- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 11 September 2022 11:10
- Hits: 1352
รมว.เฮ้ง ห่วงใย เพลิงไหม้โกดังสินค้า สั่ง กสร.ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงทันที
รมว.แรงงาน ห่วงใย เหตุเพลิงไหม้โกดังสินค้า 'โกดังซุปเปอร์เจ' ย่านราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ โดยสั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง พร้อมบูรณาการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานเพื่อหาทางช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ทันที
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังสินค้า’โกดังซุปเปอร์เจ’ ที่ตั้งอยู่ใกล้ซอยราษฏร์บูรณะ 15 เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ว่า ทันทีที่ได้รับข่าว ผมต้องขอแสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงเกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินของลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบกิจการ ผมจึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 (สรพ.2) ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 (ศปข.11) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที เบื้องต้นพบว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 21.30 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังซุปเปอร์เจ ตั้งอยู่เลขที่ 135 ถนนราษฎร์บูรณะ แขวงบางประกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ประกอบกิจการ ให้เช่าโกดังสินค้า
โดยสินค้าภายในโกดังมีหลายประเภท ซึ่งที่เกิดเหตุ เป็นโกดังคอนกรีตชั้นเดียว มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5 ไร่ ภายในโกดังไม่มีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยได้รับบาดเจ็บ ขณะปฏิบัติงานทั้งหมด 7 ราย โดยได้นำตัวส่งโรงพยาบาลบางปะกอก 1 เรียบร้อยแล้ว ในวันนี้ (8 กันยายน 2565) พนักงานตรวจความปลอดภัย สรพ.2 ศปข.11 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ผมได้มอบหมายให้ พนักงานตรวจความปลอดภัย สรพ. 2 และ ศปข. 11 ดำเนินการตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการ ซึ่งที่ผ่านมา กสร. ได้ให้ความสำคัญเรื่องอัคคีภัย ภายใต้ SAFE LIFE เพื่อมุ่งหวังลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงาน สร้างการรับรู้มาตรการเชิงป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน
โดยใช้หลัก 3 ต ประกอบด้วย ‘ติดตั้ง’ โดยต้องติดตั้งระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ‘ตรวจสอบ’ หมั่นตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย และเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ ‘เตรียมความพร้อม’ ต้องจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย จัดอบรมการดับเพลิงขั้นต้นให้กับลูกจ้าง และฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟประจำปี
โดยหลัก 3 ต จะช่วยป้องกันและลดการเกิดอัคคีภัย พร้อมทั้งจะช่วยสร้างความปลอดภัยในการทำงาน ลดการประสบอันตรายจากการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผมขอความร่วมมือนายจ้าง และลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 อย่างเคร่งครัด หากนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546