- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Monday, 17 July 2023 08:59
- Hits: 3421
บุญสงค์ เลขาธิการ สปส. มอบ รองเลขาธิการ เยี่ยมผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บ เหตุสะพานก่อสร้างย่านลาดกระบังทรุดตัวถล่ม
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม มอบหมายให้ นางมารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วย นายสราวุธ สุขสวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 นางสาวพรรษชล พุ่มม่วง หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ร่วมเดินทางไปเยี่ยมผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สะพานข้ามแยกอ่อนนุช – ลาดกระบัง ทรุดตัวถล่ม
นางมารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้แสดงความเสียใจ และมีความห่วงใยจากเหตุการณ์สะพานข้ามแยก อ่อนนุช – ลาดกระบัง ทรุดตัวถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พร้อมกำชับให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บ และทายาทผู้เสียชีวิต ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน
ในวันนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้ดิฉัน พร้อมนายสราวุธ สุขสวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 นางสาวพรรษชล พุ่มม่วง หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี และคณะ เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งยังคงพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
รายที่ 1 ชื่อ นางสาวอุไรวรรณ วะเรืองรัมย์ อายุ 38 ปี ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีอาการบาดเจ็บ ปวดหลัง ปวดไหล่ขวา ใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนเป็นการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ค่าทดแทนการหยุดงาน ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ตามความเห็นแพทย์ผู้รักษาแต่ต้องไม่เกิน 1 ปี
รายที่ 2 ชื่อ นางสาวรัชนี นาคทรงแก้ว อายุ 48 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ขณะเกิดเหตุกำลังขี่รถจักรยานยนต์อยู่บนถนนทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ไหล่ซ้าย ฟันหัก ปวดเข่าขวา ใช้สิทธิกองทุนประกันสังคม ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะรับผิดชอบค่าบริการทางการแพทย์ภายใน 72 ชั่วโมง และส่งตัวเข้ารับการรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิ ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยคิดจากฐานค่าจ้าง 4,800 บาท
นางมารศรี รองเลขาธิการ สปส. กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย คือ นายอรัญ สังขรักษ์ และนายฉัตรชัย ประเสริฐ จากการตรวจสอบข้อมูลเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ทายาทของผู้เสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ดังนี้ นายอรัญ สังขรักษ์ ทายาทมีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท
ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน 770,952 บาท รวมเป็นเงิน จำนวน 820,952 บาท ส่วนนายฉัตรชัย ประเสริฐ ทายาทมีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต ร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินจำนวน 1,680,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 89,190 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,819,190 บาท
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 ได้ประสานทายาทเพื่อดำเนินการสั่งจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิต่อไป ดิฉันขอย้ำว่า กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตน รวมทั้งทายาทของผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และกองทุน เงินทดแทน อย่างครบถ้วน ทันท่วงที