- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Saturday, 21 May 2022 19:44
- Hits: 4373
รมว.สุชาติ ขานรับนโยบายนายกฯ สั่ง กสร.สร้างความเข้าใจสิทธิ หน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง กรณีโควิด-19
กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ดูแลลูกจ้างในสถานประกอบกิจการภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 สั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งสร้างความเข้าใจนายจ้างพร้อมดูแลให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
นาย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้มีความห่วงใยลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ โดยมีความต้องการให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
กระทรวงแรงงานจึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้าง และลูกจ้างเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ดำเนินการตามแนวทางป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง หรือเกิดผลกระทบต่อกิจการของนายจ้าง และหากทราบว่ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กสร. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยกรมฯ ได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายให้แก่นายจ้างและลูกจ้างได้รับทราบ ในกรณีหากนายจ้างสงสัยว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสั่งให้ลูกจ้างกักตัว ณ ที่พักอาศัยเพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะถือว่าปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ไม่ใช่การขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่
แต่นายจ้างสามารถตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ รวมไปถึงสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้และหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ไม่ใช่การกระทำผิดวินัย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546