- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Saturday, 03 February 2024 09:03
- Hits: 6385
กกจ. เปิดเว็บฯ อำนวยความสะดวก ต่อทะเบียนต่างด้าวก่อนพ้น 13 ก.พ. 67
นับถอยหลังไม่ถึงครึ่งเดือน แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ ประกอบด้วย ลาว กัมพูชา เมียนมา และ เวียดนาม กว่า 1 ล้านคน ใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยก็จะหมดอายุลงพร้อมกันในวันที่ 13 ก.พ. 2567
อย่างไรก็ตาม นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 ใจดีมีมติให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถไปยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ (บต. 50 อ. 5) ก่อนใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุในวันที่ 13 ก.พ. 67 นี้
โดยให้นายจ้างดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ซึ่งจะมีขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้ ประกอบด้วย สำเนาหนังสือเดินทาง และสำเนาหลักฐานการตรวจลงตราวีซ่า ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ไม่น้อยกว่าวันที่ 13 ก.พ. 2567 รูปถ่าย ขนาด 3x4 เซนติเมตร หนังสือรับรองการจ้าง (แบบ บต. 46) และ หนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคล (กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล)
ทั้งนี้ สามารถยื่นเรื่องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ ฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 900 บาท ภายในวันที่ 13 ก.พ.67 นี้
“เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบคำขอต่ออายุใบอนุญาตฯ เอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนจะต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 ซึ่งคนต่างด้าวจะได้รับทะเบียนใบอนุญาตทำงานไว้ใช้เป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน”
หลังจากดำเนินการครบถ้วนแล้ว ให้ยื่นหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ (Visa) ไม่น้อยกว่าวันที่ 13 ก.พ. 2568 และหลักฐานการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน หรือการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข แล้วแต่กรณีต่อกรมการจัดหางาน
แต่หากติดปัญหาไม่สามารถยื่นเรื่องผ่านเว็บฯ ได้ ก็สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
“เวลาอีกไม่กี่วัน ก็จะครบกำหนด หากยังไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน หลังจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 จะถือว่าเป็นแรงงานลักลอบทำงานในไทยโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว จะมีความผิดตามกฎหมาย”
นายสมชาย อธิบายว่า กรณีนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี
ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท ถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี