- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 08 March 2015 22:42
- Hits: 4182
'ปรับปรุงให้ดีขึ้น' หรือ'แย่ลงกว่าเดิม'กับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ....ฉบับ สนช.
ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานเพื่อจะได้มีหลักประกันทางสังคมที่ดี มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกทั้งเต็มไปด้วยขวากหนามระหว่างทางเดินเสมอมา รูปธรรมที่เห็นได้ชัด สมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 21 มีนาคม 2556 ปฏิเสธไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่เป็นผลมาจากเสนอกฎหมายโดยตรงของผู้ใช้แรงงาน นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านส่วนใหญ่ก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยแทบทั้งนั้น
หลังจากนั้นความพยายามของผู้ใช้แรงงานไม่ได้ถดถอย นับตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา พวกเขาและเธอต่างรวมตัวกันอีกครั้งในนามของ “เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร”[1] นำเสนอหลักการ 4 ประการ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานให้ถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรม ประกอบด้วย (1) หลักความครอบคลุมผู้ทำงานทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (2) หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ และยึดหลักธรรมาภิบาล โดยต้องบูรณาการเพื่อประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการที่เชื่อมโยง (3) หลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ (4) หลักความยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสามารถออกแบบและปรับปรุงกองทุนให้เหมาะสม
ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อกันยายน 2557 มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาเป็นระยะๆจากกระทรวงแรงงาน ว่ากำลังเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับแก้ไขเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากเป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับที่ สนช. เร่งรัดให้เกิดขึ้น
แต่นั้นเองผู้ใช้แรงงานในฐานะเจ้าของเงินที่ต้องส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมทุกเดือน กลับไม่มีโอกาสได้เห็นร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ก่อน นอกจากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวง และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นระยะๆ จวบจนมาถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…..ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้นำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อ 21 ตุลาคม 2557 ซึ่งก็พบว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน โดยเฉพาะการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่ยังไม่มีความเป็นอิสระ ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และรวมถึงความไม่ครอบคลุมทั่วถึงในการคุ้มครองแรงงานทุกคน
แม้เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร จะมีการยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 เพื่อขอให้ชะลอการนำร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาของสนช. และเสนอให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านก่อน แต่ก็มิได้มีผลเปลี่ยนแปลงความเร่งด่วนนี้แต่อย่างใด
เพราะรุ่งขึ้น 31 ตุลาคม 2557 หรืออีก 10 วันต่อมาจากวันที่ครม.เห็นชอบ สนช. ได้มีมติวาระ1 รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....จำนวน 18 คน ได้แก่
(1) พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร และทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ
(2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษธำรง ทัศนาญชลี
(3) พลเอกมารุต ปัชโชตะสิงห์
(4) นายสุรเดช วลีอิทธิกุล
(5) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
(6) นายชูศักดิ์ จันทยานนท์
(7) นายมนัส โกศล
(8) พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ
(9) นายเจตน์ ศิรธรานนท์
(10) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
(11) นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
(12) นายโกวิท สัจจวิเศษ
(13) นายประเวศ อรรถศุภผล
(14) นายศุภชีพ ดิษเทศ
(15) นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล
(16) นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา
(17) นายอนุชา รัตนสินธุ์
(18) นางสาวอรุณี ศรีโต
โดยคณะกรรมาธิการฯมีการประชุมมาแล้วรวม 10 ครั้ง คือ วันที่ 7, 10, 17, 24 พฤศจิกายน วันที่ 1, 8, 15, 22 ธันวาคม 2557 วันที่ 5 และ 12 มกราคม 2558 และจะมีการประชุมอีก 2 ครั้งในวันที่ 19 มกราคม 2558 เพื่อให้ผู้ที่เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงในแต่ละมาตราที่ได้ขอแปรญัตติไว้ และในวันที่ 26 มกราคม 2558 จะเป็นการพิจารณาสรุปภาพรวมร่างกฎหมายประกันสังคมทั้งฉบับอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อ สนช. เพื่อนำสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไป
เมื่อมาพิจารณาสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ สนช. รับหลักการวาระ 1 พบว่ามีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 รวม 25 เรื่อง ดังนี้
(1) มีการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ รวมถึงครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้)
(2) แก้ไขคำว่า “ลูกจ้าง” ให้มีความหมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย)
(3) แก้ไขคำว่า “ทุพพลภาพ” ให้หมายถึง การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายเดิมระบุเพียงว่าต้องไม่สามารถทำงานได้เพียงเท่านั้น)
(4) แก้ไขคำว่า “ว่างงาน” ให้จำกัดเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างเท่านั้น (กฎหมายเดิมรวมทุกกรณีที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง)
(5) เพิ่มเติมคำว่า “ภัยพิบัติ” ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น โดยหมายถึงทั้งภัยธรรมชาติและมีผู้ทำให้เกิดขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตการได้รับลดหย่อนการออกเงินสมทบ (กฎหมายเดิมไม่มี)
(6) แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคม ให้ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 6 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้กรรมการต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน (กฎหมายเดิมกำหนดผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 5 คน และไม่ได้ระบุเรื่องที่มาจากการเลือกตั้งไว้ รวมทั้งกรรมการไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน)
(7) แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ โดยเพิ่มเติมเรื่องคณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพิ่มขึ้นมาอีกข้อ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่มีการระบุไว้)
(8) กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นที่ปรึกษาไม่เกิน 7 คน โดยการสรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ในด้านการเงินการคลัง ด้านระบบงานประกันสังคม ด้านการบริหารการลงทุน ด้านบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์ (กฎหมายเดิมกำหนดผู้ทรงวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน และมาจากด้านประกันสังคม แรงงาน การแพทย์ กฎหมาย และอื่นๆ)
(9) แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการการแพทย์ ให้ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 16 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ หรือในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขหรือด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล โดยให้ผู้แทนสำนักงานประกัน สังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดเพียงรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆเท่านั้น)
(10)เพิ่มเติมเรื่องการให้กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการตามหลักสากล มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ(กฎหมาย 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(11)กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ เพื่อประโยชน์ของกองทุนได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(12)ขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน (กฎหมายเดิมกำหนดไว้แค่เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 เท่านั้นที่จะสมัครเข้ามาตรา 40 ได้ และไม่มีการกำหนดอัตราเงินสมทบของรัฐบาลว่าจะต้องสมทบจำนวนเท่าใด)
(13)รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนได้ ในกรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(14)กำหนดการคำนวณเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระเงินสมทบทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของลูกจ้าง โดยกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องจำนวนเงินสมทบสุทธิที่นายจ้างต้องจ่าย)
(15)ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน ไม่เป็นการตัดสิทธิจากกฎหมายอื่นๆที่ต้องได้รับอยู่แล้วด้วย และสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(16)ขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเป็น 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 1 ปี)
(17)แก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ สำหรับการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (กฎหมายเดิมเป็นการนำค่าจ้างสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 9 เดือน มาคำนวณ แต่กฎหมายใหม่แก้ไขจาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน)
(18)ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสหรือบุตรของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือตาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นเรื่องนี้ไว้)
(19)ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย (กฎหมายเดิมไม่มีเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค)
(20)ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และการทุพพลภาพนั้นมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตลอดชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(21)กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ทั้งนี้บุตรดังกล่าวต้องไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น (กฎหมายเดิมระบุว่าต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กฎหมายใหม่ตัดประโยค “ชอบด้วยกฎหมาย” ออกไป)
(22)กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(23)ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(24)ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
(25)ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสียชีวิต มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ระบุเพียงเรื่องทุพพลภาพเท่านั้น)
ทั้งนี้ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณามาแล้วรวม 10 ครั้ง พบว่า มีการแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งแตกต่างจากฉบับที่รับหลักการในวาระ 1 รวม 12 เรื่อง[2] โดยสามารถแสดงเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนได้ในรูปตาราง ดังนี้
ข้อ | สาระสำคัญที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 1 | สาระสำคัญใหม่ที่ถูกแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ |
---|---|---|
(1) |
มีการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ รวมถึงครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้) |
มีการเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม (นอกเหนือจาก 2 กลุ่มตามตารางด้านซ้ายมือ) คือ กลุ่มลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและต้องไปประจำทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศสามารถเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายไทยลูกจ้างจะได้รับมากกว่ากองทุนประกันสังคมจากต่างประเทศ (กฎหมายฉบับ2533 ได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้) |
(2) |
แก้ไขคำว่า “ลูกจ้าง” ให้มีความหมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย) |
ไม่มีการแก้ไข |
(3) |
แก้ไขคำว่า “ทุพพลภาพ” ให้หมายถึง การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายเดิมระบุเพียงว่าต้องไม่สามารถทำงานได้เพียงเท่านั้น) |
ไม่มีการแก้ไข |
(4) |
แก้ไขคำว่า “ว่างงาน” ให้จำกัดเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างเท่านั้น (กฎหมายเดิมรวมทุกกรณีที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง) |
แก้ไขนิยามคำว่า “ว่างงาน” โดยแก้ไขใหม่เป็นว่า เพราะเหตุลูกจ้างถูกเลิกจ้าง หรือเหตุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เหตุผลที่แก้ไข คือ ถ้าบัญญัติเฉพาะกรณีเลิกจ้างเพียงประการเดียว จะเป็นการลอนสิทธิที่มีอยู่เดิมของลูกจ้าง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกัน ตน จึงเพิ่มเติมถ้อยคำนี้เข้ามาและให้กำหนดเป็นกฎกระทรวงต่อไป |
(5) |
เพิ่มเติมคำว่า “ภัยพิบัติ” ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น โดยหมายถึงทั้งภัยธรรมชาติและมีผู้ทำให้เกิดขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตการได้รับลดหย่อนการออกเงินสมทบ (กฎหมายเดิมไม่มี) |
ไม่มีการแก้ไข |
(6) |
แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคม ให้ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 6 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้กรรมการต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน (กฎหมายเดิมกำหนดผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 5 คน และไม่ได้ระบุเรื่องที่มาจากการเลือกตั้งไว้ รวมทั้งกรรมการไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน) |
องค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคม ให้เพิ่มเติมผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาอีก 1 ตำแหน่งจากองค์ประกอบเดิมที่ระบุไว้แล้ว เพราะเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบในการส่งเสริมดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ และสำหรับในส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เพิ่มเป็นฝ่ายละ 7 คน(เนื่องจากมีการเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเป็น 7 คน ทำให้ต้องเพิ่มตัวแทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเข้าไปด้วย) อีกทั้งผู้แทนทั้ง 2 กลุ่มนี้ที่มาจากการเลือกตั้งให้คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนร่วมด้วย |
(7) |
แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ โดยเพิ่มเติมเรื่องคณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพิ่มขึ้นมาอีกข้อ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่มีการระบุไว้) |
การพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ แก้ไขใหม่เป็น ด้วยคะแนนเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งของกรรมการที่มีอยู่ ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด |
(8) |
กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นที่ปรึกษาไม่เกิน 7 คน โดยการสรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ในด้านการเงินการคลัง ด้านระบบงานประกันสังคม ด้านการบริหารการลงทุน ด้านบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์(กฎหมายเดิมกำหนดผู้ทรงวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน และมาจากด้านประกันสังคม แรงงาน การแพทย์ กฎหมาย และอื่นๆ) |
ไม่มีการแก้ไข |
(9) |
แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการการแพทย์ ให้ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 16 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ หรือในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขหรือด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล โดยให้ผู้แทนสำนักงานประกัน สังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดเพียงรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆเท่านั้น) |
คณะกรรมการการแพทย์ให้แต่งตั้งผ่านวิธีการสรรหา เพื่อไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และให้เพิ่มผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 1 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการการแพทย์ด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นมิติทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนในรายละเอียดเชิงลึกแก่คณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้) |
(10) |
เพิ่มเติมข้อความเรื่อง กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการตามหลักสากล มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ (กฎหมาย 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
มีการแก้ไขถ้อยคำใหม่เป็น กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กองทุนตามมาตรฐานการบัญชี มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ ทั้งนี้ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสได้มาตรฐาน และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด |
(11) |
กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ เพื่อประโยชน์ของกองทุนได้(กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
ไม่มีการแก้ไข |
(12) |
ขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน (กฎหมายเดิมกำหนดไว้แค่เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 เท่านั้นที่จะสมัครเข้ามาตรา 40 ได้ และไม่มีการกำหนดอัตราเงินสมทบของรัฐบาลว่าจะต้องสมทบจำนวนเท่าใด) |
แก้ไขเฉพาะในเรื่อง การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน |
(13) |
รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกัน ตนได้ ในกรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
ไม่มีการแก้ไข |
(14) |
กำหนดการคำนวณเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระเงินสมทบทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของลูกจ้าง โดยกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย(กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องจำนวนเงินสมทบสุทธิที่นายจ้างต้องจ่าย) |
ไม่มีการแก้ไข |
(15) |
ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน ไม่เป็นการตัดสิทธิจากกฎหมายอื่นๆที่ต้องได้รับอยู่แล้วด้วย และสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
ไม่มีการแก้ไข |
(16) |
ขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเป็น 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 1 ปี) |
ไม่มีการแก้ไข |
(17) |
แก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ สำหรับการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยแก้ไขใหม่จาก 9 เดือนเป็น 15 เดือน(กฎหมายเดิมเป็นการนำค่าจ้างสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 9 เดือน มาคำนวณ) |
ไม่มีการแก้ไข |
(18) |
ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสหรือบุตรของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือตาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(กฎหมายเดิมได้ยกเว้นเรื่องนี้ไว้) |
ไม่มีการแก้ไข |
(19) |
ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย (กฎหมายเดิมไม่มีเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค) |
ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ในส่วนค่าบำบัดทางการแพทย์ ให้เพิ่มค่าฟื้นฟูสมรรถภาพเข้ามาด้วย รวมทั้งให้เพิ่มเรื่อง ค่าใช้จ่ายเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว ให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้ เหตุผลเพื่อไม่ต้องรอการพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้ถูกหรือผิด (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้) มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมให้สามารถใช้สิทธิในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ |
(20) |
สิทธิประโยชน์ในกรณีคลอดบุตร กฎหมายฉบับ พ.ศ. 2533 ระบุไว้ว่าผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน หมายเหตุ : มาตรานี้คงไว้ตามกฎหมายเดิม ฉบับที่เข้า สนช. ไม่มีการแก้ไขใหม่ แต่คณะกรรมาธิการฯขอแก้ไขเอง |
ขอแก้ไขใหม่เป็น จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 5 เดือน รวมทั้งให้ตัดประโยชน์ทดแทนที่กำหนดไว้ว่าคลอดบุตรได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้นออก (เนื่องจากประชากรของประเทศลดลงอย่างมาก และขาดแคลนวัยแรงงาน จึงไม่ควรกำหนดจำนวนบุตรไว้) |
(21) |
ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และการทุพพลภาพนั้นมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตลอดชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
ไม่มีการแก้ไข |
(22) |
กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ทั้งนี้บุตรดังกล่าวต้องไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น (กฎหมายเดิมระบุว่าต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กฎหมายใหม่ตัดประโยค “ชอบด้วยกฎหมาย” ออกไป) |
ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร จำนวนคราละไม่เกิน 2 คน ขอแก้ไขใหม่เป็น 3 คน(เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนมีบุตรเพิ่มขึ้น) |
(23) |
กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย(กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
ขอตัดถ้อยคำที่ว่า “กรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย” ออกไป โดยเห็นว่ามีความแตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ ซึ่งจะขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปี |
(24) |
ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ ให้มีสถานะเป็น “ทายาท” เหมือนกับทายาทผู้มีสิทธิ ซึ่งได้แก่ บุตร สามีหรือภรรยา บิดาและมารดา โดยให้ได้รับ 1 ส่วน (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้) |
(25) |
ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
ไม่มีการแก้ไข |
(26) |
ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสียชีวิต มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ระบุเพียงเรื่องทุพพลภาพเท่านั้น) |
ไม่มีการแก้ไข |
อย่างไรก็ตามทั้ง 12 เรื่องนี้ เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการฯเท่านั้น ซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติ อีกทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเองก็ยังเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง และจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระ 2 และ 3 เพื่อพิจารณา ซึ่งแน่นอนย่อมมีการปรับแก้ไขต่อไป
ถ้าถามว่า “มีอะไรใหม่บ้าง” ในร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกเหนือจากในเรื่องของประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตน ทั้งการขยายความคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น ได้แก่ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ, คนทำงานบ้านที่มิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย, กลุ่มลูกจ้างที่ไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงในกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆที่นอกเหนือจากที่กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้ กับการเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดหรือยกเลิกเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิแก่ผู้ประกันหรือผู้มีสิทธิเท่านั้น นอกนั้นแล้วก็เป็นเพียงการปรับปรุงองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษา กรรมการการแพทย์ การเพิ่มเติมกรรมการตรวจสอบ และกำหนดบทบัญญัติในการลดหย่อนเงินสมทบในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลดรายจ่ายให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน
พบว่า มี 4 เรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งและควรพึงพิจารณาต่อในเชิงรายละเอียด ได้แก่
(1) การเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบเข้ามาอีกคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารกองทุนให้เกิดความโปร่งใส แต่ทั้งนี้การได้มาของคณะกรรมการนั้นก็ยังคงเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด
(2) ผู้แทนที่มาจากฝ่ายลูกจ้างกับฝ่ายนายจ้างให้มาจากการเลือกตั้ง โดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้แทนทั้ง 2 กลุ่มร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ระเบียบการได้มาก็เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด
(3) กรณีของเงินสมทบของผู้ประกันตนในมาตรา 40 ที่ผ่านมานั้น เครือข่ายแรงงานนอกระบบได้มีการเรียกร้องเสมอมา ให้มีการปรับแก้ไขอัตราเงินสมทบของรัฐให้ได้สัดส่วนที่เป็นธรรมกับที่ผู้ประกันตนสมทบ แต่ทุกครั้งของการพิจารณาในรัฐสภายามที่มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม กลับไม่สามารถผลักดันประเด็นนี้ได้เลย และนี้อาจเป็นครั้งแรกที่มีการแก้ไขให้อัตราเงินสมทบของมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
(4) ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ซึ่งในกฎหมายเดิมฉบับปี 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ และส่งผลต่อผู้ประกันตนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานในระบบที่นายจ้างประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554 และต้องปิดโรงงาน หรือกรณีในกลุ่มลูกจ้างที่นัดหยุดงานหรือถูกปิดงานจากนายจ้างอันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ต้องหยุดงานเป็นเวลานานและไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นผู้ว่างงาน แต่กลับไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวนี้
แต่กลับเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติแล้ว แม้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน นักวิชาการ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGos) ได้มีงานศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการจ้างงานในประเทศไทยเพียง 4 ปี และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ขาดโอกาสในการเข้าถึงประโยชน์ทดแทนชราภาพ
โดยได้กำหนดไว้ในมาตรา 77 ทวิ ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 และ 41 ให้ผู้นั้นได้รับเงินบำเหน็จ” เนื่องจากต้องรอให้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อน จึงจะสามารถรับเงินสะสมดังกล่าวนั้นได้
สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำมาสู่การแก้ไขในฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในครั้งนี้ แต่กลับพบว่านายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอตัดถ้อยคำที่ว่า “กรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย” ออกไป โดยเห็นว่ามีความแตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ ซึ่งจะขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปี
กล่าวได้ว่านี้จึงเป็นหลักการที่ขัดแย้งกับเรื่อง “คนทำงานทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยที่มีรายได้ ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีหลักประกันสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ทั้งนี้เงื่อนไขในการเกิดสิทธิควรมีความแตกต่างกันตามความเหมาะสม กับเงื่อนไขการจ้างงานและการมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยระหว่างการจ้างงานจนสิ้นสุดการจ้างงาน” เป็นสำคัญ
และนี้เป็นเรื่องที่จักต้องหาทางออก เพื่อสร้างความสมดุลและความเป็นธรรมให้กับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติให้สามารถเข้าถึงประโยชน์ทดแทนบำนาญชราภาพได้ต่อไป
นอกจากนั้นแล้วมีความจำเป็นต้องตระหนักอย่างยิ่งยวดด้วยว่า แท้จริงแล้วปัญหาสำคัญของกองทุนประกันสังคม คือ การบริหารจัดการโดยภาคราชการที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง ไม่มีการกระจายอำนาจตามหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่ยังขาดความเป็นมืออาชีพ แม้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเข้ามาอีกคณะหนึ่งแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นหลักประกันที่จะแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งก็ยังไม่มีคณะกรรมการการลงทุนที่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
นี้ยังไม่ต้องพูดถึงความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคมที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ที่พร้อมจะเข้ามา “ล้วงลูกและครอบงำการบริหารงานผ่านประธานกรรมการประกันสังคมได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ยังคงเป็นปลัดกระทรวงแรงงานอยู่เหมือนเดิม” ซึ่งประเด็นต่างๆที่เป็น “หัวใจสำคัญ” นี้ กลับไม่ถูกหยิกยกมากล่าวถึงและได้รับความสำคัญในการพิจารณายุค สนช. แม้แต่น้อย
ท้ายที่สุดผู้ใช้แรงงานมีอะไรเป็นทางเลือกได้บ้างในยุคที่ประเทศไทยยังคงใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ2557 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ “ผู้ใช้แรงงาน” ต้องร่วมกันแสวงหามาตรการต่างๆ เพื่อแสดงให้บุคคลต่างๆที่มาทำหน้าที่ในรัฐสภาในนามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พึงตระหนักว่าสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2540 จนมาถึง 2550 ที่มุ่งหมายให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และให้ความสำคัญจนกำหนดเป็นหมวดว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเป็นช่องทางหรือประตูสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ด้วยตนเอง เพื่อยืนยันการเข้าถึงสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชนที่ต้องสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่มาจาก “สนช. สปช. ประทาน” เพียงเท่านั้น
[1] เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร ประกอบด้วย 1. สภาแรงงานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย 2. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 3. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ 4. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ 5. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 6. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 7. มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน 8. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9. มูลนิธิเพื่อนหญิง 10. สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 11. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 12. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย 13. มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 14. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
[2] ผู้เขียนสรุปประเด็นทั้ง 12 เรื่อง จากการอ่านเอกสารสรุปการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....รวม 10 ครั้งที่ผ่านมา เป็นสำคัญ