- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Tuesday, 17 March 2015 22:00
- Hits: 5498
ไทยโชว์แก้ค้ามนุษย์ ลุ้นพ้นบ่วง 'ทิปรีพอร์ต-ไอยูยู'
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่าภาคเอกชนของไทยร่วมมือกับภาครัฐ 8 กระทรวง นำโดยกระทรวงการต่างประเทศ จัดเดินสายชี้แจงข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ ของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
เป็นความพยามเพื่อให้ไทยได้รับการปรับอันดับให้ดีขึ้นในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ หรือ "ทิปรีพอร์ต" ควบคู่กับการทำให้ไทยไม่ต้องถูกใบเหลืองในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงาน การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ'ไอยูยู' ของสหภาพยุโรป หรืออียู ไปพร้อมๆ กัน
ปัจจุบันอียูมุ่งเน้นต่อต้านการทำประมงแบบ'ไอยูยู'โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับระงับการค้าที่มีลักษณะไม่เป็นธรรมจากแหล่งผลิตที่ผิดกฎหมาย จึงออกกฎหมายต้อต่านการทำประมงแบบ ไอยูยู โดยใช้บังคับกับสินค้าทะเลที่วางจำหน่ายในอียูทั้งหมด
แม้ปัจจุบันไทยยังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้ ใบเหลืองหรือ'ใบแดงจากอียูในเรื่องไอยูยูแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ผู้เชี่ยวชาญจากอียูเดินทางมาประเทศไทยเพื่อประเมินและหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูในเรื่องการต่อต้านการประมงไอยูยู
ทั้งนี้ อียูเห็นว่าไทยควรต้องพัฒนาระบบควบคุมการทำประมงแบบ'ไอยูยู'ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งด้านกฎหมายและการดำเนินมาตรการบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น เนื่องจากทราบว่าฝ่ายไทยมีแผนจะดำเนินการ แต่ยังไม่ปรากฏผลชัดเจนที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร อาทิ การขึ้นทะเบียนเรือประมงนอกน่านน้ำและห้ามใช้อุปกรณ์การจับสัตว์น้ำที่ทำลายสิ่งแวดล้อม กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศต้นทางและเอกสารรับรอง (Catch Certificate)
ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่อียูจะประกาศเตือน หรือให้'ใบเหลือง'แก่ไทย ซึ่งตามขั้นตอนแล้วอียูจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 6 เดือนนับจากปัจจุบัน แต่หากไทยสามารถดำเนินการแก้ปัญหาให้มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมได้ในห้วงเวลาดังกล่าว ก็อาจโน้มน้าวให้อียูไม่แจก "ใบเหลือง" กับไทยได้
จะเห็นว่าปัจจุบันนอกจากปัญหาเรื่องเรื่องทิปรีพอร์ตแล้วไอยูยูก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยกำลังเผชิญ เพราะหากไม่เร่งแก้ไขจนต้องได้ ใบแดงจากอียูเมื่อใด นั่นหมายความว่าสินค้าประมงไทยจะถูกห้ามขายในอียูทันที
'ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้รับหน้าที่ในการชี้แจงผลการดำเนินงานเรื่องค้ามนุษย์ของไทยกับประเทศต่างๆ รวมถึงในเวทีระหว่างประเทศ ขยายความให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศนำโดยนายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เพิ่งจะนำคณะที่ประกอบด้วยภาคเอกชนไทยและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ไปเข้าร่วมเวทีสัมมนาที่จัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อชี้แจงถึงพัฒนาการและความพยายามด้านต่างๆ ของรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ที่สำคัญคือ การไปให้ข้อมูลกับ'อีจีเอฟ'องค์กรเอกชนที่คอยให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อจัดทำทิปรีพอร์ตที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไทยว่าไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และไม่สมควรได้รับการปรับอันดับให้ดีขึ้นในปีนี้
'ดอน'ระบุว่า การเขียนรายงานเช่นนั้นเกิดขึ้นก่อนที่ "อีจีเอฟ" จะได้รับรายงานพัฒนาการล่าสุดของความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยฉบับเดียวกับที่ไทยส่งไปให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา จึงทำให้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อมูลใหม่ทั้งหมดแล้ว
ข้อมูลใหม่ที่ว่าคือ การสังคายนาสิ่งที่ไม่เคยทำในอดีต ไล่เรียงไปตั้งแต่การแก้ไขกฎกระทรวงแรงงาน กำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานในภาคประมงที่ไม่ต่ำกว่า 18 ปี และภาคเกษตร 15 ปี โดยต้องเป็นงานที่มีสัญญาจ้างและแรงงานต้องได้รับสิทธิในการหยุดพักที่เหมาะสม
รวมทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่จะยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดและนำทรัพย์ที่ยึดมาได้มาใช้ในการเยียวยาเหยื่อของการค้ามนุษย์ ไปจนถึงการออก พ.ร.บ.ใหม่ที่ควบคุมเรือประมง
นอกจากนี้ ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมยังเพิ่มงบประมาณให้อีกเกือบเท่าตัวเพื่อดำเนินการในการพิจารณาคดีกับผู้ทำผิดในเรื่องการค้ามนุษย์ โดยศาลตั้งฝ่ายพิจารณาคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะอีกด้วย
สำหรับ ปัญหาที่ไทยมักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอคือการเอาผิดกับผู้กระทำผิดในคดีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนใหญ่มักจะเป็นปลาซิวปลาสร้อยมากกว่าตัวการใหญ่ แม้ว่าปัจจุบันยอดการจับกุมผู้กระทำความผิดจะมีแนวโน้มลดลง แต่'ดอน'ระบุว่า อยากให้มองในทางกลับกัน ว่าเหตุที่ตัวเลขการจับกุมผู้กระทำความผิดลดลงเป็นผลจากการที่รัฐบาลดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหานี้ที่ได้รับความสำคัญ ถึงขนาดที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติกันเลยทีเดียว
ภายในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ไทยยังต้องส่งรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้กับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้แจ้งความคืบหน้าของงานต่างๆ ตามเป้าหมายและมาตรการที่ได้เคยแจ้งไปก่อนหน้านี้
'ดอน'ชี้ว่า เป็นขั้นตอนปกติที่สหรัฐเปิดให้ประเทศต่างๆ ยื่นรายงานความคืบหน้าล่าสุดประกอบการพิจารณา ถือเป็นโอกาสสุดท้ายในการยื่นข้อมูลการดำเนินการให้ฝ่ายสหรัฐรับทราบ ก่อนที่จะมีการประกาศผล'ทิปรีพอร์ต' ในราวเดือนมิถุนายนปีนี้
นอกจากการเดินสายชี้แจงตามเวทีต่างๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวยแล้ว'ดอน'ยังเผยว่า ขณะนี้กำลังหารือกันว่าในช่วงใกล้การประกาศผล อาจนำคณะจากไทยไปสหรัฐอเมริกาเพราะเห็นว่าไทยไม่ควรทำแค่ส่งรายงาน แต่ต้องไปบอกกล่าวพูดคุยกับฝ่ายสหรัฐด้วย โดยจะใช้ช่วงเวลานับจากนี้ไปจนถึงก่อนที่ฝ่ายสหรัฐจะประกาศผลให้เป็นประโยชน์ที่สุด
'ดอน''สรุปว่า โดยเนื้อแท้ปัญหาค้ามนุษย์ก็คือการค้าทาส ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องต่อต้านและหยุดยั้งให้ได้ ไม่ใช่เพราะเพื่อการปรับอันดับของไทยใน "ทิปรีพอร์ต" แต่เพื่อความถูกต้องและทุกภาคส่วนควรต้องร่วมมือกัน
วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558