- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Friday, 24 October 2014 22:13
- Hits: 5225
แรงงานไทยในบริบทใหม่เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน
ไทยโพสต์ : ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จากการที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่จุดเริ่มของการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2558 ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 15 เดือน ประเทศสมาชิกอาเซียนมีขนาดของประเทศแตกต่างกันมาก จากประเทศสิงค โปร์ที่เล็กที่สุด (714 ตร.กม.) ไปจนถึงประเทศอินโดนี เซียที่มีพื้นที่มากที่สุดประมาณ 1.86 ล้าน ตร.กม. สำหรับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 3 มีพื้นที่ 513.12 ตร.กม. ซึ่งมีประชากรอาเซียนรวมกันถึง 604 ล้านคน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67.5 ล้านคน (ลำดับที่ 4) ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดแน่นอนคือ สิงคโปร์ (5,116 USD) ตามด้วยบรูไน (3,870 USD) มาเลเซีย (9,941 UDS) และไทย (5,116 USD) ความแตกต่างทางฐานะและทางเศรษฐกิจดังกล่าวบ่งชี้ถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอาเซียน
ขนาดของกำลังแรงงานในแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก ความสามารถในการดูดซับแรงงานแต่ละ ประเทศไม่เหมือนกัน ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ประเทศสิงคโปร์ เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายแรง งานมีฝีมือระดับสูงเข้าประเทศได้ง่าย ตราบใดก็ตามที่ผ่านกระบวนการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็รับแรงงานฝีมือในระดับกลางในกิจ กรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างและภาคบริการจากประ เทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งประเทศขนาดเล็กอย่างบรูไนเปิดโอกาสให้ผู้มีฝีมือแรงงานเข้าไปทำงานคล้ายกับสิงคโปร์ ถึงแม้ว่าจะมีการว่างงานอยู่ในระดับที่สูง (มากกว่า 2%) แต่ทั้งสองประเทศไม่มีปัญหาในการดูแลประชากรของตนเอง ซึ่งอยู่ในฐานะร่ำรวยที่สุดในอาเซียน
ประเทศมาเลเซียกับประเทศไทยมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นประเทศมีจำนวนแรงงานย้ายถิ่นเข้า ประเทศสุทธิ (Net immigration) เป็นประเทศขาด แคลนแรงงานระดับล่างเหมือนกัน โดยประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวระดับล่างทำงานอยู่แล้วประมาณ 3 ล้านคนเศษ มาเลเซียมีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ ประมาณ 4 ล้านคนเศษเช่นกัน จุดที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับมาเลเซีย คือ การนำเข้าแรงงานระดับ ฝีมือระดับกลางและระดับสูง ซึ่งมาเลเซียนำเข้าเฉพาะ แรงงานฝีมือระดับสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเทศไทยนำเข้าแรงงานฝีมือระดับกลาง (เทคนิเซียน) และระดับผู้บริหารนักวิชาการและนักกฎหมาย เป็นต้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ มาเลเซียมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าไทย มีกำลังแรงงานน้อยกว่าไทย 3 เท่า ซึ่งแน่นอนทำให้มีแรงงานไทยไปทำงานในมาเลเซียในพื้นที่รัฐที่ไม่ไกลจากชายแดนไทยเป็นจำนวนมากกว่า 4 แสนคน ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรและภาคบริการ (อาทิ ร้านอาหารเมนูไทย ฯลฯ)
เหล่านี้คือ บริบทสภาพแวดล้อมใหม่ของตลาดแรงงานอาเซียน ที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังแรงงานรวมกันกว่า 303 ล้านคน แต่ทุกประเทศก็มีกำลังส่วนเกินและส่วนขาดแตกต่างกัน โอกาสของแต่ละประเทศจึงขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมบริหารจัดการและสร้างโอกาสที่ดีให้กับประเทศและกำลังแรงงานของตนได้ดีเพียงใด ซึ่งโอกาสของแรงงานไทยก็มีอยู่มาก.