- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Friday, 12 February 2021 17:10
- Hits: 7783
กรมการแพทย์ จับมือบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด และธนาคารกรุงไทย ปรับวิธีตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว ในสถานการณ์โควิด 19
กรมการแพทย์ จับมือบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปรับวิธีการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวพร้อมรับชำระค่าธรรมเนียมบริการตรวจและรักษาพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร เน้นย้ำให้นายจ้างสถานประกอบการทำความเข้าใจเพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามข้อตกลงการรับชำระเงินค่าตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวพร้อมรับชำระค่าธรรมเนียมบริการตรวจและรักษาพยาบาลระหว่าง กรมการแพทย์ กับ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ว่า กรมการแพทย์ มีนโยบายการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้ครบทุกส่วนที่เข้ามาอยู่ในประเทศ เพื่อเป็นการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงอนุญาตให้แรงงานที่ไม่เคยตรวจสุขภาพแสดงตัว โดยการผ่อนผันให้มีการตรวจสุขภาพ ร่วมกับการคัดกรองหาโรคโควิด19 ด้วย ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
โดยท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) ที่มีความห่วงใยสุขภาพทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ดำเนินมาตรการผ่อนผันให้แรงงาน 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) และผู้ติดตามที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี อยู่ในราชอาณาจักร และดำเนินการตามกระบวนการขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ โดยแรงงานต่างด้าวในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐในเขตกทม. ซึ่งจะมีโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ คือโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลราชวิถี เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 16 เมษายน 64
โดยอัตราค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ มีดังนี้ 1. แรงงานต่างด้าวกิจการทั่วไปที่ไม่เข้าระบบประกันสังคม อัตราคนละ 6,500 บาท ประกอบด้วย ค่าตรวจโควิด คนละ 2,300 บาท ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 1,000 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2 ปี สิ้นสุด 13 ก.พ. 66 คนละ 3,200 บาท สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ประกอบกิจการประมงทะเล คนละ 6,600 บาท ค่าตรวจโควิด คนละ 2,300 บาท ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 1,100 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2 ปี สิ้นสุดวันที่13 ก.พ. 66 คนละ 3,200 บาท
นายวีรเดช อัครผลพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า เพื่อให้การบริหารจัดการในการรับชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการสาธารณสุขของนายจ้างและแรงงานต่างด้าวเป็นไปด้วยความสะดวก นั้น บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด จึงได้เปิดรับชำระเงินค่าธรรมเนียมจากผู้รับบริการที่ประสงค์จะชำระเงินค่าธรรมเนียม ให้แก่ กรมการแพทย์ ณ จุดบริการ ครอบคลุมในเขตกทม. ซึ่งเมื่อบริษัทฯ ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้รับบริการ จะถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยกรมการแพทย์อย่างถูกต้อง บริษัท ฯ จะรวบรวมข้อมูลการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน และดำเนินการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูลไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ ได้จับมือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้บริการรับชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการสาธารณสุขด้วยเช่นกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สามารถทำรายการผ่านธนาคารกรุงไทยทุกช่องทางครอบคลุมทั่วประเทศ ได้แก่ สาขาธนาคารกว่า 1,000 แห่ง หรือเลือกทำรายการด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ตู้ ATM 9,800 จุด และสำหรับลูกค้านิติบุคคลสามารถทำรายการผ่าน Krungthai Corporate Online ได้ พร้อมจัดทำรายงานการชำระเงินส่งให้กรมการแพทย์ ผ่านระบบ Krungthai Digital Platform เพื่อส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ ใช้ตรวจสอบ และยืนยันการเข้ารับบริการ และออกใบรับรองแพทย์ให้กับนายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวสำหรับยื่นขออนุญาตจ้างแรงงานต่างด้าว
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญของของการป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะโควิด 19 ที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ คือ ความรู้ในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค จึงขอให้สถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวตระหนักถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยประชาสัมพันธ์ในภาษาของแรงงานต่างด้าวตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม ล้างมือบ่อยๆ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ