- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Friday, 03 January 2020 11:43
- Hits: 3849
20 ผลงานเด่น ประกันสังคม ปี 62 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนครอบคลุมในทุกมิติกับ "ประกันสังคมทั่วไทย”
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่าภารกิจของกองทุนประกันสังคมมีหน้าที่คุ้มครองจ่ายสิทธิประโยชน์ ให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนในเรื่องของการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตรและว่างงาน หน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานภาคอิสระให้มีหลักประกันรายได้ และภารกิจของกองทุนเงินทดแทนมีหน้าที่คุ้มครองลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียสมรรถภาพ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ตลอดปี พ.ศ. 2562
สำนักงานประกันสังคมดำเนินการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตน พัฒนาระบบบริหารจัดการทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนและนายจ้าง รวมทั้งพัฒนาองค์กรให้มีความโดดเด่นสู่องค์กรที่มีความเป็นเลิศจนได้รับ รางวัลต่างๆ ปรากฏผลงานที่โดดเด่น จำนวนรวม 20 ผลงาน โดยแยกเป็น 2 กองทุน คือ
10 ผลงานเด่น กองทุนประกันสังคม
- จ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนทุกมาตราในระบบประกันสังคม (33,39,40)
คลอบคลุมทุกมิติ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้กฎหมายประกันสังคม 16.55 ล้านคน และจ่ายประโยชน์ทดแทนแล้วทั้งสิ้น 37.48 ล้านครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 61,145.95 ล้านบาท
- รู้ทันโรคไว ประกันสังคมห่วงใย ให้ตรวจสุขภาพฟรี
ดำเนินการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และดำเนินการแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ให้สามารถตรวจสุขภาพในสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม และสถานพยาบาลที่ทำความตกลง ปัจจุบันมีสถานพยาบาลให้บริการแล้วจำนวน 765 แห่ง มีผู้ตรวจสุขภาพแล้วจำนวน 1,502,989 คน
- ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่สะดวกรวดเร็ว ทันสมัย ได้มาตรฐาน เดินหน้าปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ โดยเพิ่มบริการทางการแพทย์ ดังนี้
1) ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพกรณีบำบัดทดแทนไต เพื่อให้ผู้ทุพพลภาพ ที่ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น โดยสามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนภายใต้ระบบประกันสังคม จากเดิมที่ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้นรวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้แก่ผู้ทุพพลภาพที่ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
2) การรักษาโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเข้าถึงบริการที่เป็นมาตรฐาน มีคุณภาพและปลอดภัย สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าแก่ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง 20 โรค
- ประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ
ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุม และเหมาะสมกับประชาชนทุกเพศ ทุกวัย เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน โดยดำเนินการ ดังนี้
1) ขับเคลื่อนโครงการขยายผลสู่ระดับพื้นที่ การดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านประกันสังคม ถ้วนหน้า ครอบคลุม 513 บ้าน มีผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 20,324 ราย ผ่านกลไกภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ โดยสำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา ลงพื้นที่ในหมู่บ้าน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ เพื่อให้แรงงานนอกระบบ เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต
2) สำนักงานประกันสังคมสร้างเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 อาทิ อาสาสมัครแรงงาน อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำเครือข่ายและผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ ปัจจุบันมีจำนวนเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 4,422 ราย มีผู้ประกันตนสมัครผ่านเครือข่ายประกันสังคมแล้วจำนวนทั้งสิ้น 27,946 ราย
3) บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติภายใต้หลักการ “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) โดยสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ข่าวสารสร้างกลไกการรับรู้และเข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40
4) ร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเพิ่มช่องทางการรับขึ้นทะเบียนและรับเงินสมทบผู้ประกันตน มาตรา 40 ดังนี้
4.1) เว็บไซต์ www.sso.go.th. มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 69,724 คน
4.2) เคาน์เตอร์เซอร์วิส มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 12,589 คน
4.3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 63 คน
4.4) ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม Contact Center 1506 มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 94 คน ปัจจุบันมีผู้ประกันตนมาตรา 40 แล้ว จำนวน 3,201,053 ล้านคน
- การคืนสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39
เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้อีกครั้ง โดยการออกพระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 ห้วงเวลา 1 ปี (20 เม.ย. 61 - 19 เม.ย.62 ) ผู้ประกันตนที่กลับเข้าสู่ระบบจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยมีผู้ประกันตนคืนสิทธิทั้งสิ้น จำนวน 385,232 คน
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน โดยการพัฒนาการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Service)
1) สถานประกอบการที่ชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมผ่านระบบ e – Payment อำนวยความสะดวกให้สถานประกอบการสามารถชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมรายเดือนผ่านระบบ e-payment ปัจจุบันมีสถานประกอบการใช้บริการช่องทางชำระเงินผ่านระบบ e-payment แล้ว ร้อยละ 38 (ณ พ.ย.62)
2) สถานประกอบการนำส่งข้อมูลเงินสมทบผู้ประกันตนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Filing) อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการโดยพัฒนาระบบให้แก่นายจ้างในการยื่นแบบ เงินสมทบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ให้กับผู้ประกันตน จำนวน 9,112,921 คน จากผู้ประกันตนที่ชำระเงินสมทบทั้งหมด จำนวน 11,391,940 คน คิดเป็น ร้อยละ 79.99 (ณ ต.ค.2562)
3) พัฒนาระบบใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e–receipt) ทำให้นายจ้างได้รับใบเสร็จรับเงินผ่านระบบออนไลน์ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ณ ตุลาคม 2562 นายจ้างได้รับใบเสร็จรับเงินผ่านระบบออนไลน์จำนวน 3.29 ล้านรายการ
4) ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตนผ่าน Application บนมือถือ “SSO Connect Mobile”ผู้ประกันตนดาวน์โหลด Application บนมือถือ “SSO Connect Mobile” สามารถตรวจสอบข้อมูล ได้แก่ ยอดเงินสะสมกรณีชราภาพ ตรวจสอบเงินสมทบ ตรวจสอบการเบิกจ่าย สิทธิประโยชน์และเปลี่ยนสถานพยาบาล ณ กันยายน 2562 มีผู้ใช้บริการแล้วทั้งสิ้น 2.23 ล้านราย
5) พัฒนาระบบฐานข้อมูลสถานประกอบการ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำให้นายจ้างนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมและเปลี่ยนแปลงข้อมูลนายจ้างโดยอัตโนมัติ โดยสำนักงานประกันสังคมออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องกำหนดรายการ และวิธีการยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนและแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ 16 ตุลาคม 2562 จำนวนนายจ้างนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2562 จำนวน 15,503 ราย นอกจากนี้ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสถานประกอบการได้ส่งผลต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก ให้ดีขึ้นอีกด้วย
- สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้นำในเวทีโลกที่โดดเด่นในปี 2562
1) การประชุมระดับนานาชาติ สำนักงานประกันสังคมได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นวิทยากรฝึกอบรม (Trainer) และผู้ร่วมเสวนา (Panelist) ในการประชุมระหว่างประเทศ อาทิ
- ผู้เข้าร่วมเสวนาในการประชุมการประกันสังคมโลก (World Social Security Forum) โดยเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ Towards universal social protection ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม 2562 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
- ผู้เข้าร่วมเสวนาในสัปดาห์ความคุ้มครองทางสังคมโลก (Global Social Protection Week) ในหัวข้อ Building sustainable pension systems ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
- วิทยากรฝึกอบรมให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการประกันสังคม เมียนมาร์ (Social Security Board) เพื่อการปฏิรูประบบประกันสังคมของประเทศเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 62 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์
2) การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานประกันสังคมร่วมมือกับ ILO ในการเสริมสร้างศักยภาพสำนักงานประกันสังคมด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยและการวิจัย ด้านการกำหนดนโยบายประกันสังคม โดยมุ่งเน้นที่การวิจัยและงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ระยะเวลาโครงการ 4 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ซึ่งโครงการนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะส่งผลให้บุคลากรของสำนักงานประกันสังคมได้มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยและการวิจัยในระดับนานาชาติมีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนในการกำหนดนโยบายที่ดีและการปฏิรูปที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอและระบบที่มีสเถียรภาพ ยั่งยืนตลอดไป
3) สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานต้นแบบในการให้หน่วยงานต่างประเทศเข้าศึกษาดูงานเพื่อพัฒนางานด้านประกันสังคม จากผลการดำเนินงานในปี 2562 มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานทั้งสิ้น 7 หน่วยงานในหลายๆ ประเทศ อาทิ ลาว เนปาล พม่า มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 68 คน
- การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง
เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานประมงในด้านสุขภาพและสวัสดิการในด้านต่างๆ โดยขอให้เจ้าของเรือจัดให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการ ได้แก่ (1) การคุ้มครองด้านสุขภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (2) เงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (3) เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (4) เงินทดแทน กรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน. โดยสำนักงานประกันสังคม ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานประมง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศพระราชกิจจานุเบกษาโดยจะมีแรงงานประมงที่จะได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น จำนวน 26,034 คน
- รางวัลการันตีความสำเร็จในเวทีระดับประเทศและนานาชาติในปี 2562 ดังนี้
1) สำนักงานประกันสังคม ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ “ในระดับดีเด่น” ประจำปี 2562 ในผลงานเรื่อง ‘Contact Center 1506 สปส.’ โดยเข้ารับโล่รางวัลเลิศรัฐ จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2562 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งรางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่สามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพการให้บริการจนประสบผลสำเร็จ ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งโส เป็นธรรมและเป็นที่พึงพอใจ
2) รางวัลการสนับสนุนนโยบายตามโครงการยกเลิกสำเนาเอกสารทางราชการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้ประกาศผลสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี 2562 พร้อมทั้งมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล “Digital Government Awards 2019” เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 รางวัลดังกล่าวตอบสนองนโยบาลรัฐบาลในเรื่องการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และลดภาระในการจัดเตรียมสำเนาเอกสาร เมื่อต้องมาติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นยังเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเข้าด้วยกัน โดยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน จะทำให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
3) รางวัล Friendly Design Awards ประจำปี 2019 ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับรางวัล ตัวอย่างที่ดีด้านการออกแบบ Friendly Design โดยมีการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้มีการคำนึงถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้ใช้รถเข็น ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัย และมีความเท่าเทียมกันในการได้รับบริการ จากมูลนิธิอารยสถาปัตย์ ได้จัดงานThailand Friendly Design Expo 2019 : อารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ณ ฮอลล์ 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นนทบุรี
4) รางวัลความคุ้มครองด้านการประกันสังคมโดดเด่น (Insurance Coverage Recognition Award) เรื่อง การส่งเสริมการตรวจสุขภาพในสถานประกอบการ (Health Promotion and Disease Prevention at the Enterprises) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมการประกันสังคมอาเซียน (ASEAN Social Security Association: ASSA) ครั้งที่ 36 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2562 ณ ประเทศบรูไน
- สำนักงานประกันสังคมร่วมกับ 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำเนินการ “โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อต้นปี 2561 โดยสำนักงานประกันสังคมสนับสนุนเงินฝากให้แต่ละธนาคารในการนำไปปล่อยกู้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ปัจจุบันอนุมัติสินเชื่อให้สถานประกอบการ จำนวน 1,717 แห่ง เป็นเงิน 7,405.46 ล้านบาท
10 ผลงานเด่น กองทุนเงินทดแทน
- สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองลูกจ้าง เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียสมรรถภาพ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ครอบคลุมลูกจ้าง 11.72 ล้านคน จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างในปี 2562 แล้ว 78,230 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 199.34 ล้านบาท
- แก้ไขกฎหมายเงินทดแทนเพื่อขยายความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน
1) ขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างส่วนราชการ ลูกจ้างของสมาคม มูลนิธิ และลูกจ้างองค์กรระหว่างประเทศ กว่า 1.06 ล้านคน ให้เข้าสู่กองทุนเงินทดแทน ทำให้ปัจจุบันมีลูกจ้างที่อยู่ใต้ภายความคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทนแล้ว จำนวน 11.72 ล้านคน (ณ พ.ย.2562)
2) ขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างในกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน นายจ้างที่ประกอบกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่ 20 มีนาคม 2562 ปัจจุบันมีนายจ้างจำนวน 2,053 ราย จำนวนลูกจ้าง 25,194 คน ที่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน
- แก้ไขกฎหมายเงินทดแทนเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ดังนี้
1) เพิ่มอัตราค่าทดแทนเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง จากเดิมร้อยละ 60 ของค่าจ้าง เพิ่มค่าทำศพกรณีตายหรือสูญหาย เป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของค่าจ้าง (40,000 บาท) จากเดิมไม่เกิน 100 เท่า (33,000 บาท) เพิ่มระยะเวลาจ่ายเงินทดแทนกรณีลูกจ้างตายหรือสูญหายเป็น 10 ปี จากเดิม 8 ปี กรณีทุพพลภาพ เพิ่มระยะเวลาจ่ายเงินทดแทนเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปีจากเดิมไม่เกิน 15 ปี
2) เพิ่มค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกจ้างเมื่อเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษา เมื่อลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ จากเดิมที่สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย เพิ่มค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัด เดิม 110,000 บาท เป็น 140,000 บาท คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมกราคม 2563
- ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ดำเนินโครงการเพื่อลดอัตราการประสบอันตราย และเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ให้มีการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม จัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์ไบเทค บางนา มีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรมกว่า 15,000 คน
- คลินิกโรคจากการทำงาน กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน “โครงการศูนย์โรคจากการทำงาน” เพื่อดูแล รักษา วินิจฉัยโรค สร้างระบบป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ โดยการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นได้ ฟรี ที่ ‘คลินิกโรคจากการทำงาน’ โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการ 114 แห่ง ให้บริการทั้งเชิงรุก และเชิงรับ ช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ดูแลลูกจ้างได้ครอบคลุมและทั่วถึง
- ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานแก่ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานและผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ โดยให้การฟื้นฟูครบทุกด้าน ทั้งด้านการแพทย์ อาชีพ จิตใจและสังคม และส่งเสริมด้านกีฬาคนพิการและการมีงานทำของผู้จบการฟื้นฟูฯ มีผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,262 คน จบการฟื้นฟูฯ 383 คน (กลับประกอบอาชีพกับนายจ้างเดิม 233 คน นายจ้างใหม่ 46 คน ประกอบอาชีพอิสระ 101 คน และเสียชีวิต 3 คน)
- การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระรวม 366 คน เช่น
1) การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสภาพความพิการของผู้ทุพพลภาพ เป็นการบูรณาการกับท้องถิ่นในการปรับสภาพบ้านให้มีความเหมาะสมสภาพความพิการ เช่น ทางลาด ราวจับในห้องน้ำ สุขภัณฑ์ โต๊ะ เตียง เป็นต้น
2) โครงการ Smart Farmer เกษตรอัจฉริยะ เป็นการฟื้นฟูด้านอาชีพสำหรับคนพิการ ในการปลูกผักในโรงเรือนหรือปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
3) การจัดทำอุปกรณ์ในการฝึกอาชีพและประกอบอาชีพสำหรับผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการประดิษฐ์หรือดัดแปลงอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความพิการสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้
4) การจัดทำกายอุปกรณ์เสริมและกายอุปกรณ์เทียม เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ สำหรับผู้เข้ารับการฟื้นฟูที่มีการบาดเจ็บที่ส่งผลให้มีการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียการทำงานของอวัยวะอย่าง เช่น เครื่องช่วย เครื่องดามฯลฯ
- สำนักงานประกันสังคมทำความร่วมมือในการฝึกอบรบบุคลากรระหว่างประเทศสมาชิกสมาคม ประกันสังคมอาเซียน (ASSA) ครั้งที่ 5 หลักสูตรการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2562 ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1 ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมอบรม 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศเมียนมา ประเทศฟิลิปินส์ และประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งการทำความร่วมมือในการฝึกอบรมครั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร ไปปรับใช้กับบริบทของประเทศตนเอง โดยเฉพาะการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจและสังคม
ซึ่งมีความสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมกับสหวิชาชีพอื่นๆ โดยเน้นผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นศูนย์กลาง และการดูแลแบบองค์รวม (Holistic care)รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพให้เหมาะสมกับ บุคคล และสภาวการณ์จนสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้รับบริการ และสามารถกลับไปประกอบอาชีพได้จริง รวมทั้งการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และนำเทคโนโลยีด้านการแพทย์มาใช้ในกระบวนการฟื้นฟูฯส่งผลต่อกระบวนการฟื้นฟูฯ ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดจ้างงานคนพิการ 100 : 1 เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้รับการจัดจ้างมากขึ้น เป็นต้น
- ประกันสังคมเยี่ยม ลูกจ้างที่ป่วย ผู้ทุพพลภาพทุกราย และผู้ป่วยหลังภาวะวิกฤต ในวันสำคัญๆ และโอกาสพิเศษต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ สร้างความอบอุ่น เพื่อรับทราบปัญหา เพื่อให้ผู้ทุพพลภาพได้รับการดูแลที่ดี เพื่อให้ผู้ประกันตนมีความพึงพอใจต่อการให้บริการ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยในปี 2562 ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 23,313 คน
- พัฒนาระบบการออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) กองทุนเงินทดแทน เพื่อให้นายจ้าง และผู้ประกันตนได้รับการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบใหม่ๆ หลากหลายผ่านช่องทางการให้บริการที่เป็นตัวแทนของสำนักงานประกันสังคมได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนในการติดต่อขอรับบริการของประชาชนเป็นการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการชำระเงินสมทบ
นายทศพลฯ ยังกล่าวต่ออีกว่าผลงานที่ปรากฏนั้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาการให้บริการทุกด้านเพื่อตอบสนองแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และสถานประกอบการให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้งานประกันสังคมเป็น “ประกันสังคมทั่วไทย” ให้ได้ในเร็ววันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล และนโยบายรัฐบาลในการที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web