- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Wednesday, 24 October 2018 20:01
- Hits: 12196
ผู้ประกอบการ ผู้จ้างงาน รู้ยัง!!! งานด้าน HR เตรียมปรับโหมดกลยุทธ์สู่ไฮทัช – ไฮเทค เข้ากับเทรนด์ทั่วโลก
เทรนด์ตลาดแรงงาน เทรนด์เทคโนโลยี การปรับตัวขององค์กรรับมืออย่างไรท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของตลาดแรงงานต่อวิถีการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานในปัจจุบัน โดยปี 2561 แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้เก็บทัศนะความคิดจากกลุ่มตัวอย่างจากตลาดแรงงานที่มีศักยภาพกว่า 24 ประเทศทั่วโลกกว่า 18,000 คน อายุระหว่าง 18 – 65 ปี ของผู้สมัครงานและผู้จ้างงานในยุคปัจจุบันพร้อมวิเคราะห์เจาะภาพในอนาคต โดยมุ่งประเด็นไปที่ขั้นตอนการหางานในโลกแห่งการใช้เทคโนโลยีและสิ่งที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการเข้ามาช่วยวิเคราะห์ใบประวัติของผู้สมัคร
สิ่งที่น่าสนใจ คือ แรงงานในยุคปัจจุบันที่ปรับตัวต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะ เทคโนโลยีทำให้การสื่อสารมีความทันสมัย สะดวกรวดเร็วและง่ายในการเชื่อมต่อระหว่างผู้จ้างงานและผู้สมัครงานสามารถเชื่อมโยงได้รวดเร็ว ทั้งการประกาศหางานของนายจ้างรวมถึงการสมัครงานของผู้สมัครด้วยช่องทางที่หลากหลายตลอดจนการปฏิสัมพันธ์ระบบการพูดคุยหรือสามารถสัมภาษณ์งานได้อัตโนมัติรวดเร็วมากขึ้น ช่องทางการสื่อสารในสังคมปัจจุบันและสังคมแห่งอนาคตที่เห็นได้ชัด คือ สื่อโซเชียลสุดยอดทางเลือกของผู้สมัครงานในสังคมปัจจุบันและในอนาคต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสำรวจ พบว่า ผู้สมัครงานทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยร้อยละ 26 ของผู้สมัครยังคงชอบการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ซึ่งให้ประสบการณ์แบบไฮทัช (High Touch) เป็นความพอใจสูงสุดท่ามกลางการหางานและวิธีการสมัครงานแบบต่างๆที่ผู้สมัครชอบใช้ ทั้งนี้ เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยในกระบวนการต่างๆของ HR แต่ไม่อาจทดแทนปฏิสัมพันธ์กับคนได้ ดังนั้น การผสมผสานการทำงานควรมีการปรับใช้ให้เหมาะสม “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป จึงมองว่า กลยุทธ์ไฮทัช (High Touch) และไฮเทค (High Tech) ต้องมีส่วนผสมที่ลงตัวทั้งการใช้เทคโนโลยี และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์”
ตลอด 1 ปีในการสำรวจ ทำให้สามารถแบ่งช่วงอายุกลุ่มผู้สมัครงานที่เข้าถึงเทคโนโลยีในสังคมปัจจุบัน โดยแบ่งกลุ่มผู้ที่สมัครงานได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สมัครงานเดิม และกลุ่มผู้สมัครงานที่นำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการหางานอย่างน้อย 2 – 3 เทคโนโลยีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มนี้มีคุณลักษณะอายุน้อย เป็นคนเมืองและมักใช้เทคโนโลยีในการหางาน ใช้เครื่องมือที่คล่องแคล่วฉับไวทันสมัยตอบโจทย์สังคมยุคปัจจุบัน สามารถแบ่งกลุ่มนี้ออกเป็น Gen Z (อายุ 18 – 21 ปี), Gen Y หรือ Millennial (อายุ 22 – 34 ปี) การจับคู่เทคโนโลยีเข้ากับกลุ่มผู้สมัครคือกุญแจสำคัญ ตำแหน่งงานระดับจูเนียร์ถึงกลางเกือบทั้งหมดมีการลงประกาศโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ หากแต่มักเกิดขึ้นได้น้อยสำหรับตำแหน่งระดับอาวุโสซึ่งส่วนใหญ่อาศัยการแนะนำหรือการสรรหาโดยบุคคลที่สาม ดังนั้น ในยุคปัจจุบันหน่วยงาน หรือ ผู้ว่าจ้างทั่วโลกและประเทศไทยต้องมีการปรับตัวให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี ปรับการใช้งานให้เข้ากับกลุ่มแรงงานในแต่ละประเภทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการคัดเลือก ให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพมีทักษะตรงตามความเหมาะสมของงานและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
จากการสำรวจสิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็น คือ เสียงสะท้อนที่มีแนวโน้มใกล้เคียงกัน คือ เทคโนโลยีสามารถช่วยผลักดันจำนวนของใบสมัครงาน โดยเรียกได้ว่า ผู้จ้างงานจะได้รับการสมัครผ่านเทคโนโลยีหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถรับประกันได้ถึงคุณภาพผู้สมัครงานที่ได้ การเพิ่มขึ้นของใบสมัครงานผลักดันความต้องการด้านเทคโนโลยีในการบริหารจัดการที่ช่วยให้ฝ่าย HR จัดลำดับผู้ที่มีคุณสมบัติตามต้องการได้ จากผลสำรวจพบว่า 2 ประเทศที่ใช้กระบวนการ HR ผ่านเทคโนโลยีสูงที่สุดคือ อินเดียและมาเลเซีย ส่วนอีก 2 ประเทศที่ใช้กระบวนการ HR ผ่านเทคโนโลยีต่ำที่สุดคือ แคนาดาและญี่ปุ่น และสิ่งที่ได้อีกประการ คือ ผู้สมัครงานยุคใหม่มักเลือกใช้เทคโนโลยีผ่านกระบวนการ HR 3 อันดับแรก คือ 1. เลือกรับรู้ผ่านช่องทางโฆษณาโซเซียลมีเดีย 2. เลือกรับรู้ผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน 3. รับรู้จากการประกาศหรือข้อความที่ส่งจากองค์กรโดยตรง อาทิ SMS ดังนั้น ในอนาคต องค์กร โดยเฉพาะ HR ต้องมองถึงกลยุทธ์เพื่อผสมผสานไฮทัช (High Touch) ไฮเทค (High Tech) ในกระบวนการสรรหาบุคลากร ซึ่งต้องมอง 5 ส่วนสำคัญ 1. มองถึงปัญหา ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 2. ต้องรู้จักกลุ่มผู้สมัครงาน ทราบถึงบุคลิกตัวตนของผู้ที่สมัครงาน 3. สามารถวิเคราะห์ใช้ช่องทางการสื่อสารที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย 4. เปลี่ยนจากปริมาณให้เป็นคุณภาพ และ 5. ให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม
อนาคต ในกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรคุณภาพ เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพคุณสมบัติตรงตามความต้องการของหน่วยงาน ฝ่าย HR ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องตามยุคสมัย เข้าถึงพฤติกรรมในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะคุณภาพงานตรงตามความต้องการของแต่ละสายงาน ไม่เพียงเท่านั้นผู้สมัครงานควรต้องเรียนรู้ถึงการปรับตัว เพิ่มพูนทักษะความรู้ความสามารถให้ตรงตามสายงาน และรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม สร้างจุดขายให้สอดคล้องกับทักษะและบุคลิกภาพของตัวเอง ซึ่งหากวันนี้มีการปรับตัวตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น ตั้งแต่การคัดสรรบุคลากร การเลือกทำงานที่เหมาะกับกลุ่มแรงงานหรือผู้สมัครงาน เชื่อว่าจะทำให้ตลาดแรงงานมีการเติบโตที่ไม่ต้องเสียเวลาและการเสียโอกาสในหางานหาคนอีกต่อไป สุดท้าย ค่าเสียโอกาสที่อาจมองไม่เห็น จะกลายเป็นมูลค่าที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ที่ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร และทุกคนต้องหันมาให้ความใส่ใจในปัจจุบันและในอนาคตอย่างจริงจัง
Click Donate Support Web