- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 10 July 2022 15:34
- Hits: 1864
รมว.สุชาติ กล่าวสุนทรพจน์งาน GrabNEXT มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ งBetterLife for Riders ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า’ในงาน GrabNEXT “ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ โดยมี คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์กรรมการบริหาร แกร็บประเทศไทย ร่วมต้อนรับและกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานถึงบทบาทของแกร็บประเทศไทยในการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ภายใต้การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ ความเท่าเทียมทางดิจิทัล และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ณโรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก,อะ ลักซ์ซูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล ถนนวิทยุ เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร
นายสุชาติ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด- 19 แพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคในช่วงดังกล่าวคือ ธุรกิจรับส่งอาหารหรือพัสดุ เนื่องจากพี่น้องแรงงานบางส่วนไม่นิยมออกนอกสถานที่ในช่วงสถานการณ์โควิด -19 และในบางช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุขของรัฐ ส่งผลให้มีพี่น้องแรงงานหันมาสนใจเป็นพนักงานขับรถส่งสินค้าจำนวนเพิ่มมากขึ้น บางส่วนทำเป็นอาชีพหลัก บางส่วนทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางและกระทรวงแรงงานมิได้นิ่งนอนใจ
รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ สำหรับพี่น้องแรงงานนอกระบบที่มีมากกว่า19.6 ล้านคน และมีหลากหลายรูปแบบ เช่น พนักงานส่งสินค้าและบริการ หาบเร่แผงลอยพนักงานขับแท็กซี่ เป็นต้น
แน่นอนว่า กลุ่มแรงงานนอกระบบมีจำนวนมากและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ยังไม่มากเท่าที่ควร กระทรวงแรงงานจึงได้ผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นองค์กร ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้แรงงานมีสัญญาการทำงานที่เป็นธรรม (Fair Agreement) เช่น ไม่กำหนดเงื่อนไขทำให้ต้องเร่งรีบทำงานอย่างมีความเสี่ยง หรือต้องทำงานหนักเกินปกติจนเสียสุขภาพ ผลตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) การจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดสวัสดิการและหลักประกันขั้นพื้นฐาน (Welfare Fund) การจัดตั้งกองทุนเพื่อแรงงานนอกระบบ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างเหมาะสมสิทธิในการอุทธรณ์ การสอบสวน การพักงาน
รวมทั้งสิทธิในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานแพลตฟอร์ม โดยต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อบังคับต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ พี่น้องแรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิประกันสังคมเพื่อดูแลในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ขึ้นอยู่กับทางเลือกที่พี่น้องแรงงานเลือกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ปัจจุบันมีพี่น้องแรงงานนอกระบบเข้าร่วมมาตรา 40 กว่า 10.79 ล้านคน
สำหรับ ประกันสังคมมาตรา 40 นั้นมีอยู่ 3 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท/เดือน ได้รับสิทธิ 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้กรณีผู้ป่วยในวันละ 300 บาท กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 -1,000 บาท และกรณีเสียชีวิตได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท/เดือน ได้รับสิทธิ 4 กรณี เช่นเดียวกับกรณีที่ 1 และเพิ่มเติมคือกรณีชราภาพ และทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท ได้รับสิทธิ 5 กรณี เช่นเดียวกับกรณีที่ 2 และเพิ่มเติมคือกรณีสงเคราะห์บุตรตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ คนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน
“ขอขอบคุณแกร็บประเทศไทย ตลอดจนธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีส่วนช่วยประเทศชาติและประชาชนแรงงานกลุ่มนี้จะต้องได้รับความคุ้มครองและมีหลักประกันทางสังคมเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ การจัดงานในวันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานของแกร็บประเทศไทย เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพของคนจำนวนมากในตลาดแรงงานของประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาแรงงานของประเทศ”นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด