- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Wednesday, 28 December 2022 18:55
- Hits: 2177
รมว.สุชาติ ส่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เปิดสัมมนาผู้บริหาร สปส. มอบนโยบาย ปี 2566 พลิกโฉมตลาดแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ครั้งที่ 3/2565
โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ให้การต้อนรับ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
นายสุรชัย กล่าวว่า ในวันนี้ผมได้รับมอบหมายจากท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้มาเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์และนโยบายที่รัฐบาลกำหนด เพื่อการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย อันจะส่งผลให้สำนักงานประกันสังคมได้รับความศรัทธา เชื่อมั่นจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไป
และเพื่อให้การขับเคลื่อนงานประกันสังคมมีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม ขอฝากนโยบายการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกครอบครัวประกันสังคม โดยขอใช้แนวทางนโยบายกระทรวงแรงงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 “MOL พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคม คือ พลิกโฉมตลาดแรงงานและสถานประกอบการ
1.ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ของผู้ประกันตนให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ การจัดตั้งสถาบันการแพทย์เพื่อผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิในการเข้าถึงการรักษาโรคเฉพาะทางให้กับผู้ประกันตน การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกันตน ดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี 1.99% ต่อปี และได้มีพิธีลงนามไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
2.เร่งรัดการดูแลแรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุ และแรงงานคนพิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
3.เร่งรัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็น Tier 1 โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงาน ตรวจการทำงาน ของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ตลอดจนสถานประกอบการ กลุ่มเสี่ยงอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
4.บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการให้บริการด้านแรงงาน พัฒนาและปรับปรุง ระบบค่าจ้างและรายได้ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และความปลอดภัยในการทำงาน
5.สื่อสารเชิงรุกด้านแรงงาน เพื่อให้แรงงานรับรู้บริการของกระทรวงแรงงานและสิทธิประโยชน์แรงงาน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคแรงงานอย่างทั่วถึงผ่านระบบดิจิทัล เช่น ข้อกฎหมายด้านแรงงาน กฎหมายด้านประกันสังคม เป็นต้น
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2566 กระทรวงแรงงานยังพลิกโฉมบทบาทกระทรวงแรงงาน โดยเร่งรัดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงการบริหารจัดการรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล พัฒนา ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจสังคมอาทิ ปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม ครอบคลุม 3 ขอ คืนเงินชราภาพ
และพัฒนาบุคลากรกระทรวงแรงงานให้มีสมรรถนะสูงและมีธรรมาภิบาลส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้ครอบคลุม การพัฒนาภาคแรงงานทุกมิติ มุ่งเป้าหมายสร้างกระทรวงแรงงานให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาชุดข้อมูลด้านแรงงานอย่างหลากหลายพร้อมประชาสัมพันธ์ จัดการแถลงข่าวของผู้บริหาร เผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมทุกท่าน มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามภารกิจของสำนักงานประกันสังคม และสัมฤทธิ์ผลตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ทำงานหนัก ทุ่มเท เสียสละ ตลอดระยะ 2 ปี ช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19
สำนักงานประกันสังคม ถือได้ว่า มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดอัตราส่งเงินสมทบ การส่งเงินสมทบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ว่างงาน ตลอดจนสิทธิประโยชน์และการให้บริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19” นายสุรชัยฯ กล่าวในท้ายสุด