- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 22 March 2020 19:47
- Hits: 5878
หม่อมเต่า’ ตั้งวอร์รูมศูนย์ปฏิบัติการรองรับผลกระทบโควิด – 19 บูรณาการทุกภาคส่วนอย่างมีเอกภาพ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงาน จากผลกระทบสภาวะโรคระบาด โควิด -19 ของกระทรวงแรงงาน ณ ห้องแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน อำนาจหน้าที่ประสานติดตามข้อมูลสถานการณ์แรงงานทั้งในและต่างประเทศ สร้างเอกภาพ ความเชื่อมั่นแก่สาธารณชน
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงาน จากผลกระทบสภาวะโรคระบาด โควิด -19 ของกระทรวงแรงงาน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร สำหรับศูนย์ข้อมูลฯ ดังกล่าว จัดตั้งขึ้น ณ ห้องแสงสิงแก้ว ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (War Room) ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยศูนย์ฯ มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมและประสานข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ ทั้ง 13 แห่ง และหน่วยงานอื่นของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สำรวจฐานข้อมูลสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ผู้ประกอบการสายการบิน ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก เป็นต้น วางมาตรการในการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง เช่น หาตำแหน่งงานว่าง พัฒนาทักษะฝีมือ ให้สิทธิประโยชน์ และการคุ้มครอง ตามกฎหมายแรงงาน ประสานข้อมูลที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐบาล ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) สำนักโฆษก เป็นต้น
ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ ยังกล่าวถึง มาตรการป้องกันและเยียวยาลดผลกระทบของกระทรวงแรงงานในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ของกระทรวงแรงงาน ในส่วนของแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด -19 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานสอนทำหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือแก่ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปรู้จักวิธีการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ทั้งในและนอกประเทศ สำนักงานประกันสังคมแจ้งให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมมือกับสถานประกอบการ/นายจ้าง เพื่อสำรวจลูกจ้าง หากพบว่ามีการเจ็บป่วยจะต้องประสานส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในทันที และด่านตรวจคนหางาน กรมการการจัดหางาน ณ สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดกรองแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
ส่วนมาตรการในการลดผลกระทบในระยะต่อไป กระทรวงแรงงาน จัดหางาน ตำแหน่งงานว่าง 81,562 อัตรา และจ้างบัณฑิตจบใหม่มาเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ ฝึกอาชีพและจ้างงานเร่งด่วน เป้าหมายรวม 16,790 คน ปี 63 คงเหลือ งบประมาณ 30.89 ล้านบาท จำนวน 863 หลักสูตร ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาฝีมือแรงงานพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ฯ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินกู้และเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ
“กระทรวงแรงงาน เราขอสัญญาว่า เราจะดูแลแรงงานไทยทุกคน โดยใครอยากทำงาน ผมจะหางานให้ทำ ใครอยากมีฝีมือ ผมจะฝึกทักษะฝีมือให้ สิทธิประโยชน์พึงได้ จะต้องได้รับ แรงงานทุกคน ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” รมว.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด
มหาดไทยร่วมมือสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโคโรนา2019 (COVID-19) กรณีแรงงานไทยนอกระบบกลับจากประเทศเกาหลีใต้
ที่ห้องราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานร่วมการประชุมหารือข้อราชการสำคัญของรัฐบาล โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ฝ่ายทหาร) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมดูแลผู้ที่กำลังเดินทางเข้าประเทศซึ่งเดินทางมาจากประเทศที่มีการประกาศความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี อิตาลี และอิหร่าน ในขณะนี้มีแรงงานชาวไทยที่จะเดินทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลี ประมาณ 120,000 คน ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประขาชน จึงขอให้ผู้เดินทางมาจากเกาหลีใต้ทุกคนที่มาจากกักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นแบบกักตัวโดยรัฐ และสำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางมาจาก 2 เมืองกลุ่มเสี่ยง ให้กักตัวที่ภูมิลำเนา (Local quarantine) จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความร่วมมือทางการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างเต็มที่กับกระทรวงมหาดไทย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในวันนี้ เป็นการซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อไปดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ สำหรับมาตรการป้องกันไวรัสโควิค 19 บุคคลที่เดินทางเข้าในไทย กระทรวงสาธารณสุขจะตรวจคัดกรองทุกราย และผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังจะแยกออกไป ทำเหมือนกันทุกประเทศ และสำหรับผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐ (เกาหลีใต้) ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุด จึงมีมาตรการพิเศษคัดกรองคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว โดยมีมาตรการพิเศษ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ผู้ที่มาจากเมืองแทกู และคยองซัง การดูแลของภาครัฐ (State Quarantine) และ 2) ถ้าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ๆ ก็จะไปดูแลในระดับพื้นที่ตามภูมิลำเนา (Local Quarantine) โดยใช้กลไกในพื้นที่ดูแล เป็นเวลา 14 วัน ถ้าไม่มีอาการอะไรก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะเข้ามาดูแล Local Quarantine ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข และฝ่ายทหาร ในการจัดหาสถานที่ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นจะเป็นผู้คัดกรอง และกระทรวงคมนาคมจะส่งตัวกลับไปยังภูมิลำเนา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตามอำเภอ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสมในการหาสถานที่กักตัว โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการเชิงป้องกันในพื้นที่ ในเรื่องการจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนทั่วไป โดยกำลงการผลิตของประเทศอยู่ที่ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ในส่วนนี้เป็นของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 10 ล้านชิ้น คงเหลือ 20 ล้านชิ้นที่จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งในขณะนี้ความต้องการในการใช้หน้ากากอนามัยสูงเกินกว่ากำลังการผลิต ซึ่งได้แนะให้พี่น้องประชาชนเลือกให้หน้ากากอนามัยทางเลือกเป็นทางให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากาก ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่าสามารถใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน และเป็นการลดปริมาณขยะอีกด้วย จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝึกอบรมการจัดทำหน้ากากอนามัย ให้กับ อสม. อาสาสมัคร และจิตอาสาในแต่ละพื้นที่
นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ในด้านการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ในขณะนี้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ทั้งการส่งออก และเพื่อเป็นการป้องกันการกักตุน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ตรวจสอบร้านค้า และควบคุมการจำหน่ายราคาไม่เกินแผ่นละ 2.5 บาท นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้จัดรถ Mobile จำหน่ายหน้ากากอนามัยยังจังหวัดต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้าถึงอย่างทั่วถึงต่อไป
นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเสริมการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประชาสัมพันธ์ ด้วยการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และรักษาสุขภาพให้แข็ง รวมทั้งให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลกันหากพบผู้ป่วยให้พาผู้ป่วยไปรับการเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลในพื้นที่
สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ต้องผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือของทุกคนทุกฝ่าย และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้และเข้าใจถึงการดำเนินงานของภาครัฐ และเชิญชวนประชาชนได้ร่วมกันจัดทำหน้ากากอนามัยทางเลือก หรือ หน้ากากผ้า ไว้ใช้เอง ซึ่งเป็นการช่วยลดโอกาสในการติดเชื้ออีกด้วย.
ก.แรงงาน แถลง แรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ มีมาตรการดูแล คุมเข้ม รัดกุม
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงมาตรการคัดกรองของทางการเกาหลีใต้ ก่อนส่งแรงงานไทยกลับประเทศ เผย รมว.แรงงาน สั่งทูตแรงงานใน สนร. 13 แห่ง ประสานนายจ้างช่วยดูแลคนงานไทย ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ถึงวิธีป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 กรณีแรงงานไทยเจ็บป่วยทูตแรงงานจะประสานทางการเกาหลีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จะบูรณาการข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการอย่างรัดกุม
วันนี้ (6 มี.ค.2563) รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับมาตรการรองรับแรงงานไทยจากสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ติดตามและดูแลคนงานไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างใกล้ชิด โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ห่วงใยแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศทุกคน โดยได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) ทั้ง 13 แห่ง ประสานความร่วมมือกับนายจ้างในสถานประกอบการที่แรงงานไทยทำงานอยู่ เพื่อให้ขอความร่วมมือสถานประกอบการช่วยดูแลคนงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะเดียวกันให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่แรงงานผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์กลุ่ม วัดไทย ชุมชนไทย ร้านไทย อาสาสมัครแรงงาน ให้ทราบข้อมูลและมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.จักษ์ฯ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่พบว่า มีแรงงานไทยมีอาการเข้าข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง 37.5 องศาขึ้นไป หรือมีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ ทางอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) ก็จะเข้าไปดูแลแรงงานเพื่อประสานการส่งต่อให้สามารถเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล สำหรับสาธารณรัฐเกาหลี เป็นประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID - 19) ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้บูรณาการประสานความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลี ในการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยเดินทางกลับประเทศ กรณีแรงงานไทยที่เจ็บป่วยหรือผลการตรวจออกมาเป็นบวก (ติดเชื้อ) ทางการเกาหลีใต้จะส่งรถโรงพยาบาลมารับตัวผู้ป่วยไปเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่กำหนด โดยทางเกาหลีใต้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยไม่จำกัดว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวพำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และชาวไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายจะไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีและไม่ถูกส่งตัวกลับประเทศ หากเข้ารับการตรวจทดสอบหาเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID - 19)
เมื่อแรงงานไทยขึ้นเครื่องและเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว กระทรวงแรงงาน จะร่วมบูรณาการส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยการดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่เดินทางจากเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ ให้เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน มีการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง และ คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จะจัดรถส่งตัวไปพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด 14 วัน 2) กลุ่มที่เดินทางจากเมืองอื่นๆ ในเกาหลีใต้ มีมาตรการ คือ เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคตามภูมิลำเนาโดยกระทรวงมหาดไทยจัดหาสถานที่รองรับในลักษณะพื้นที่จำกัด 14 วัน
56902
ไทย เตรียมมาตรการรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้
นายกรัฐมนตรีมอบหน่วยงานเตรียมมาตรการรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ โดยเฉพาะ 2 เมืองพื้นที่เสี่ยง ให้กักตัวควบคุมโรคทุกราย ประสานทางการเกาหลีหลังรับรายงานตัวให้แรงงานกักตัวเองที่เกาหลี 14 วัน และตรวจคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง
วันนี้ (4 มีนาคม 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมประชุมหารือมาตรการเร่งด่วนรองรับแรงงานเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บริหารจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ คมนาคม แรงงาน กลาโหม มหาดไทย สาธารณสุข ผู้ว่าราชการกทม. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หากแรงงานไทยมีความประสงค์จะเดินทางกลับไทย รัฐบาลยินดีรับกลับ แต่ต้องทำให้ประเทศเราปลอดภัยที่สุด ต้องมีการควบคุมเฝ้าระวังโรค 14 วัน เบื้องต้นจะตรวจร่างกายที่ต้นทางประเทศเกาหลีใต้ก่อนจะขึ้นเครื่องมาประเทศไทย หากพบมีไข้จะกักตัวที่ประเทศเกาหลีใต้ก่อน แต่ถ้าหากพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำการรักษาที่ประเทศเกาหลีใต้จนหาย รัฐบาลจะหาวิธีการดีที่สุด โดยจะปรับแผน เฝ้าระวัง คัดกรองโรคตามสถานการณ์ รวมถึงการจัดเตรียมเวชภัณฑ์ในการรักษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นย้ำว่าต้องการช่วยเหลือคนไทยก่อน และย้ำว่าไม่มีการลอยแพแน่นอน ที่สำคัญเมื่อแรงงานไทยกลับเข้าประเทศต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนในประเทศด้วยว่า คนเหล่านี้จะไม่แพร่เชื้อในวงกว้าง ส่วนเรื่องสถานที่ในการกักตัวต้องมีการประชุมหารืออีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ แรงงานไทยที่ผิดกฎหมายในเกาหลีใต้มีความประสงค์กลับประเทศต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ใช้ระยะเวลาประมาณ 5-15 วัน โดยในช่วงรายงานตัวมีการประสานทางการเกาหลีใต้และสถานทูตไทย เพื่อให้ทางการสามารถตรวจสอบยอดแรงงานไทยที่แน่นอนว่าจะกลับประเทศไทย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการดำเนินการตามมาตรการรองรับแรงงานไทยที่ทยอยเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย ให้มีการคัดกรองทุกคนตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง เมื่อมาถึงประเทศไทยจะคัดกรอง และแยกกลุ่มการจัดการเป็น 3 กลุ่ม กรณีที่พบว่าป่วยหรือสงสัยว่าป่วย จะส่งตัวเข้าระบบการตรวจวินิจฉัย รับไว้รักษาที่โรงพยาบาลที่กำหนดไว้ สำหรับกลุ่มที่ไม่มีอาการป่วยแต่เดินทางมาจากพื้นที่ที่พบความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ จะถูกนำมากักตัวควบคุมโรคไว้ในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งจะเน้นให้อยู่พื้นที่ภูมิลำเนาหรือใกล้เคียง ส่วนกลุ่มแรงงานที่เดินทางมาจากเมืองอื่น จะต้องกักกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยอยู่ในกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขจะหารือกันเพื่อหาสถานที่เหมาะสมต่อไป
กระทรวงแรงงาน เดินหน้ารับข้อสั่งการ นายกฯ มาตรการแรงงานผีน้อย
ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมประชุมเตรียมมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย โดยมี หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุม และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อหามาตรการรองรับที่ชัดเจน หลังจากมีการออกมาตรการทั่วไป
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วนนี้ ได้มีข้อสั่งการให้ติดตามและดูแล คนงานไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างใกล้ชิด โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ดี จะเร่งหารือเพื่อจัดเตรียมมาตรการที่เหมาะสมอย่างเข้มข้น ต่อไป
สำหรับมาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1)กลุ่มที่เดินทางจากเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ ให้เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน มีการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง และ คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จะจัดรถส่งตัวไปพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด 14 วัน 2) กลุ่มที่เดินทางจากเมืองอื่นๆในเกาหลีใต้ มีมาตรการคือ เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคตามภูมิลำเนา โดยกระทรวงมหาดไทยจัดหาสถานที่รองรับในลักษณะพื้นที่จำกัด 14 วัน
จากข้อมูลในระบบศูนย์ทะเบียนคนหางาน มีจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี ณ วันที่ 31 มกราคม 2563 (คน) จำนวน 22,257 คน สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในสาธารณรัฐเกาหลีจากข้อมูล KCDC ณ วันที่ 4 มีนาคม 2563 มีจำนวน 5,328 คน ซึ่งยังไม่พบว่ามีแรงงานไทยเป็นผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดี มีแรงงานไทยที่รายงานตัวกลับประเทศ กับทาง ตม.เกาหลี ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 1 มีนาคม 2563 จำนวน 4,727 คน ซึ่งทั้งหมดนี้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วก่อนที่สาธารณรัฐเกาหลีจะมีการประกาศสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 โดยปัจจุบันมีผู้รายงานตัว ที่อยู่ระหว่างรอตม. พิจารณาประวัติและรอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 1,181 คน
ทั้งนี้ จากข้อมูลเฟสบุ๊ค ชุมชนคนไทยในเกาหลีใต้ ThaikukKR สำรวจความเห็นคนไทยในเกาหลีเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยช่วงไวรัสระบาด พบว่า ร้อยละ 77 ไม่กลับ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 23 ต้องการกลับประเทศไทย
ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน’ ให้สัมภาษณ์ถึง 'มาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ป้องกัน COVID-19 พร้อมช่วยเหลือแรงงานไทยทุกคน’
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ในรายการ NBT มีคำตอบ เกี่ยวกับมาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 พร้อมให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยทุกคนให้ได้รับความปลอดภัยตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนด
รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ในรายการ NBT มีคำตอบ เกี่ยวกับมาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBT ช่อง 2HD โดย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า “มาตรการระยะเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ได้มีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ติดตามและดูแลคนงานไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างใกล้ชิด โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับ มาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
คือ 1) กลุ่มที่เดินทางจากเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ ให้เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน มีการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง และ คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จะจัดรถส่งตัวไปพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด 14 วัน 2) กลุ่มที่เดินทางจากเมืองอื่นๆ ในเกาหลีใต้ มีมาตรการ คือ เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคตามภูมิลำเนา โดยกระทรวงมหาดไทยจัดหาสถานที่รองรับในลักษณะพื้นที่จำกัด 14 วัน”
“ขอให้พี่น้องแรงงานไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้ รวมถึงญาติพี่น้องของแรงงานไทยมั่นใจได้ว่า มาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ของรัฐบาล กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการช่วยเหลือแรงงานไทยทุกคนให้ได้รับความปลอดภัยตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนด ขณะเดียวกันเอง แรงงานไทยสามารถรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของทางการเกาหลีใต้เพื่อแจ้งความประสงค์กลับประเทศไทยได้ตามความสมัครใจ เนื่องจาก ตม.ทางการเกาหลี ไม่ดำเนินคดีข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ไม่ดำเนินคดีข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต และไม่ถูกแบล็คลิสต์ และเมื่อกลับมาประเทศไทยแล้วแรงงานไทยทุกคนจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐบาลไทยตามมาตรการที่กำหนด เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับไปยังภูมิลำเนา เพื่อประกอบอาชีพตามความต้องการต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานเองอยากให้แรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ ไปแบบถูกต้องตามกฎหมายใน 5 วิธี คือ 1) บริษัทจัดหางานจัดส่งไป 2) กรมการจัดหางานจัดส่ง 3) เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง 4) นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไทยไปทำงาน และ 5) นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไทยไปฝึกงาน โดยแรงงานไทยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด