WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แจงแรงงานไทย อิสราเอลใช้มาตรการหักค่าจ้าง-ภาษีระบบใหม่

          
1. ตามกฎหมายแรงงานของอิสราเอล นายจ้างมีสิทธิ์หักค่าจ้างรายเดือนที่คนงานได้รับเป็นค่าที่พัก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 แรงงานต้องจ่ายค่าที่พักเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม ดังนี้
 
เขต เยรูซาเลม (Jerusalem) 393.68 เชคเกล (จากเดิมปี 2557 จำนวน 386.92 เชคเกล)
 
เขตเทลอาวีฟ (Tel Aviv) 447.99 เชคเกล (จากเดิมปี 2557 จำนวน 440.30 เชคเกล)
 
เขตไฮฟา (Haifa) และภาคกลาง 298.69 เชคเกล (จากเดิมปี 2557 จำนวน 293.56 เชคเกล)
 
เขตภาคใต้ 265.52 เชคเกล (จากเดิมปี 2557 จำนวน 260.96 เชคเกล)
 
เขตภาคเหนือ 244.31 เชคเกล (จากเดิมปี 2557 จำนวน 240.12 เชคเกล)
 
และหักค่าไฟฟ้าและน้ำประปาสูงสุดเดือนละ 92.27 เชคเกล (ซึ่งอัตราลดลงจากเดิมปี 2557 จำนวน 92.36 เชคเกล) และค่าประกันสุขภาพ คุ้มครองกรณีแรงงานเจ็บป่วยทั่วไป นายจ้างหักจากค่าจ้างไม่เกิน 124.73 เชคเกล (จากเดิมปี 2557 จำนวน 122.39 เชคเกล)
 
2. กระทรวงการคลังอิสราเอลปรับปรุงกฎหมายการจัดเก็บภาษีรายได้ใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการได้รับเครดิตลดภาษีต่อเดือนสำหรับแรงงานต่างชาติ ซึ่งเดิมเครดิตภาษีดังกล่าวแรงงานนำไปหักลดภาษีรายได้ต่อเดือนที่ต้องเสียให้แก่รัฐบาลอิสราเอลได้ แต่การจัดเก็บภาษีใหม่จะทำให้แรงงานต่างชาติรวมถึงแรงงานไทยไม่ได้รับเครดิตภาษีอีกต่อไป และนายจ้างจะหักค่าจ้างคนงานเพื่อจ่ายภาษีรายได้ กล่าวคือ แรงงานต่างชาติที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 4,300 เชคเกล จะต้องจ่ายภาษีรายได้ประมาณร้อยละ 10 ของรายได้หรือประมาณ 430 เชคเกลต่อเดือน (ซึ่งเดิมแรงงานชายเคยได้รับยกเว้นเครดิตให้ลดภาษี 2.25 เครดิตต่อเดือนหรือประมาณ 490 เชคเกล และแรงงานหญิงเคยได้รับยกเว้นเครดิตให้ลดภาษี 2.5 ต่อเดือนหรือประมาณ 545 เชคเกล) อย่างไรก็ตาม แรงงานเกษตรที่ทำงานล่วงเวลาและได้ค่าจ้างมากกว่า 5,000 เชคเกล จะถูกหักภาษีตามอัตราที่รัฐบาลอิสราเอลกำหนด ทั้งนี้ ตามกฎหมายแรงงาน นายจ้างมีสิทธิ์หักค่าจ้างเป็นค่าภาษี ค่าประกัน ค่าที่พัก ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินเดือนของลูกจ้าง
 
3. ฝ่ายแรงงานฯ ขอเรียนว่า ขณะนี้สหภาพแรงงานฮิสตาดรุท (Histradrut) และสมาคมเกษตรกรนายจ้าง กำลังยื่นฟ้องศาลเพื่อคัดค้านกฎหมายการเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในการพิจารณาของศาล
 
4. ขณะที่กฎหมายการเก็บภาษีเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 แล้ว ฝ่ายแรงงานฯ จึงขอให้แรงงานตรวจสอบค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ซึ่งนายจ้างจะจ่ายให้ประมาณวันที่ 9 ของเดือนถัดไป หากพบว่ามีการหักค่าจ้างมากขึ้นกว่าปกติหรือสงสัยการคำนวณการจ่ายค่าจ้าง ขอให้ติดต่อสอบถามไปยังฝ่ายแรงงานฯ เพื่อจะได้สอบถามข้อเท็จจริงจากนายจ้างหรือบริษัทจัดหางาน โดยหากนายจ้างให้ใบจ่ายค่าจ้างหรือสลิปเงินเดือน ขอให้กรุณาส่งไปเป็นหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงด้วย โดยโทรศัพท์ติดต่อ 09 – 9548431 - 3 และอีเมล์ไปยัง [email protected] และกรณีนายจ้างไม่ให้สลิปเงินเดือนก็ขอให้แจ้งข้อมูลให้ฝ่ายแรงงานฯ ทราบด้วย
 
      อนึ่งข้อมูลจากปี 22557 พบว่ามีแรงงานไทยในอิสราเอลอยู่ประมาณ 27,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานภาคการเกษตรอยู่ในชุมชนโมชาฟและชุมชนคิบบุตส์ (หมู่บ้านหรือชุมชนที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์การเกษตร) และเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ เปิดเผยรายงานว่า แรงงานไทยในอิสราเอลพบกับการละเมิดสิทธิด้านแรงงานอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการได้ค่าแรงต่ำ ขณะที่ต้องทำงานนานหลายชั่วโมง และมีสภาพการทำงานที่อันตราย ส่งผลให้แรงงานไทยเสียชีวิตไปหลายราย โดยระหว่างปี 2551-2556 แรงงานไทยจำนวน 122 คนได้เสียชีวิตในอิสราเอล โดย 65 คนตายจากโรคหัวใจ ขณะที่ 22 คนตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!