- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Friday, 05 November 2021 22:04
- Hits: 9257
รมว.เฮ้ง เตรียมหารือ 4 หน่วยงาน หลัง ศปก.ศบค. เห็นชอบหลักการนำเข้า MoU แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักชายแดน
ที่ประชุมศปก.ศบค. เห็นอบแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MoU ในสถานการณ์โควิดตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้เร่งหารือร่วมกับ สตม. กต. สธ. และกอ.รมน. เพื่อดำเนินการนำเข้าโดยเร็ว
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองตามเส้นทางธรรมชาติและการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายหลังพบสถานประกอบการในประเทศจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน จึงได้มอบหมายกระทรวงแรงงาน แก้ปัญหาดังกล่าวและวางแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งวิธีนี้จะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างตรงจุด ส่งผลให้ปัญหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อทำงานลดน้อยลง
“สำหรับแนวทางเบื้องต้นยังคงจัดกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว ที่ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จะได้พิจารณาเป็นลำดับแรก โดยต้องแสดงวัคซีนพาสปอร์ต กลุ่มสีเหลือง ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน และกลุ่มสีแดงที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็มหรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อ COVID-19 ค่ารักษา (กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ COVID-19) หากอยู่ในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หลังครบกำหนดระยะเวลากักตัวจะได้รับวัคซีนตามสิทธิผู้ประกันตน กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกันตนม.33 นายจ้างจะเป็นผู้จัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่คนต่างด้าว ซึ่งการอนุญาตให้นำเข้า จะอนุญาตตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
นายสุชาติ กล่าวต่อไปถึงมาตรการที่กระทรวงแรงงานดูแลแรงงาน 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ นโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ขาดแคลนแรงงาน พร้อมกับควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเสนอครม.เพื่อมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์ โควิดระลอกใหม่
โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ กว่า 4 แสนรายได้รับอนุญาตทำงาน ต่อมาเสนอครม.เพื่อมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้วหรือเคยได้รับอนุญาตทำงานแต่ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ 2 ปี นับแต่วันที่การอนุญาตเดิมสิ้นสุด
รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน ช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และล่าสุดมติครม.เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เป็นระยะเวลา 30 วัน เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยจะบันทึกข้อมูลนายจ้างและแรงงานต่างด้าว กำหนดวันนัดหมายให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย และได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี หากอยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา33 และได้รับการคุ้มครอง และสิทธิการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือหากไม่อยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมก็ได้รับสิทธิประกันสุขภาพตามสิทธิประกันที่มีการกำหนดให้ทำเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านอาหาร โดยกระทรวงแรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่แรงงานต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้าง และลดภาระนายจ้าง/สถานประกอบการที่ถูกปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ร่วมระยะเวลา 27 วัน รวมแจกข้าวกล่องถึง 1 ล้าน 3 แสนกล่อง สามารถช่วยเหลือคนต่างด้าวได้เกือบ 8 หมื่นคน
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากนี้จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเรื่องรายละเอียดขั้นตอน โดยจะหารือใน 7 เรื่องหลัก
ได้แก่ 1.การยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ 2. การดำเนินการของประเทศต้นทาง 3. การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว 4. การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ 5. จุดผ่านแดน/ด่านตรวจคนเข้าเมือง 6. สถานที่กักตัว 7. การอบรมและรับใบอนุญาตทำงาน เมื่อได้แนวทางที่ชัดเจน จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.เพื่อเริ่มดำเนินการทันที
สธ.ย้ำเจ้าของกิจการใช้แรงงานต่างด้าวถูก กม. พาไปฉีดวัคซีน เผยสูตรไขว้-เข็ม 3 พบมีอาการเข้า รพ.น้อยมาก
กระทรวงสาธารณสุขเผยแนวโน้มโควิดลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 6 จังหวัด ระดมค้นหาคลัสเตอร์ ฉีดวัคซีน ย้ำเจ้าของกิจการใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย พาไปฉีดวัคซีนให้ครบ ชี้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้และกระตุ้นเข็ม 3 พบมีอาการไม่พึงประสงค์ต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยมาก ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย รักษาหาย ส่วนเปิดประเทศพบ ผู้เดินทางติดเชื้อสะสม 10 ราย ถือว่าระบบคัดกรองเข้ม สร้างความปลอดภัยได้
ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยรักษาหาย 8,029 ราย ติดเชื้อใหม่ 7,982 ราย เสียชีวิต 68 ราย แนวโน้มผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่เครื่องช่วยหายใจลดลง
ภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 6 จังหวัดที่ยังมีแนวโน้มสูง ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ตาก ระยอง จันทบุรี และขอนแก่น ซึ่งวันนี้มีสัดส่วนการติดเชื้อ 22% ขณะนี้ได้ระดมสรรพกำลังค้นหาคลัสเตอร์และปัจจัยเสี่ยง รวมถึงเพิ่มเติมวัคซีนลงไปในพื้นที่ ขอให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีน จะลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
สำหรับคลัสเตอร์ที่ยังพบรายงานวันนี้ ได้แก่ เรือนจำ กทม. 44 ราย เชียงใหม่ 16 ราย, สถานบันเทิง กทม. 12 ราย, สถานศึกษา ฉะเชิงเทรา 2 ราย, โรงแรม กทม. 20 ราย, แคมป์ก่อสร้าง/ล้งผลไม้ จันทบุรี 4 ราย, บริษัท เชียงใหม่ 6 ราย กทม. 4 ราย, ค่ายทหาร ชลบุรี 3 ราย และตลาดเชียงใหม่ 61 ราย นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบผู้ลักลอบเข้าประเทศจากกัมพูชาติดเชื้อ 7 ราย ถือว่าน่ากังวลในช่วงการเปิดประเทศ
จึงขอให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องและขอให้เจ้าของกิจการใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย พาคนงานต่างด้าวไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน ซึ่งได้ชี้แจงทุกจุดฉีดวัคซีนแล้วให้จัดบริการฉีดวัคซีนกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญยังต้องย้ำมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง กิจการใช้มาตรการ COVID Free Setting จะเปิดประเทศได้อย่างราบรื่น
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 วันที่ 3 พฤศจิกายน ฉีดได้ 817,382 โดส สะสม 77,831,474 โดส โดยเข็ม 1 ครอบคลุม 59.8% เข็ม 2 ครอบคลุม 44.7% และเข็ม 3 ครอบคลุม 3.5% จังหวัดที่มีความครอบคลุมน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครพนม หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ฉีดเข็ม 1 ประมาณ 36-43% สำหรับกลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 56.3% พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 17 จังหวัด ฉีดแล้ว 80.5% โดยจังหวัดที่ฉีดได้มากกว่า 70% คือ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต
สำหรับ ผู้ฉีดวัคซีนโควิดแบบสลับชนิดและกระตุ้นเข็ม 3 ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่ามีจำนวนน้อยมาก โดยสูตรซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดมากกว่าล้านโดสพบเข้าโรงพยาบาล 955 ราย ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าพบ 163 ราย และกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ พบ 48 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และแน่นหน้าอก สามารถรักษาหายได้ ส่วนรายงานผู้เสียชีวิตนั้น จากการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญพบว่า ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า การเปิดประเทศ วันที่ 3 พฤศจิกายน มีผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,614 ราย แบ่งเป็น ระบบ Test&Go หรือกลุ่มประเทศที่ไม่ต้องกักตัว เมื่อผลตรวจ RT-PCR เป็นลบเดินทางต่อได้ทันที 2,283 ราย ระบบแซนด์บ็อกซ์ 101 ราย และระบบกักตัวตามปกติ 230 ราย มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย จากระบบ Test&Go 1 ราย และระบบกักตัว 3 ราย รวม 3 วันที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อ 10 ราย ซึ่งแสดงว่าระบบของเราตรวจจับได้แม้ก่อนเดินทางมาจะตรวจ RT-PCR ไม่พบ
แต่เป็นการพบในอัตราต่ำมาก ถือว่ามีความปลอดภัยในการรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ โดยประเทศที่เดินทางเข้ามามาก คือ สหรัฐอเมริกา 196 ราย ญี่ปุ่น 339 ราย เยอรมนี 142 ราย อังกฤษ 105 ราย และเกาหลีใต้ 64 ราย จังหวัดปลายทางที่นักท่องเที่ยวไปมากที่สุด คือ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี และสุราษฎร์ธานี
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ