- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Monday, 15 December 2014 23:27
- Hits: 4301
กรมฯ ฝีมือแรงงานร่วม 4 องค์กรรุกสร้างช่างอาชีพเทียบสากล
บ้านเมือง : ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ลงนามความร่วมมือกับ 4 องค์กร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และหอการค้าไทย-เยอรมัน ทั้งนี้เพื่อร่วมมือกันผลิตกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสาขาอาชีพต่างๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักๆ กำลังขาดแคลนอย่างมากทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยความร่วมมือครั้งนี้จะมีจุดร่วมกัน 4 ด้าน คือ 1.ด้านมาตรฐาน ต้องมีการพัฒนาสมรรถนะให้ได้เทียบเท่ามาตรฐานเยอรมนี ประกอบด้วยด้านหลักสูตร มีการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ให้การรับรองสมรรถนะตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องเช่น การเทียบเคียงหลักสุตรทวิภาคี/การฝึกอาชีพและความถูกต้องจากการนำไปใช้งาน เป็นต้น
2.การประเมินสมรรถนะ มีการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้มีมาตรฐานทั้งทางด้านคุณภาพและการรับรองทักษะจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 3.การพัฒนาด้านการศึกษาและการฝึกอาชีพ เช่นการฝึกอบรมครู ครูฝึกในสถานประกอบกิจการ และพัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาระดับอาชีวะ และ 4.ส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางอาชีพและโครงการพัฒนาในสถานประกอบกิจการ
สำหรับ หอการค้าเยอรมัน-ไทย ซึ่งระบบการศึกษาแบบทวิภาคีในเยอรมันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ามีมาตรฐานที่สุดในระบบที่เรียนรู้ในโรงเรียนและในสถานประกอบการ และขณะนี้ได้นำมาใช้ในประเทศไทยแล้ว โดยบริษัทนายจ้างเยอรมัน เช่น ค่ายรถบีเอ็มดับบลิว เบนซ์ หรือบีกรีม และบ๊อช เป็นต้น ขณะนี้ได้ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาจำนวน 7 แห่ง มีบริษัทที่ไปร่วมแล้วประมาณ 10 บริษัท
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งดูแลภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศภาคอุตสาหกรรมจะมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำได้นั้นก็อยู่ที่แรงงานมีคุณภาพและเพียงต่อกับความต้องการ ทางกรมฯ ได้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการฝึกทักษะฝีมือ
โดยเริ่มอบรมมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ซึ่งจะอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีระยะเวลาการอบรม 2-5 วัน โดยจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้ประกอบการด้านยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จัดอบรมทั้งในสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลระดับกลางและสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ และบางส่วนจะอบรมในสถานประกอบการ เนื่องจากมีอุปกรณ์ในการฝึกครบถ้วน รวมทั้งความร่วมมือในลักษณะของเครือข่ายระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกมีความรู้อย่างรอบด้านจากอุปกรณ์ที่ทันสมัยในสถานประกอบการ
จากการศึกษาแนวทางการพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ พบว่าในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 มีความต้องการแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ จำนวน 63,025 คน ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 200,555 คน สำหรับยอดการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านคัน ต่อปี มีกำลังแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 700,000 คน โดยไทยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2563 จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 3.5 ล้านคัน ทำให้ต้องเพิ่มกำลังแรงงานอีก 200,000 คน
อธิบดีฯ กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการเพื่อผลิตกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ที่ดำเนินการไปแล้วได้แก่ 1.ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน 2.ประกาศเรื่องกำหนดรายการค่าใช้จ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงานและ 3.สิทธิ์ในการขอรับประโยชน์ทางภาษีของสถานประกอบการที่รับนักศึกษาจัดฝึกอบรมหลักสูตรฝีมือแรงงานสาขาต่างๆ เป็นต้น และกำลังจะบรรจุมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาที่ตลาดต้องการอีกด้วย