- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Wednesday, 29 September 2021 21:33
- Hits: 10284
ครม.ไฟเขียว กระทรวงแรงงาน ตรวจแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ พบไม่มีใบอนุญาตทำงานจับขึ้นทะเบียนทันที
ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ปัจจุบันยังตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ มีโอกาสกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชน สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการลงพื้นที่ของหน่วยงานควบคุมโรค พบแรงงานข้ามชาติทำงานในพื้นที่ดังกล่าวอย่างหนาแน่น ทั้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานควบคุมโรคจึงจำเป็นต้องเข้าตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน
ถ้าพบแรงงานข้ามชาติที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะได้ให้นายจ้างดำเนินการขออนุญาตทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติเพื่อจะได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับสิทธิ์การคุ้มครองและดูแล ช่วยเหลือตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะส่งผลให้การควบคุมและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานอย่างยิ่ง ท่านกำชับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด
กระทรวงแรงงานจึงมอบหมายกรมการจัดหางานเตรียมแนวทางดำเนินการ ดังนี้
1.เข้าตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ เป็นระยะเวลา 30 วัน
- หากตรวจพบแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เจ้าหน้าที่จะถ่ายภาพแรงงานข้ามชาติ พร้อมทำประวัติเบื้องต้น และให้นายจ้างกรอกแบบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมจัดเตรียมเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอให้ครบถ้วน
3.นัดหมายนายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว รวมทั้งชำระค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ตามที่กฎหมายกำหนด ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานของแรงงานข้ามชาติ ภายใน 3 วันทำการ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จรับเงินและใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติใช้เป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งใบอนุญาตทำงานสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 66
ในส่วนแรงงานข้ามชาติที่ได้ดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการครบทุกขั้นตอนได้ภายในกำหนด เพราะมาตรการงดการให้บริการชั่วคราว หรือการจำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการ ได้พิจารณาให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการ ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 65 เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานแล้ว ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน/ซื้อประกันสุขภาพ ในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคมระหว่างรอสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเป็นระยะเวลา 4 เดือน (อัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับบริษัทประกันภัย) ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 มิเช่นนั้น การอนุญาตให้ทำงานและการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการครบทุกขั้นตอนแล้ว กรณีถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่าวันที่ 13 ก.พ. 66 ให้ไปดำเนินการขอรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 ส.ค. 65 กรณีหนังสือเดินทางฯมีอายุเหลือน้อยกว่าวันที่ 13 ก.พ. 66 หรือไม่มีหนังสือเดินทางฯ ให้ไปดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางฯเล่มใหม่ และดำเนินการขอรับการตรวจลงตราและอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ภายในวันที่ 1 ส.ค. 65 เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แต่หากไม่สามารถดำเนินการภายในกำหนด การอนุญาตทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ส.ค. 65
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ที่จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และนายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา กรมการจัดหางานจะออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าว โดยอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 และในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้ใช้ใบเสร็จรับเงินและใบรับคำขอดังกล่าวเสมือนใบอนุญาตทำงาน เพื่อเป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน
หากนายจ้าง/สถานประกอบการ หรือคนต่างด้าวต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ