WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กัมพูชา-ลาวย้ายกลับประเทศ-หลังต่างชาติแห่เข้าไปลงทุน

       แนวหน้า : กัมพูชา-ลาวย้ายกลับประเทศ-หลังต่างชาติแห่เข้าไปลงทุน ภาคอุตฯแรงงานขาด 3 แสนคน ภาคอุตสาหกรรมไทยเจอปัญหาขาดแรงงานหนัก สอท.ชี้ขณะนี้ขาดอยู่ 3 แสนคน สาเหตุหลักจากแรงงานกัมพูชา และ ลาว ย้ายกลับประเทศ ไปทำงานในบ้านตัวเอง เมื่อทั้งนักลงทุนไทย และต่างชาติ ย้ายฐานการผลิตเข้าไป ขณะเดียวกันคาดหลังเปิดเออีซี วิศวกร แพทย์ โดนดึงตัวหนักแน่ นายพงศา แสนใจงาม กรรมการสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทยในขณะนี้ว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานกว่า 3.1 แสนคน แต่ถ้ารวมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างๆ ที่ไม่ได้แจ้งตัวเลขเข้ามาก็น่าจะมีจำนวนสูงกว่านี้ ซึ่งก็เป็นปัญหากับภาคอุตสาหกรรมพอสมควร และในช่วงต้นปีการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากที่สุด

    เพราะแรงงานส่วนหนึ่งจะกลับต่างจังหวัดไปช่วยงานในภาคการเกษตร โดยอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุดจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ ส่วนผลกระทบจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านมีเศรษฐกิจขยายตัวจะทำให้ดึงแรงงานกลับประเทศนั้น มองว่าขณะนี้การดึงแรงงานกลับประเทศยังไม่รุนแรง โดยเฉพาะประเทศพม่าที่แม้จะเปิดประเทศเร่งดึงดูดการลงทุน แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า น้ำประปา และระบบคมนาคม ที่เพียงพอต่อการขยายตัวทางธุรกิจ แต่ยอมรับว่ามีความน่าเป็นห่วงต่อการดึงแรงงานกลับในอนาคต ส่วนแรงงานในฝั่งกัมพูชา และสปป.ลาว ก็เริ่มเห็นถึงผลกระทบต่อการดึงแรงงานกลับประเทศ เนื่องมาจากต่างชาติ รวมทั้งผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปตั้งนิคมอุตสาหกรรม และย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเข้ามาแย่งแรงงานที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยกลับไปทำงาน

    นายพงศา กล่าวว่า แม้ว่าจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ก็คาดว่าภาพรวมในปี 2558 นายจ้างคงจะไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงในทุกระดับ เพราะผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ปิดกิจการลงเยอะพอสมควร ทำให้บรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในส่วนหนึ่ง ส่วนการจ่ายโบนัสคาดว่าจะอยู่ในอัตราเท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะถ้าไม่จ่ายในส่วนนี้ก็อาจจะเกิดปัญหาแรงงานได้ ขณะที่แรงงานในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่นมีการแย่งชิงแรงงานในระดับล่างสูง เช่น จ.สมุทรสาคร และในภาคตะวันออก ก็จะมีการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อรักษาแรงงานไม่ให้ย้ายไปโรงงานอื่น ส่วนแรงงานวิชาชีพที่ผ่านการสอบพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็จะมีการขึ้นค่าจ้างตามเกณฑ์ที่กระทรวงแรงงานกำหนด

   “เมื่อเปรียบเทียบทักษะฝีมือแรงงานไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนของแรงงานมีฝีมือยังอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน ดังนั้นจึงมีความเป็นห่วงว่าหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อาจจะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทีมีความสามารถไปยังประเทศที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า เช่น สิงคโปร์ โดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และวิศวกร ที่ประเทศไทยยังคงขาดแคลน เนื่องจากมีมาตรฐานสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน”นายพงศา กล่าว อย่างไรก็ตาม สอท.ได้มีนโยบายที่จะดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยได้จัดทำเว็บไซต์ www.ftijob.com ขึ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้บริการแก่สมาชิกในการแจ้งความต้องการแรงงานผ่านทางเว็บไซต์นี้ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างของสถานประกอบการไปยังผู้สมัครงานหรือ ผู้สนใจ อันจะเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกสอท. ในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อบรรจุเข้าทำงานในสถานประกอบการ

   ขณะเดียวกัน นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2557 ณ กรุงปักกิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และในโอกาสนี้ได้ให้สัมภาษณ์รายการ Biz Talk ของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน เกี่ยวกับการหารือในการประชุมเอเปกครั้งนี้ว่า ไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการต่างๆ ด้วย พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่ได้กลับเป็นปกติแล้ว และหวังว่านักลงทุนและนักท่องเที่ยว จีนจะสนใจเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!