- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Saturday, 08 November 2014 00:11
- Hits: 4651
ส.อ.ท. ผนึก กพร. พัฒนาทดสอบรับรองมาตรฐานแรงงาน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 44 สาขาอาชีพ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดอบรม ‘ผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 1’ ในวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ (GH 201 - 202) ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อพัฒนายกระดับแรงงาน ด้วยการทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่การเปิดเสรีภายใต้กรอบ AEC
นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2554 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และปี 2555 ได้จัดทำวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นจำนวนที่มากถึง 44 สาขาอาชีพได้สำเร็จ ถือเป็นมิติใหม่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ได้พัฒนากระบวนการในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจนเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ สอดคล้องกับการจ้างงานจริงในอุตสาหกรรม มีการนำไปใช้ในการทดสอบรับรองพนักงาน และจ่ายค่าตอบแทนตามระดับมาตรฐานที่กำหนด โดยขณะนี้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายถาวร กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดทำมาตรฐานและวิธีทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทั้ง 44 สาขาอาชีพ ใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่เสร็จสิ้นลงไป เกิดจากความมุ่งมั่น ตั้งใจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ต้องการยกระดับฝีมือแรงงานไทย ให้มีมาตรฐาน แข่งขันได้ เคลื่อนย้ายได้ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ รวมทั้งให้ประเทศไทยมีมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ใช้เป็นกรอบในการเจรจาข้อตกลงกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานกับอาเซียน ซึ่งสอดรับกันอย่างลงตัวกับภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการพัฒนาความรู้ ความสามารถของกำลังแรงงานให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น โดยมีสิ่งที่ท้าทายรอการพิสูจน์ความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า คือการนำมาตรฐานและวิธีทดสอบไปสู่กระบวนการจัดทดสอบและรับรองความสามารถของบุคลากรได้อย่างครบวงจร นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการรับคนเข้าทำงาน การบริหารค่าจ้าง การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในปี 2557 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอีกครั้ง ดำเนินโครงการพัฒนาและทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาตรฐานและวิธีทดสอบไปดำเนินการจัดทดสอบและรับรองความสามารถของบุคลากร โดยมีโดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
1. การฝึกอบรมหลักสูตรผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 1 จำนวน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 44 สาขา
2. การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 จำนวน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 44 สาขา จำนวนผู้เข้ารับการทดสอบ 2,760 คน
3. การจัดกิจกรรมนำเสนอสรุปผลของโครงการและมอบหนังสือรับรองผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จำนวน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 44 สาขา” นายถาวรกล่าว
ด้านหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความยั่งยืน เพราะเมื่อผู้ประกอบกิจการมีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน หรือกำหนดกรอบความรู้ความสามารถ และสมรรถนะของงานในแต่ละตำแหน่งแล้วย่อมสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคน คือกำหนดกรอบความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะของบุคคลที่จะรับเข้าทำงาน และคัดเลือกบุคลากรได้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ที่ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ทั้ง 44 สาขาอาชีพ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จนมาเข้าสู่กระบวนการทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรม ซึ่งการอบรมผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นหนึ่งในกระบวนการของทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
การอบรมผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีความรู้ ความสามารถ และทัศนคติที่ดีต่อการเป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นผู้ที่จะให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ดำเนินการทดสอบและผู้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้อย่างถูกต้อง สามารถที่จะเตรียมการทดสอบ ควบคุม ตรวจผลการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ รวมไปถึง สามารถที่จะนำความรู้หรือทักษะไปใช้ในการปฏิบัติงานหรือพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ราบรื่น และสามารถที่จะรับรองความสามารถและพัฒนาบุคลากรในแต่ละสาขาอาชีพได้อย่างแท้จริง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย