- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Friday, 18 February 2022 09:05
- Hits: 9670
นายก ห่วงคนงานนั่งร้านถล่ม สั่ง รมว.เฮ้ง เร่งเยียวยาสิทธิประโยชน์ทดแทน แก่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บโดยด่วน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไซต์งานก่อสร้าง โครงการวันแบงค็อก ถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เกิดอุบัติเหตุเหล็กค้ำยันรองรับหล่อคอนกรีตพังถล่มขณะเทคอนกรีต ทำให้มีลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ใต้จุดค้ำยันเสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 3 ราย นั้นว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ และกำชับให้กระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือญาติของคนงานที่เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บโดยด่วน ผมได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูลความเป็นผู้ประกันตนของลูกจ้างที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เพื่อเร่งประสานการช่วยเหลือเยียวยาตามขั้นตอนให้ได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็ว
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 พบว่า มีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 3 ราย ได้แก่ นางบุญโฮม วังมา อายุ 42 ปี นางประไพ สุปมา อายุ 58 ปี นางอุดร เลขสันต์ อายุ 47 ปี สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 พิจารณาแล้วเห็นว่า การเสียชีวิตของลูกจ้างทั้ง 3 รายเกิดเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ทายาทและผู้มีสิทธิ มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รายแรก ทายาทของนางบุญโฮม วังมา จะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทน อัตราเดือนละ 6,374.20 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 764,904 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีเสียชีวิต 10,201.69 บาท
รวมเป็นเงินทั้งหมด 825,105.69 บาท รายที่สอง ทายาทของนางประไพ สุปมา จะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทน อัตราเดือนละ 6,428.80 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 771,456 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีเสียชีวิต 63,064.83 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 884,520.83 บาท รายที่สาม ทายาทของนางอุดร เลขสันต์ จะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทน อัตราเดือนละ 6,447 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 773,640 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีเสียชีวิต 74,835.08 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 898,475.08 บาท
ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 ราย ซึ่งขณะนี้กลับเข้าทำงานได้แล้ว มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง และค่าทดแทนการหยุดพักรักษาตัวกรณีไม่สามารถทำงานได้ อัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 1 ปี
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะได้ประสานญาติของลูกจ้างที่เสียชีวิตและลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อขอรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนให้โดยเร็วที่สุดตามขั้นตอนต่อไป