- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 19 September 2021 15:10
- Hits: 15175
นายก ควง รมว.เฮ้ง ตรวจเยี่ยมโครงการแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ จ.ชลบุรี สร้างภูมิคุ้มกันแรงงาน สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนอีอีซี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) ณ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ จำกัด (แหลมฉบัง) ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี คุณชกกิ โมะริคาซุ ประธานกรรมการบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต้องบูรณาการกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ สร้างงาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และขอขอบคุณกระทรวงแรงงานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ร่วมกันบูรณาการการทำงานของรัฐบาลในมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยรัฐบาลได้กำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนไทยโดยได้เริ่ม Kickoff เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาติของรัฐบาลด้วยดีตลอดมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาวการณ์ลงทุนที่ผ่านมาจังหวัดชลบุรี มีการลงทุนมหาศาลในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้าน โลจิสติกส์ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาท่าเรือเฟสใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ EEC เป็น HUB ของการค้า การลงทุนของภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี กระทรวงแรงงานเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้ฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ การเยียวยาผู้ประกันที่ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown ทั้งมาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40 การดูแลแคมป์คนงาน ผมจึงขอเน้นย้ำการทำงานในประเด็นสำคัญ
ดังนี้ 1) โครงการ ‘Factory Sandbox’ ให้เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการดำเนินการ Bubble and Seal ให้มีการดูแลอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันผู้ประกันตนปลอดภัยจากโรคโควิด-19 2) การฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกันตน ให้ดูแลและจัดระบบการให้บริการอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 3) การเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้จัดระบบการให้บริการจ่ายเงินเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ และกลุ่มมาตรา 40 ที่ต้องตรวจสอบสิทธิการเยียวยาให้ประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับความช่วยเหลือสามารถดำรงชีพในสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ได้เป็นอย่างดี
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวเน้นย้ำถึงภาคเอกชนว่ามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งการรวมพลัง ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในครั้งนี้จะทำให้สามารถต่อสู้กับโควิด -19 ได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการให้ผู้ใช้แรงงานขึ้นทะเบียนประกันสังคมเพื่อจะได้เข้าถึงการเยียวยา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้เสนอข้อมูลด้านแรงงานมาอย่างต่อเนื่องและ ผมรับทราบข้อมูลมาตลอด ส่วนความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นนั้นผมได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ และในวันนี้สมาคมนักลงทุนญี่ปุ่น มีสมาชิกจำนวน 273 บริษัท อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และจังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย โดยการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะดูแลนักธุรกิจเหล่านี้ เพื่อให้ขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้
ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน กระทรวงแรงงานได้ดำเนินโครงการ Factory Sandbox โดยใช้แนวคิดในการจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะ ‘เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข’ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่แรงงานและสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจากภาคการผลิตแก่นักลงทุนในสถานประกอบการภาคการผลิต ส่งออกขนาดใหญ่ในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่องได้แก่ จังหวัดชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ
โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 700,000 ล้านบาทสามารถป้องกันการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงาน เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมทั้งสามารถรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตและส่งออกสำคัญได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง
โดยระยะแรกมีเป้าหมายดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ในสถานประกอบการภาคการผลิต/ส่งออก ที่มีผู้ประกันตน 500 คน ขึ้นไปจำนวน 387 แห่ง ผู้ประกันตน 474,109 คน ดำเนินการภายใต้สโลแกน “ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล” เริ่ม Kick off พร้อมกัน 4 จังหวัด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 1) ตรวจ คือ การตรวจคัดกรองด้วย RT-PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจ Self-ATK ทุกสัปดาห์ 2) รักษา คือ จัดให้มี FAI (Factory Accommodation I solation) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของพนักงาน, Hospitel โรงพยาบาลสนาม ICU สำหรับผู้ป่วยเขียว เหลือง และแดง 3) ควบคุม คือ ดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal สำหรับการป้องกันและควบคุม และ DMHTT (Distancing, Mask Wearing, Hand Washing, Testing, Thai Cha na) และ 4) ดูแล คือ ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการ 'Factory Sandbox' ระยะที่ 1 ณ วันที่ 16 กันยายน 2564 ปรากฎว่าได้ตรวจคัดกรองโควิดในสถานประกอบการแล้ว 50 แห่ง ผู้ประกันตน จำนวน 95,240 คน (คิดเป็นร้อยละ 38.10 จากเป้าหมาย 250,000 คน) ฉีดวัคซีนในสถานประกอบการแล้ว 36 แห่ง ผู้ประกันตน จำนวน 40,465 คน (คิดเป็นร้อยละ 40.47 จากเป้าหมาย 100,000 คน) สำหรับจังหวัดชลบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของโครงการดังกล่าวมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 17 แห่ง มีผู้ประกันตนรวมจำนวน 28,149 คน มีสถานประกอบการที่ตรวจคัดกรองแล้ว15 แห่ง ผู้ประกันตนรวมจำนวน 17,934 คน ครบถ้วนทุกคน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 239 คน ซึ่งได้ส่งเข้ารับการรักษาตามมาตรการของสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ