- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Friday, 02 September 2022 09:59
- Hits: 889
'ลุงป้อม'ย้ำรัฐบาลดูแลสิทธิแรงงานนอกระบบเต็มที่ สั่งกระทรวงแรงงาน ผลักดันพ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ครั้งที่1/2565 โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมด้วย ณ ห้องประชุมมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ชั้น 2 และถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบ (ZOOM) มายังห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของแรงงานนอกระบบที่เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ และในปัจจุบันยังมีการจ้างงานรูปแบบใหม่ เช่น การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ยังมีส่วนที่ไม่ครอบคลุมทำให้แรงงานนอกระบบบยังไม่ได้รับสิทธิ การคุ้มครอง และสวัสดิการเท่าที่ควร จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และขอให้ทุกฝ่ายช่วยสนับสนุนด้วยเพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมคุ้มครองนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สำหรับการประชุมในครั้งนี้มีผลการประชุมที่สำคัญ คือ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2566 - 2570 ประกอบด้วย 6 แนวทางหลักที่จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับการพัฒนาทักษะ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ได้รับความคุ้มครองและมีหลักประกันจากการทำงานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบให้เข้มแข็งยิ่งชึ้น
พล.อ.ประวิตร ยังได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงาน นำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2566 - 2570 ไปสู่การปฏิบัติ และรายงานผลให้กระทรวงแรงงานทราบความคืบหน้าทุกเดือน นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงแรงงาน เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้แรงงานนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับภารกิจตามกฎหมาย การพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอ การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกการให้บริการประชาชน และการเร่งรัดประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน และเชิญชวนให้มาขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ เพื่อจะได้มีฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย