- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Wednesday, 07 May 2014 00:30
- Hits: 5068
หลัก 5P ปลด 5 สินค้า 'ใช้แรงงานเด็ก' เชื่อหลุด 'Tier 2'
บ้านเมือง : วิถีชีวิตคนไทยเมื่อไปไหนมาไหนก็พาเด็กไปด้วย เฉกเช่นภาพเด็กๆวิ่งเล่นกันในไร่อ้อย เพราะเด็กเหล่านั้นติดตามพ่อแม่มาในสถานที่ทำงานด้วยบางครั้งพ่อแม่ให้เด็กหยิบจับเครื่องมือทำงานด้วยแล้ว เมื่อภาพเหล่านั้นถูกบันทึกและตีแผ่ไปยังสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยใช้แรงงานเด็กในกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ ซึ่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์ตัวบทกฎหมายแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุว่า'เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่สามารถทำงานได้' ส่วน 'เด็กทำงานต้องมีอายุ15 - 18 ปี สามารถทำงานได้แต่งานที่ทำต้องไม่เป็นอันตราย' ขณะที่แรงงานบังคับจะเกี่ยวกับลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายทำให้เกิดความเสียหาย เช่นเสียสิทธิเสรีภาพที่ลูกจ้างพึงได้พึงมี นายจ้างหักค่าจ้างโดยไม่เป็นธรรมไม่จ่ายค่าจ้าง หรือการกระทำที่รุนแรงต่อร่างกาย
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เล่าถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานใช้หลัก 5P เป็น
แนวทางการดำเนินงานโดยได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานเด็กและแรงงานเด็กต่างชาติ ทั้ง การป้องกัน(Prevention) เพื่อไม่ให้สถานประกอบการมีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การตรวจแรงงาน สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) เพื่อให้ลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวที่มายื่นคำร้องเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานการดำเนินคดี (Prosecute) โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน (Policy) โดยการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการมีส่วนร่วม (Partnership) โดยเฉพาะการจัดระบบฐานข้อมูลที่พบว่าปัจจุบันหลายหน่วยงานยังมีตัวเลขไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับคำจำกัดความของแต่ละหน่วยงานที่นำมาเก็บข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้นโยบายป้องกันและคุ้มครองควบคู่กันไป ทั้งการส่งเสริมให้นายจ้างและลูกจ้างจัดทำสัญญาจ้างที่ชัดเจน มีกระบวนการตรวจแรงงานในสถานประกอบกิจการที่สุ่มเสี่ยงว่าได้รับการจับตามองว่ามีการใช้แรงงานเด็กเนื่องจากภาพที่ปรากฏในสื่อต่างชาติมองว่าการที่พ่อแม่นำเด็กมาวิ่งเล่นในไร่อ้อยนั้นเป็นการใช้แรงงานเด็ก
"กระทรวงแรงงานทุกหน่วยงานมีส่วนเกี่ยวข้องชัดเจน เป็นกลไกสำคัญของประเทศในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก เรื่องนี้มีผลต่อประเทศชาติ ฉะนั้นเราต้องนำเด็กแรงงานข้ามชาติในไร่อ้อยที่ติดตามพ่อแม่มาทำงานออกมาเข้าสู่ระบบการศึกษา การพัฒนาอาชีพซึ่งต้องร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"
ทุกวันนี้ ปัญหาค้ามนุษย์ไม่ได้ไกลจากตัวเรา เพียงแต่การบริหารจัดการยังไม่ได้มาตรฐาน หากปล่อยให้ปัญหาลุกลามบานปลายจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของไทยทั้ง อ้อย เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง ปลา และสื่อลามก ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็กแม้ว่ากระทรวงแรงงานของไทยใช้ความพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่ถูกสหรัฐจับตามองว่ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ปลดล็อคสินค้า 5 รายการที่ระบุว่ามีการใช้แรงงงานเด็กเช่นเดียวกัน การดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อหวังว่าไทยจะได้ปรับลดระดับจาก Tier 2 ลงได้ในเร็ววัน