- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Monday, 24 January 2022 23:12
- Hits: 13712
รมว.สุชาติ มอบ 'ที่ปรึกษา' ลงพื้นที่ขอนแก่น ยกระดับเแรงงานนอกระบบ สู่เกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer 2022
กระทรวงแรงงาน มอบที่ปรึกษา พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อขับเคลื่อน ตรวจเยี่ยมและติดตาม นโยบาย 1 จังหวัด 1 โครงการ นำร่องฝึก 6 จังหวัด ยกระดับแรงงานนอกระบบสู่ เกษตรอัจฉริยะ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกอบรม หลักสูตร ผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับรายได้ และเศรษฐกิจชุมชน โดยเน้น 1 จังหวัด 1 โครงการ (หลักสูตร) ให้แก่กลุ่มอาชีพแรงงานนอกระบบ รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริมมุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืน และได้พบปะ พูดคุย สอบถามถึงปัญหาระหว่างการฝึกอบรมกับผู้เข้ารับการฝึกและผู้ประกอบกิจการต่างๆ
โดยมีนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ วิสาหกิจชุมชน น้า& หลาน ฟาร์ม ต.โคกสี และวิสาหกิจชุมชน น้า & หลานฟาร์ม (สาขา 1) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น โดย นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบาย พัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานนอกระบบ ให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer
โดยให้แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรให้สามารถพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านช่างและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลิตภาพ และเชื่อมโยงตลาด ต่อยอดการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้และเศรษฐกิจชุมชน
นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การนำของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการ พัฒนาทักษะและยกระดับฝีมือให้แก่แรงงานนอกระบบ แรงงานคืนถิ่น และ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 ในโครงการ ‘1 จังหวัด 1 โครงการ 1 หลักสูตร’ มุ่งเน้นการให้มีความรู้ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อการเกษตร เป็นการบูรณาการและต่อยอดความรู้ทักษะด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ การออกแบบ การติดตั้งอุปกรณ์ การจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์หาข้อสรุป ออกแบบคำสั่งและใช้ในการตัดสินใจ ตามหลักการและทฤษฎีทางการเกษตร เพื่อให้กระบวนการผลิตเหมาะสม ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ
และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในวันนี้ ดิฉันได้มาตรวจเยี่ยมการฝึกอบรม 2 แห่ง ประกอบด้วย การฝึกอบรมหลักสูตร ผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะ การฝึกภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ การเพาะกล้า การปลูกลงแปลง และระบบการให้น้ำอัตโนมัติ ณ วิสาหกิจชุมชน น้า& หลาน ฟาร์ม ตำบลโคกสี และยี่ยมชมการฝึกภาคปฏิบัติ การเก็บเกี่ยว ผลผลิต การล้างและตัดแต่งพืชผัก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และนำผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหาร ณ น้า & หลานฟาร์ม (สาขา 1) ตำบลในเมือง ซึ่งดำเนินการฝึกอบรมโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นำร่องการฝึกอบรม โดยหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น พิษณุโลก สตูลศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ และบุรีรัมย์ โดยจะดำเนินการขยายผลการฝึกอบรมให้แก่แรงงานทั่วประเทศต่อไปด้วย