- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Saturday, 11 February 2023 14:57
- Hits: 1437
กรมพัฒน์ เดินหน้าแก้ปมขาดแคลนแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ ระดมทีมทั่วประเทศ
นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการพัฒนาทักษะกำลังแรงงานด้านท่องเที่ยวและบริการ เพื่อชี้แจงและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยง ตามแนวทางที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ณ สีดารีสอร์ท จังหวัดนครนายก
โดยนางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ต้องการเน้นย้ำถึงการเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก การผลิตแรงงานให้มีทักษะ ความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของผู้ประกอบกิจการ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพนั้น จะผลิตแต่เพียงภายในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ดังนั้น การพัฒนาทักษะแรงงานในทุกพื้นที่ เพื่อป้อนแรงงานไปสู่จังหวัดที่มีความต้องการจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ในการสัมมนาในครั้งนี้จึงนำผู้บริหารทุกจังหวัดทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกว่า 100 คน ระดมความคิดเห็นนำเสนอการแก้ไขปัญหาและนำแนวทางไปดำเนินการให้สอดรับสถานการณ์ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า ในการพัฒนาศักยภาพแรงงานตามโครงการพัฒนาทักษะกำลังแรงงานด้านท่องเที่ยวและบริการ ในปี 2566 มีเป้าหมายดำเนินการ 4,900 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2,065 คน หลังจากที่รับนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้วยการสำรวจความต้องการแรงงานที่แท้จริงจากผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ ให้แจ้งความประสงค์รับคนเข้าทำงาน
ทั้งตำแหน่งงานและปริมาณที่ต้องการ เพื่อให้หน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งผลิตแรงงานให้ตรงกับตำแหน่งงานที่ว่าง พร้อมกับจัดเวทีคัดเลือกระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ได้พูดคุยสัมภาษณ์งานกันโดยตรง
นอกจากนี้ ยังพบว่าแต่ละจังหวัดได้ประสานความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สถาบันการศึกษาภายในจังหวัดที่มีการสอนด้านการท่องเที่ยว โดยนำนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายเข้าฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงการนำนักศึกษาเข้าไปฝึกงานเพื่อฝึกประสบการณ์จริงในสถานประกอบกิจการด้วย
“กรมพัฒนาฝีมือแรงงานแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถให้แก่แรงงาน ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของการผลิตแรงงานคุณภาพ เมื่อพัฒนาให้แรงงานมีความรู้แล้ว ต้องทำให้แรงงานมีงานทำด้วย จึงจะตอบโจทย์ได้ว่า แรงงานมีคุณภาพได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
จึงขอให้เจ้าหน้าที่ของกรมให้ความสำคัญในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน ตั้งแต่การจัดทำหรือคัดเลือกหลักสูตรการฝึกที่ต้องสอดคล้องกับตำแหน่งงาน ไปจนถึงการส่งแรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานหรือมีงานทำ” นางสาวบุปผา กล่าวในท้ายสุด