- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Saturday, 07 March 2020 10:59
- Hits: 2218
กกจ. คลอดด่วน'ข้อสั่งการ มาตรการเร่งด่วน'รับมือแรงงานกลับจากประเทศเสี่ยงโควิด-19
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย กรมการจัดหางาน ออกหนังสือด่วน ประกาศข้อสั่งการและมาตรการเร่งด่วน เพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยระยะแรกจะเร่งประสานแจ้งข้อมูลคนงานที่เดินทางกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อมอบหมายจัดหางานจังหวัดดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วน
กรมการจัดหางาน สั่งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรค หากเป็นสมาชิกกองทุนฯ จะมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศนั้นๆได้ประกาศกำหนดแล้ว จำนวน 15,000 บาท
นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศอย่างหลากหลาย เพื่อให้แรงงานไทยที่มีความประสงค์จะหางานทำ ได้สมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ ในส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์จะทำงานในสถานประกอบการ ยังมีอาชีพเทรนด์ใหม่ ที่ทำรายได้ดีในขณะนี้ ได้แก่ บริการดูแลผู้สูงอายุ บริการรับ-ส่งอาหาร (Food Delivery) และบริการร้านอาหารตามออร์เดอร์ทางออนไลน์ โดยทางกรมการจัดหางานพร้อมให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงาน ข้อมูลตำแหน่งว่างงาน แนะนำการเตรียมความพร้อมในการสมัครงานสำหรับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพอิสระ แนะนำแหล่งเงินทุน และแหล่งฝึกอาชีพ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดรายได้ และการสำรวจความต้องการ เพื่อดำเนินการให้แรงงานกลับไปทำงานในต่างประเทศตามความประสงค์ภายหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“กรมการจัดหางาน ห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และจะดำเนินการเชิงรุก พร้อมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัด เพื่อให้แรงงานไทยทุกคนได้รับบริการด้านการส่งเสริมการมีงานทำต่อไป”นายสุชาติฯ กล่าว
รมว.แรงงาน ลงดาบ ระงับการเดินทางคนงานไทย หลังพบพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ
กระทรวงแรงงาน เผยสถิติเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระงับการเดินทางผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ 260 คน สั่งระงับการเดินทางไปเกาหลีใต้มากสุด จำนวน 220 คน ขณะที่มีคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 6,156 คน พบส่วนใหญ่ยังคงนิยมไปทำงานที่ไต้หวัน เตือนคนหางาน ให้ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ สั่งเข้มมาตรการลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เผยสถิติเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สั่งระงับการเดินทางของคนหางานที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 260 คน โดยระงับไปเกาหลีใต้มากที่สุด จำนวน 220 คน รองลงมาเป็นบาห์เรน จำนวน 22 คน โอมาน จำนวน 8 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 5 คน กาตาร์ จำนวน 4 คน และอินเดีย จำนวน 1 คน ขณะที่มีคนหางานเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งหมด จำนวน 6,156 คน ส่วนใหญ่ไปทำงานในแถบทวีปเอเชียมากที่สุด จำนวน 4,509 คน 2 อันดับแรก คือ 1. ไต้หวัน 2,725 คน 2. เกาหลีใต้ 841 คน รองลงมาเป็นประเทศในแถบตะวันออกกลาง 723 คน และประเทศในแถบยุโรป 481 คน
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีมาตรการตรวจเข้มคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยได้สั่งการเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานประจำท่าอากาศยานต่างๆ เข้มงวด ตรวจสอบและระงับการเดินทางผู้ที่มีพฤติกรรมและต้องสงสัยว่าจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ พร้อมกับชี้แจงให้ทราบถึงการไปทำงานหรือฝึกงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
“สาธารณรัฐเกาหลียังคงเป็นประเทศที่ถูกระงับการเดินทางมากที่สุด และคนงานไทยมีกระแสนิยมไปทำงานมากขึ้นเพราะได้รับอัตราค่าจ้างที่สูง ประกอบกับนายจ้างต้องการจ้างแรงงานไทยเนื่องจากขยัน อดทน จึงทำให้มีแรงจูงใจไปทำงานมากขึ้นซึ่งทางด่านตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลีก็เพิ่มความเข้มงวดคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นเช่นกันเพราะปัจจุบันการเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีไม่ต้องใช้วีซ่า ที่ผ่านมาพบว่า แรงงานไทยที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงาน ที่สาธารณรัฐเกาหลีนิยมแอบแฝงไปกับบริษัททัวร์ที่มีโปรแกรมท่องเที่ยวในเกาหลี และเมื่อเดินทางถึงสนามบิน ก็จะแยกออกจากกรุ๊ปทัวร์ทันที หรืออาจจะเที่ยวตามโปรแกรมทัวร์จนครบกำหนดการ แต่เมื่อถึงวันเดินทางกลับก็หลบหนีออกจากโรงแรมที่พักเพื่อหาทางไปยังสถานที่ทำงานของนายจ้างชาวเกาหลี
ขณะที่ การทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมายทำได้ 2 วิธี คือ 1. ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) อนุญาตให้ทำงานได้ 5 กิจการคือ 1) กิจการอุตสาหกรรมการผลิต 2) กิจการเกษตรกรรม/ปศุสัตว์ 3) กิจการก่อสร้าง 4) กิจการประมง 5) กิจการบริการ และ “ จะต้องผ่านการทดสอบทักษะและภาษาเกาหลี ” ก่อนจึงจะได้รับการจัดส่งรายชื่อให้นายจ้างเกาหลีคัดเลือกให้เข้าไปทำงาน 2. แรงงานต่างชาติประเภทช่างฝีมือ ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติหรือขอวีซ่าจากกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐเกาหลี
นายสุชาติฯ กล่าวอีกว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญกับปัญหาแรงงานไทยหลบหนีเป็นแรงงานผิดกฎหมาย โดยได้แจ้งเตือนคนหางานนับตั้งแต่วันที่ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้าง แรงงานไทยที่หลบหนีไปทำงานอย่างผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานและสวัสดิการใดๆ ทั้งจากการถูกโกงค่าแรง ทำร้าย รวมทั้ง กรณีเจ็บป่วย พิการหรือเสียชีวิต จะไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เอง ดังนั้น จึงขอให้แรงงานไทยอย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนให้ไปทำงานในต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของคนไทย และไม่ให้กระทบต่อคนไทยที่ปฏิบัติถูกต้อง
ก.แรงงาน แถลง แรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ มีมาตรการดูแล คุมเข้ม รัดกุม
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงมาตรการคัดกรองของทางการเกาหลีใต้ ก่อนส่งแรงงานไทยกลับประเทศ เผย รมว.แรงงาน สั่งทูตแรงงานใน สนร. 13 แห่ง ประสานนายจ้างช่วยดูแลคนงานไทย ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ถึงวิธีป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 กรณีแรงงานไทยเจ็บป่วยทูตแรงงานจะประสานทางการเกาหลีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จะบูรณาการข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการอย่างรัดกุม
รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับมาตรการรองรับแรงงานไทยจากสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ติดตามและดูแลคนงานไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างใกล้ชิด โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ
ในส่วนของกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ห่วงใยแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศทุกคน โดยได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) ทั้ง 13 แห่ง ประสานความร่วมมือกับนายจ้างในสถานประกอบการที่แรงงานไทยทำงานอยู่ เพื่อให้ขอความร่วมมือสถานประกอบการช่วยดูแลคนงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะเดียวกันให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่แรงงานผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์กลุ่ม วัดไทย ชุมชนไทย ร้านไทย อาสาสมัครแรงงาน ให้ทราบข้อมูลและมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.จักษ์ฯ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่พบว่า มีแรงงานไทยมีอาการเข้าข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง 37.5 องศาขึ้นไป หรือมีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ ทางอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) ก็จะเข้าไปดูแลแรงงานเพื่อประสานการส่งต่อให้สามารถเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล สำหรับสาธารณรัฐเกาหลี เป็นประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID - 19) ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้บูรณาการประสานความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลี ในการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยเดินทางกลับประเทศ กรณีแรงงานไทยที่เจ็บป่วยหรือผลการตรวจออกมาเป็นบวก (ติดเชื้อ) ทางการเกาหลีใต้จะส่งรถโรงพยาบาลมารับตัวผู้ป่วยไปเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่กำหนด
โดยทางเกาหลีใต้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยไม่จำกัดว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวพำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และชาวไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายจะไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีและไม่ถูกส่งตัวกลับประเทศ หากเข้ารับการตรวจทดสอบหาเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID - 19)
เมื่อแรงงานไทยขึ้นเครื่องและเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว กระทรวงแรงงาน จะร่วมบูรณาการส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยการดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่เดินทางจากเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ ให้เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน มีการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง และ คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จะจัดรถส่งตัวไปพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด 14 วัน 2) กลุ่มที่เดินทางจากเมืองอื่นๆ ในเกาหลีใต้ มีมาตรการ คือ เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคตามภูมิลำเนาโดยกระทรวงมหาดไทยจัดหาสถานที่รองรับในลักษณะพื้นที่จำกัด 14 วัน
มหาดไทยร่วมมือสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโคโรนา2019 (COVID-19) กรณีแรงงานไทยนอกระบบกลับจากประเทศเกาหลีใต้
ที่ห้องราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานร่วมการประชุมหารือข้อราชการสำคัญของรัฐบาล โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ฝ่ายทหาร) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมดูแลผู้ที่กำลังเดินทางเข้าประเทศซึ่งเดินทางมาจากประเทศที่มีการประกาศความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี อิตาลี และอิหร่าน ในขณะนี้มีแรงงานชาวไทยที่จะเดินทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลี ประมาณ 120,000 คน ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประขาชน จึงขอให้ผู้เดินทางมาจากเกาหลีใต้ทุกคนที่มาจากกักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นแบบกักตัวโดยรัฐ และสำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางมาจาก 2 เมืองกลุ่มเสี่ยง ให้กักตัวที่ภูมิลำเนา (Local quarantine) จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความร่วมมือทางการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างเต็มที่กับกระทรวงมหาดไทย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในวันนี้ เป็นการซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อไปดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ สำหรับมาตรการป้องกันไวรัสโควิค 19 บุคคลที่เดินทางเข้าในไทย กระทรวงสาธารณสุขจะตรวจคัดกรองทุกราย และผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังจะแยกออกไป ทำเหมือนกันทุกประเทศ และสำหรับผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐ (เกาหลีใต้) ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุด จึงมีมาตรการพิเศษคัดกรองคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว โดยมีมาตรการพิเศษ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ผู้ที่มาจากเมืองแทกู และคยองซัง การดูแลของภาครัฐ (State Quarantine) และ 2) ถ้าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ๆ ก็จะไปดูแลในระดับพื้นที่ตามภูมิลำเนา (Local Quarantine) โดยใช้กลไกในพื้นที่ดูแล เป็นเวลา 14 วัน ถ้าไม่มีอาการอะไรก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะเข้ามาดูแล Local Quarantine ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข และฝ่ายทหาร ในการจัดหาสถานที่ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นจะเป็นผู้คัดกรอง และกระทรวงคมนาคมจะส่งตัวกลับไปยังภูมิลำเนา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตามอำเภอ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสมในการหาสถานที่กักตัว โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการเชิงป้องกันในพื้นที่ ในเรื่องการจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนทั่วไป โดยกำลงการผลิตของประเทศอยู่ที่ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ในส่วนนี้เป็นของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 10 ล้านชิ้น คงเหลือ 20 ล้านชิ้นที่จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งในขณะนี้ความต้องการในการใช้หน้ากากอนามัยสูงเกินกว่ากำลังการผลิต ซึ่งได้แนะให้พี่น้องประชาชนเลือกให้หน้ากากอนามัยทางเลือกเป็นทางให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากาก ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่าสามารถใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน และเป็นการลดปริมาณขยะอีกด้วย จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝึกอบรมการจัดทำหน้ากากอนามัย ให้กับ อสม. อาสาสมัคร และจิตอาสาในแต่ละพื้นที่
นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ในด้านการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ในขณะนี้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ทั้งการส่งออก และเพื่อเป็นการป้องกันการกักตุน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ตรวจสอบร้านค้า และควบคุมการจำหน่ายราคาไม่เกินแผ่นละ 2.5 บาท นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้จัดรถ Mobile จำหน่ายหน้ากากอนามัยยังจังหวัดต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้าถึงอย่างทั่วถึงต่อไป
นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเสริมการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประชาสัมพันธ์ ด้วยการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และรักษาสุขภาพให้แข็ง รวมทั้งให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลกันหากพบผู้ป่วยให้พาผู้ป่วยไปรับการเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลในพื้นที่
สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ต้องผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือของทุกคนทุกฝ่าย และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้และเข้าใจถึงการดำเนินงานของภาครัฐ และเชิญชวนประชาชนได้ร่วมกันจัดทำหน้ากากอนามัยทางเลือก หรือ หน้ากากผ้า ไว้ใช้เอง ซึ่งเป็นการช่วยลดโอกาสในการติดเชื้ออีกด้วย.
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web