- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Thursday, 05 September 2019 18:36
- Hits: 3068
รมว.แรงงาน เปิดงานวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานเพื่อก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษการสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ เรื่อง’แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานเพื่อก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต กรณีศึกษา : แรงงานในภาคการผลิต ภาคบริการท่องเที่ยว ภาคเกษตรและแรงงานสูงอายุ’ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษการสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ เรื่อง "แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาแรงานเพื่อก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต กรณีศึกษา : แรงงานในภาคการผลิต ภาคบริการท่องเที่ยว ภาคเกษตรและแรงงานสูงอายุ" ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางสังคมและเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วและทันสมัย เทคโนโลยี Fintech ในภาคการเงินและการธนาคาร รวมถึงเทคโนโลยีในรูปแบบอื่นๆ ที่จะถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เรียกว่า Al เข้ามาแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรมและบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การขนส่งสินค้า การบริหารจัดการ ไปจนถึงด้านการแพทย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรมก็มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้มีมาตรฐาน ลดต้นทุน หรือช่วยในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ เมื่อเทคโนโลยีและ AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตแล้ว ย่อมมีผลต่อการทำงานของมนุษย์ การจ้างงาน การใช้กำลังแรงงาน โดยหลายฝ่ายกังวลว่าแรงงานในหลายๆ อาชีพจะหายไป
โดยจากรายงานของ OECD ประเมินว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า 14% ของแรงงานมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และอีก 30% เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทักษะที่ใช้ในการทำงานอย่างมาก นอกจากนี้ งานศึกษาของ World Bank เรื่อง "ในมิติความเสี่ยงด้านหุ่นยนต์แย่งงานคน" พบว่าระยะหลังเริ่มเห็นแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets โดยวัดจากจำนวนสต็อกของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งไทยติดอยู่ในอันดับตันๆ ในกลุ่มนี้ และคาดว่าไทยจะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้นเพราะคุ้มค่าต่อการลงทุนหากดูจากปัจจัย ด้านค่าจ้างแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระยะเวลาการใช้งาน
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังก่อให้เกิดความท้าทายครั้งใหญ่ขึ้นในโลกของการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากคนทำงาน platform ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของ sharing economy เช่น บริการเรียกรถ taxi ออนไลน์ บริการรับส่งสินค้า หรือแม้กระทั่งการที่คนทั่วไปสามารถให้เช่าบ้านหรือห้องของตนเองผ่าน platform ออนไลน์ได้ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้การดำเนินงานด้านแรงงานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่น และก้าวทันต่อบริบทความเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้นของการประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะ ที่คนทำงานจะต้องมีทัศนคติที่พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ ตลอดเวลา
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน ภายใต้นโยบายการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 ที่ระบุไว้ในนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้หมาย และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน หรือ EEC ภายใต้นโยบาย "ประเทศไทย ๔.๐ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าศักยภาพของคนเป็นปัจจัยสำคัญและเมื่อรวมกับเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลแล้ว ก็จะสามารถนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีรายได้ประชากรที่สูง บนพื้นฐานของความเท่าเทียมทางสังคม ดังนั้นภารกิจด้านแรงงานถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมความพร้อมในทุนมนุษย์ที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการผลิต
รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ ผลิตภาพแรงงาน และการประกันสังคมซึ่งเชื่อมโยงและเกี่ยวกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ยุค "workforce transformation" ผมเชื่อว่าอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย คือทำอย่างไรแรงงานไทยจะปรับเปลี่ยนจากประเทศพัฒนาระดับกลางอย่างทุกวันนี้ไปเป็นแรงงานที่มีศักยภาพนำไปสู่การปฏิรูปกำลังแรงงาน เพื่อยกระดับทุนมนุษย์ของประเทศให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและระบบการผลิตในยุค Thailand 4.0 และบริหารจัดการกำลังคนทั้งระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD โดยในส่วนของกระทรวงแรงงานได้เตรียมการรองรับการขับเคลื่อนแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ดังนี้
ประการแรก คือ การพัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ยกระดับฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) เพื่อให้แรงงานมีฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น การยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลทั้ง S-Curve และ New S-Curve โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาหลักสูตร รวมถึงวิธีการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานมนุษย์และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดประโยชน์แก่ทุกฝายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอาชีพทุกช่วงวัย ตั้งแต่เริ่มช่วงการเรียนรู้ในโรงเรียนและช่วงการเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีการส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแบบ Dual Vacational Education Skill ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทวิภาคีและสหกิจศึกษา
รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแรงงานนอกระบบและแรงงานภาคเกษตร ผู้สูงอายุ ตลาดจนคนพิการ และผู้มีรายได้น้อย ให้มีความรู้ ทักษะฝีมือ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ เช่น พัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ การยกระดับมาตรฐานในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าหรือเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ประการที่สอง การสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมด้านการศึกษา สุขภาพ การมีงานทำที่เหมาะสมกับประชากรทุกกลุ่ม มีสวัสดิการที่เหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัยในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม สามารถเลี้ยงดูครอบครัว ช่วยในการพัฒนาศักยภาพของตนเองและสังคม รวมทั้งสร้างความเท่าเทียมระหว่างคนในสังคม ตามหลักการของงานที่มีคุณค่า หรือ Decent Work นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะจัดให้มีระบบบำเหน็จบำนาญหลังพ้นวัยทำงาน เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงเมื่อเข้าสู่วัยชราภาพ (หรือพ้นวัยแรงงาน) ซึ่งประชาชนจะมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพเมื่อเข้าสู่สภาวะที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ หรือเข้าสู่วัยที่ไม่สามารถทำงานได้
และประการที่สาม คือ การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน ให้มีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว ลดขั้นตอน ประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาในการเดินทาง เพื่อยกระดับการบริการในรูปแบบระบบดิจิทัลไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั้งระบบออนไลน์และแอพพลิเคชั่น ด้วยใจบริการ โปร่งใส และเป็นธรรม รวมถึงบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ โดยมีแผนที่จะพัฒนาให้บริการทุกอย่างของกระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้ผ่านช่องทาง Electronics ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งการปรับบทบาทของกระทรวงแรงงานไปสู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือ Facilitator ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ผ่านช่องทางของภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Click Donate Support Web