- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Thursday, 12 May 2022 11:51
- Hits: 5152
ไทยเปิดด่าน แม่สอดรับแรงงานเมียนมากลุ่มแรก เข้ามาทำงานตาม MOU
กระทรวงแรงงาน พร้อมให้แรงงานข้ามชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตาม MOU โดยไม่ต้องกักตัว ลดค่าใช้จ่ายนายจ้าง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายอรเทพ อินทรสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และนายภัทรวุธ เภอแสละ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการนำแรงงานสัญชาติเมียนมากลุ่มแรกเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ผ่านด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยนายสุชาติ กล่าวว่า วันนี้แรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน 287 คน ได้เดินทางผ่านเส้นทางย่างกุ้ง-เมียวดี-แม่สอด เพื่อเข้ามาทำงานตาม MoU
โดยแรงงานเมียนมากลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่เข้ามาทำงานหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยวันพรุ่งนี้ (11 พ.ค. 65) จะมีแรงงานสัญชาติเมียนมากลุ่มที่ 2 จำนวน 301 คน เดินทางตามเข้ามาทางด่านเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 588 ราย โดยหากฉีดวัคซีนครบโดส หรือหากฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง สามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ให้เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5 วัน
“รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ประเมินสถานการณ์การระบาดในประเทศ พบว่าเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงปรับมาตรการครั้งสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาแข็งแรงมีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมนานาประเทศดังก่อนเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ซึ่งกระทรวงแรงงานเองได้เตรียมความพร้อมวางแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับมาตรการที่รัฐบาลกำหนด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติของนายจ้าง สถานประกอบการ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ต้องการนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ให้ปฏิบัติตามแนวทางการปรับลด
มาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ดังนี้
- มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
1). ให้แรงงานแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร
(Name List)
2). หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด – 19
3). กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ
4). กรณีรับวัคซีนครบโดสนายจ้างแจ้ง วัน เวลาเดินทางที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างล่วงหน้า และกรณีรับวัคซีนไม่ครบโดส และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง แจ้งกำหนดวันเดินทางเข้ามาในประเทศ หลักฐานการยืนยันว่ามีสถานที่กักตัว (อย่างน้อย 5 วัน)
- มาตรการเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
- แรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยหากรับวัคซีนครบโดส หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องกักตัว สามารถรับการตรวจเอกสารหลักฐาน ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจสุขภาพ 6 โรค ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- หากไม่พบเชื้อโควิด – 19 แรงงาน 3 สัญชาติจะเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับฯ รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย กรณีพบเชื้อโควิด – 19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา
- หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป
กรณีแรงงานข้ามชาติที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเข้ามาจะต้องกักตัวอย่างน้อย 5 วัน หากครบกำหนดให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส
ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโรคโควิด - 19 ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรณีที่ตรวจพบเชื้อให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด