา ที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลยบางพื้นที่กลายเป็น'รัฐอิสระ'ที่ทางการไทยเข้าไปแตะไม่ได้ มีมาเฟีย ทำผิดกฎหมายทั้งยาเสพติด อาชญากรรม แหล่งรวมโรคต่างๆ
ถือเป็นโอกาสดีที่'คสช.'จะเข้ามาจัดแถวให้ถูกต้องแต่การจัดระเบียบจะต้องแยกแยะ'แยกน้ำแยกปลา'ให้ได้ คนที่จะรู้เรื่องดีที่สุดน่าจะเป็นบรรดาผู้ประกอบการ ภาค ธุรกิจต่างๆ
แต่ดูรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 25 คน กลับไม่มีภาคเอกชนเข้าร่วมแม้แต่คนเดียว คสช.อาจจะให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงเป็นพิเศษ แต่อย่าลืมว่าแรงงานต่างด้าวกับสังคมไทยมีมติอื่นๆ อีกมากมายเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจ
หากไม่มีแรงงานต่างด้าว เมื่อไหร่หลังจากที่การเมืองเข้าที่เข้าทางเศรษฐกิจเริ่มขยาย การลงทุนเพิ่มขึ้นจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงตามมา งานหลายๆ อย่างคนไทยไม่ยอมทำ เช่น ประมง งานในโรงงานจะเป็นแรงงานพม่า ลาว ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานเขมร
ตอนนี้เริ่มเห็นผล เขมรกลับบ้านธุรกิจก่อสร้าง โครงการจัดสรรขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เริ่มทยอยทิ้งเป็นโครงการร้างขืนปล่อยไว้อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวเกิด ความไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐบาลไทยกับเพื่อนบ้าน รวมทั้งจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจในอนาคต
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่แค่ความมั่นคงเท่านั้น....เห็นที 'คสช.' ต้องเร่งหารือภาคเอกชนด่วน...
แรงงาน กัมพูชา กับ กระแส ′ข่าวลือ′ เหมือน เขื่อนแตก
(ที่มา:มติชนรายวัน 17 มิ.ย.2557)
ทั้งๆ ที่บันทึกข้อความที่ 0029 (ศปก.สตม.)/136 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ลงนามโดยพล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี จเรตำรวจรักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
มีความเด่นชัด...
"ให้หน่วยงานสังกัด สตม.รอฟังแนวทางการปฏิบัติจากหน่วยเหนือไว้ก่อน โดยมิให้กระทำการใดๆ ที่สร้างเงื่อนไขอันเป็นผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ"
แล้วอาการ 'แตกตื่น'ของแรงงาน'ต่างด้าว'
เป็นไปอย่างที่ เกาะ สม สะรึต ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศส
"คลื่นของแห่กลับบ้านครั้งนี้ไม่ต่างกับเขื่อนแตก ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา"
เกิดขึ้นได้อย่างไร
หากมิใช่เพราะ 'พิษ' แห่งกระแสของ'ข่าวลือ'
รูปธรรมของความเป็นจริงสามารถสัมผัสได้จากแถลงของ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ว่าแรงงานแห่กลับประเทศอย่างน่าตกใจ
'กระแสความกลัวเหมือนโรคระบาด'
จากมุมมองของ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) แห่งกระทรวงแรงงานอาจมิใช่เรื่องน่ากลัว
แต่เขาก็ยอมรับว่า มีจำนวนประมาณ 40,000 คน
"ส่วนใหญ่ทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างและในภาคอุตสาหกรรมหนัก แรงงานกลุ่มนี้เข้ามาทำงานในประเทศแบบผิดกฎหมาย"
เช่นเดียวกับแถลงของโฆษก คสช. น.ส.ปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
"เป็นการกลับโดยปกติอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นฤดูกาลทำเกษตรและทำนา ชาวกัมพูชาต้องกลับไปช่วยครอบครัวทำนา"
แต่ดูเหมือนรายงานจาก อิฐ เฮง รัฐมนตรีแรงงานกัมพูชา จะไม่เป็นเช่นนั้น
"มีแรงงานชาวกัมพูชา 4.36 หมื่นคน ถูกส่งกลับหรือหลบหนีผ่านจุดผ่านแดนนับตั้งแต่มีการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเมื่อต้นเดือนนี้ ส่วนมากเป็นแรงงานผิดกฎหมาย"
เขาใช้คำว่า 'กวาดล้าง'
ยิ่งหากเป็นแถลงจาก นายสม รังสี หัวหน้าพรรคซีเอ็นอาร์พีของกัมพูชา ที่ระบุว่ามีแรงงานชาวกัมพูชาอย่างน้อย 500,000 คนที่ถูกส่งกลับ ยิ่งเป็นเรื่องอันมากด้วยสีสันและนำไปสู่ความเข้าใจผิดอย่างแน่นอน
นี่คือพิษแห่ง'ข่าวลือ' ในสถานการณ์อัน'สับสน'
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงาน'ต่างด้าว' บริเวณชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงาน'ต่างด้าว'บริเวณชายแดนปอยเปต-สระแก้ว
มากด้วยความละเอียดอ่อน
แม้แรงงาน'ต่างด้าว' เหล่านั้นจะกระทำการอย่างละเมิดกฎหมาย จัดอยู่ในประเภทแรงงานผิดกฎหมาย
แต่มิได้หมายความว่าจะจัดการได้อย่างง่าย-ง่าย
บันทึกข้อความของรักษาการผู้บัญชาการสำนักตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวก็เน้นอย่างหนักแน่นจริงจังและยอมรับว่า
'มีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ'
การหายไปของแรงงานนับหมื่นคนในชั่วเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ดังที่ผู้ประกอบการอันสัมพันธ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชาสรุป'ปัญหาส่งมอบงานไม่ทันมีแน่นอน ทั้งงานก่อสร้างหรือธุรกิจสิ่งทอ ผลิตเสื้อผ้าที่ขาดคนและผลิตได้ช้าลง'
เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
การจัดระเบียบในเรื่อง'แรงงาน'โดยเฉพาะต่อแรงงาน'ต่างด้าว'อันถือเป็นกำลังโดยพื้นฐานภายในโครงสร้างของอุตสาหกรรมจึงมีความจำเป็นเพื่อความรอบคอบ
แต่จะจัดอย่างไรโดยให้มีผลสะเทือนน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย
กระนั้น จุดอันละเอียดอ่อนอย่างมากก็คือ ในทางความเป็นจริงยังมิได้มีการขยับขับเคลื่อนอะไรเลย
เพียงแต่'คิด'ในลักษณะ'เงื้อง่า'เท่านั้น กระแส 'ข่าวลือ' ก็โหมซัดกระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวไม่ต่างอะไรกับน้ำไหลบ่ายามเขื่อนพัง
'ข่าวลือ'ต่างหากที่น่ากลัวกว่า'ของจริง'....