- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Saturday, 28 March 2020 09:31
- Hits: 366
หม่อมเต่า ห่วงใยลูกจ้าง กำชับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำกับดูแลและตรวจสอบนายจ้างที่หยุดกิจการชั่วคราว ให้ใช้มาตรา 75 อย่างเคร่งครัด
รมว.แรงงาน ห่วงใยลูกจ้างที่ต้องหยุดงานจากกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว โดยกำชับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้เข้าไปกำกับดูแลและตรวจสอบนายจ้างที่มีการใช้มาตรา 75 ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้ง ย้ำผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ให้ช่วยติดตามตรวจสอบสถานประกอบกิจการทั่วประเทศที่มีการหยุดกิจการชั่วคราวให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ปิดกิจการ รวมถึง การหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวมาใช้ ซึ่งการหยุดกิจการบางส่วน หรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวนั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สิทธินายจ้างสามารถกระทำได้และมุ่งคุ้มครองทั้งนายจ้างและลูกจ้างไปพร้อมกัน ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่ยังมีความประสงค์ประกอบกิจการต่อไป เพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าวให้คลี่คลายและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างในการดำเนินกิจการให้บรรเทาเบาบางลงไป ก่อนกลับมาเปิดดำเนินกิจการตามปกติได้อีกครั้งและยังเป็นการประคับประคองให้นายจ้างสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่ต้องตกงาน ขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อนในช่วงที่หยุดงานเพราะเหตุดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำได้ตามอำเภอใจ จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมไว้ ดังนี้
– นายจ้างต้องมีเหตุจำเป็นที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
– นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือสถานที่อื่นตามที่ตกลงกันและภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือตามที่ตกลงกันกับลูกจ้าง
– นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
“หากนายจ้างจำเป็นที่จะต้องหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน จะเข้าไปดูแลและตรวจสอบการใช้มาตรา 75 ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web