WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แรงงานไทยในบริบทใหม่การเรียนสายอาชีพเพื่อชาติ

                บ้านเมือง : ทีมข่าวเศรษฐกิจ/รายงาน

    ทีดีอาร์ไอเสนอแนวทางปรับโครงสร้างแรงงานไทยครั้งใหญ่ จากต้นทางถึงปลายทาง เปลี่ยนมุมคิดผู้ปกครองในโลกความจริง จากการศึกษาถึงตลาดแรงงานรองรับ คาด 10 ปีเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่มีแรงงานล้นเกิน(ว่างงาน) ทั้งที่ขาดแคลน ขณะที่เอกชนช่วยตัวเองสร้างแรงงานใช้เอง พร้อมป้อนเออีซี

     ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จุดแข็งของโครงสร้างแรงงานของไทยคือ การมีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ ภาคเศรษฐกิจของไทยใช้แรงงานเกินกว่าขีดความสามารถในการเพิ่มของกำลังแรงงานของไทย (Over-employment) ต่อเนื่องกันมานาน ดัชนีชี้วัดที่สำคัญสามารถดูได้จากจำนวนการจ้างงานที่สูงอย่างต่อเนื่องจนอัตราการว่างงานของไทยถึงจะผันผวนเป็นรายไตรมาส ไปบ้าง แต่ก็มีอัตราค่อนข้างต่ำอยู่ในช่วง 0.5-2.0% ของกำลังแรงงาน

ผลิตแรงงานไม่ตรงความต้องการ

    ยิ่งพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่า อัตราการว่างงานโดยรวมแต่ละเดือนยังสูงกว่าปี 2556 มาโดยตลอด แต่ยังไม่สูงพอ ที่จะทำให้การมีงานทำของประเทศไทยลดจำนวนการจ้างงานลง อาทิ ในเดือนมกราคม 2557 มีผู้มีงานทำ 37.79 ล้านคน เดือนสิงหาคมก็ยังมีผู้มีงานทำถึง 38.37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 0.2% ต่อเดือน

    จึงไม่น่าแปลกใจว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานในเชิงปริมาณจะยังคงมีอยู่แม้ว่าจะดีขึ้นบ้างก็ตาม ปัญหาที่พบคือมีการผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาขาดแคลน โดยดูจากจำนวนผู้ว่างงานที่มีสัดส่วนมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนในทุกระดับการศึกษา เช่น ในปี 2556 ระดับ ม.ปลาย และ ปวช. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 2 เท่า ระดับ ปวส.ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลน 2.1 เท่า และระดับ ป.ตรี ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 3.5 เท่า

    ในปี 2557 กรมการจัดหางานได้คาดการณ์ผู้ที่จบการศึกษาและจำนวนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ที่จบ และเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับล่างเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น มีผู้จบมัธยมต้นสูงถึง 741,931 คน และถ้าไม่เรียนต่อต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี จึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ซึ่งก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11.8 ยิ่งเรียนถึงระดับมัธยมปลายสายสามัญแล้วก็ยิ่งจะออกสู่ตลาดแรงงานน้อยมากเพียงร้อยละ 4.2 เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนต่อในระดับปริญญาตรี

     ส่วนผู้ที่เรียนระดับ ปวช.ซึ่งมีจำนวนผู้จบการศึกษาน้อยกว่าผู้เรียนมัธยมปลายมากอยู่แล้ว และมีผู้ที่จะออกมาทำงานเพียงร้อยละ 8.9 โดยผลการศึกษาของ TDRI พบว่าผู้ที่จบ ปวช.เรียนต่อ ปวส.มากกว่าร้อยละ 70 ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีจำนวนผู้จบ ปวส.เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 13.6 เท่านั้นถ้าจะรวมผู้จบสายอาชีพทั้ง 2 ระดับเข้าด้วยกันก็ยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.8 ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมดเท่านั้นเทียบกับผู้จบระดับปริญญาตรี ซึ่งมีสัดส่วนของผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานสูงถึงร้อยละ 61.5 ของ ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมด

ไทยขาดแรงงาน กลาง-ล่าง

     เมื่อเทียบกับสัดส่วนของการจ้างแรงงานในตลาดแรงงานจะเห็นว่า เป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยสิ้นเชิง จึงทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานระดับล่างและระดับกลางอย่างหนักตลอดมา ยิ่งคำนึงมิติของคุณภาพของผู้จบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพที่มีสัดส่วนของผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียบกับสายที่มิใช่วิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยแล้วปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก

     ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะหนีจากกับดักของประเทศกำลังพัฒนาอันยาวนานนี้ได้และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในโลกได้ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและบริการให้มากขึ้นด้วยการวิจัยและพัฒนาการออกแบบที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยมากขึ้น

    การจะทำเช่นนี้ได้ ประเทศไทยจะต้องลดสัดส่วนของการใช้ผู้จบการศึกษาในระดับ ม.ต้น (หรือต่ำกว่า) ซึ่งเป็นแรงงานระดับล่างให้น้อยลงและพยายามปรับปรุงอุปสงค์ต่อผู้ที่มีการศึกษาในระดับกลางคือ ม.ปลาย รวมถึง ปวช.ให้มากขึ้น เนื่องจากมีข้อสมมุติฐานในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า การศึกษาในระดับนี้ฝึกอบรมเพิ่มทักษะได้ง่ายสามารถปรับตัวกับกระบวนการผลิตได้ดีกว่า

    ต้องเพิ่มแรงงานสายอาชีพเท่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างผู้ที่จบสายอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะระดับ ปวช. แต่ผู้ปกครองกลับต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ (เพื่อหวังให้ลูกได้จบปริญญาตรี) โดยมีสัดส่วนของผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพเท่ากับ 66 : 34 และอยู่ในระดับนี้มานานนับสิบปีและผลการศึกษาของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาก็พบว่าสัดส่วนนี้ไม่ดีขึ้นมีแต่จะเลวลง เช่นในปีการศึกษา 2557 ต่อ 2558 นี้มีสัดส่วนแย่ลงเหลือประมาณ 71 : 29 ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้จบสายอาชีพในระดับอาชีวศึกษาก็จะถึงขั้นวิกฤติ ประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอด

     อีกมิติหนึ่ง คือ มิติคุณภาพและการเรียนในสาขาวิชาชีพที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งทำให้ผู้ที่จบสายอาชีพยังคงว่างงานอยู่อีกเป็นจำนวนมากเนื่องจากขาดสมรรถนะที่ผู้ประกอบการต้องการทำให้กำลังแรงงานสายวิชาชีพช่างซึ่งมีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งจะน้อยลงไปอีก

   การที่จะชักจูงให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้นนั้น ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ เห็นว่าต้องทำ 2 มาตรการควบคู่กัน คือ มาตรการจูงใจ โดย 1.ต้องปรับทัศนคติของพ่อแม่ที่ต้องการใบปริญญา และนักเรียนเองที่เห็นว่าเรียนสายสามัญมีศักดิ์ศรีกว่าเรียนสายอาชีพ ใช้การแนะแนวเชิงรุกเสริมด้วย Social Media ช่วยในการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง 2.ต้องสร้างสถานศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิเศษที่ต้องการเรียนใน Smart TVET School เพื่อเป็นการสร้าง 'เด็กอาชีวะรุ่นใหม่'โดยการคัดเลือกสถานศึกษาต้นแบบในทุกจังหวัดใหญ่หรือภูมิภาคของประเทศเพื่อ ให้เป็นสถานศึกษาที่มีครูดี สถานที่ฝึก (เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม) สำหรับเด็กเก่งเข้ามาเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะในสายช่าง (อุตสาหกรรม) ได้รับทุนการศึกษา วางหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบกิจการหรือผู้ใช้นักศึกษาที่จบ เพื่อการันตีผู้จบเหล่านี้ว่ามีงานทำและมีรายได้ดี

    3.สำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสายช่างอื่นๆ อาจจะเน้นต่างจากนักศึกษากลุ่มที่กล่าวมาคือ เน้นในทางปฏิบัติร่วมกับผู้ใช้หรือสถานประกอบกิจการให้มากที่สุด อาจจะปรับลดหลักสูตรให้เหลือระยะเวลาเรียนภาควิชาการและฝึกงานจริง (ระบบทวิภาคี) อย่างละเท่าๆ กัน โดยสถานศึกษาพิจารณาจัดหลักสูตรให้ชัดเจนว่าจะให้เด็กที่จบไปทำงานกับใครที่ไหน (ดูตลาดแรงงานที่รองรับเป็นหลัก)

    4.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพต้องร่วมกันกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม และจะต้องไม่แตกต่างจากผู้จบระดับปริญญาตรีสายอาชีพมากนัก อาทิ ผู้จบ ปวช. ได้เงินเดือน 1 หมื่นบาทขึ้นไป จบ ปวส. 1.2-1.3 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นต้น และสำหรับเด็กจบ Smart ปวช. อาจจะให้เงินเดือนที่สูงกว่าเช่นเริ่มต้น 1.2 หมื่นบาท เป็นต้น 5.ให้ความสนใจกับอาชีวศึกษาเอกชนมากกว่า 400 แห่ง ที่ควรต้องได้รับการดูแลพัฒนาให้ดีขึ้น ให้สามารถผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้รั้วเดียวกันกับ สอศ.

    สำหรับ มาตรการเชิงบังคับ ซึ่ง ดร.ยงยุทธเห็นว่าควรจะนำมาใช้ได้แล้ว นั่นคือ การเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนต่อจาก ม.3 เป็นสายสามัญต่อสายอาชีพปัจจุบันจาก 67 : 33 ให้เป็น 50 : 50 ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยควรดำเนินการตามแนวทางของสภาการศึกษาฯ ได้แก่ จะต้องจัดตั้งผู้เข้ามารับผิดชอบหาวิธีการในการคัดกรองนักเรียนในระดับ ม.3 ที่จะจบว่าสมควรจะเรียนต่อสายสามัญ หรือเรียนต่อสายอาชีพ โดยใช้มาตรการทางด้านงบประมาณ (Unit Cost) มาใช้ให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน อาทิ ให้การสนับสนุนรายหัวผู้เรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญร้อยละ 30-50 เป็นต้น จำกัดจำนวนนักเรียนสายสามัญต่อชั้นเรียน

   โดยมีข้อตกลงว่าจะมีนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง และถ้าเรียนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว และโดยภาพรวมของประเทศจะร่วมกำหนดเป้าหมายว่าแต่ละปีจะลดผู้เรียนสายสามัญได้ปีละเท่าไร และในการบังคับใช้ข้อตกลงคือ เมื่อครบจำนวนโควตาแล้วจะไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัว หรือผู้เรียนไม่ได้รับเงินกู้เรียนเพื่อให้ได้ เป้าหมาย 50 : 50 ให้เร็วที่สุด

   นอกจากนั้น ควรเน้นผู้เรียนสายมัธยมศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อให้มีวัตถุดิบหรือจำนวนผู้จบ ม. 3 ที่จะเข้าเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาจจะใช้มาตรการอุดหนุนหรือการกู้ยืมเงินเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเข้าสู่มัธยมศึกษาสายอาชีพฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีควรจะได้รับการอุดหนุนรายหัวที่สูงกว่าการเรียนสายอื่นๆ ถ้าทำได้จริงจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนให้มีผู้จบมัธยมศึกษาสายอาชีพโดยเฉพาะมัธยมสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพียงพอ และมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ถ้าทุกฝ่ายมีความจริงใจและจริงจังในที่สุดอาชีวศึกษาก็จะกลับมาสร้างชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ.

อมตะหนุนแรงงานสายอาชีพ

   อย่างไรก็ตาม มีโครงการหนึ่งที่น่าจับตามอง นั่นคือโครงการ "เส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีงาน มีเงิน มีวุฒิ" มุ่งพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแก่บุคลากรอาชีวศึกษา เตรียมความพร้อมป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมป้องกันปัญหาแรงงานฝีมือขาดแคลนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอมตะ ร่วมกับมูลนิธิเฟืองพัฒนา และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

  โครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษามิติใหม่ให้แก่นักเรียนระดับอาชีวศึกษา โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของสถาบันที่เข้าร่วมโครงการให้มีระยะเวลาการเรียนการสอนวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพจาก 1 ภาคการศึกษา (4 เดือน) ปรับเป็น 1 ปีการศึกษา (7 เดือน-1 ปี) เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษาระดับชั้น ปวช. และ ปวส. ได้มีประสบการณ์ฝึกงานจากสถานประกอบการจริงทั้งในด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสาขาอาชีพในวิทยาการใหม่ๆ

    นอกจากความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว มูลนิธิยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และสถานประกอบการภายในนิคมฯ ในการรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ โดยมีช่างชำนาญการในสาขาวิชาชีพต่างๆ ทำหน้าที่ในการเป็นครู พี่เลี้ยง ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการระหว่างการฝึกงานเช่นเดียวกับพนักงานประจำ อาทิ เบี้ยเลี้ยง ที่พัก รถรับ-ส่ง ประกันอุบัติเหตุ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 13,000-16,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับใบรับรองการผ่านงานจากมูลนิธิฯ ร่วมกับสถานประกอบการ และหากสำเร็จการศึกษาและได้วุฒิบัตรในระดับ ปวช./ปวส.เรียบร้อยแล้ว มีโอกาสได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของสถานประกอบการที่เข้ารับฝึกงานได้ทันที พร้อมทั้งรับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

  เอกชนหนุนสร้างแรงงานรับ AEC ในส่วนของ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเห็นดีด้วย เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แก่วงการอาชีวศึกษาของไทย เพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community : AEC) ในปี 2558 ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการแข่งขันสูงขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ดี บุคลากรผู้ชำนาญการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนำผู้ประกอบการไทยไปสู่ความสำเร็จ

    และในนิคมอุตสาหกรรมอมตะมีสถานประกอบการรวมกว่า 800 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ซึ่งมีความพร้อมที่จะรองรับและให้การสนับสนุนในหลักสูตรดังกล่าว เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา เพราะเนื่องจากที่ผ่านมามีบุคลากรจบการศึกษาระดับชั้นต่างๆ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่กลับมีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้เกิดภาวะการว่างงาน อีกทั้งผู้ประกอบการไม่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ สร้างผลกระทบต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ

   หากโครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากหน่วยงานต่างๆ เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับหลายๆ ฝ่าย ทั้งด้านสถานประกอบการที่ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถสร้างแผนสำรองในการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต ในด้านของสถานศึกษาก็จะสามารถลดการลงทุนในการจัดหาเครื่องจักรหรือชุดฝึกปฏิบัติในการเรียนการสอนได้ รวมทั้งผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ลดปัญหาการว่างงานได้อีกทางหนึ่ง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!