- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Tuesday, 04 October 2022 10:41
- Hits: 1382
กสร. ห่วงสถานการณ์น้ำท่วม วอน นายจ้าง ลูกจ้าง จับมือฝ่าวิกฤตร่วมกัน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ห่วงใยสถานการณ์อุทกภัย ขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ร่วมกันแก้ไขปัญหาตามประกาศ เรื่อง ขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ และนำมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัย มาใช้ด้วยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ที่เกิดจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกรรโชกแรง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยต่อลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ออกประกาศ เรื่อง ขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยขอความร่วมมือให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามประกาศ อาทิ 1.กรณีที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเป็นเหตุให้เดินทางไปทำงานไม่ได้ หรือมาทำงานสาย ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงาน
โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง 2.ขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดภัยธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย 3.ขอให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานปฏิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ ในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภยันตราย เป็นต้น
นายนิยมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน พร้อมทั้งนำมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัย 3 ระยะ มาใช้ เพื่อให้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ คลี่คลายและผ่านพ้นไปด้วยดี ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ประสบภัย เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546