- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Saturday, 11 August 2018 22:01
- Hits: 5273
ทีดีอาร์ไอ ห่วง นายจ้างและแรงงานต่างด้าว ยังไม่เข้าใจกฎหมายใหม่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงความยุ่งยากของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังการจดทะเบียนสิ้นสุดภายใต้กฎหมายปรับปรุงใหม่ โดยระบุว่า หลังจากที่ไทยได้บริหารแรงงานต่างด้าวมาไม่น้อยกว่า 25 ปี ผ่านการบริหารงานมาหลายรัฐบาล จนปัจจุบันก็ได้พิสูจน์แล้วจากการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเป็นที่เรียบร้อยและเป็นการนำแรงงานต่างด้าวจากใต้ดินขึ้นมาบนดินได้มากที่สุดอย่างที่รัฐบาลไหนๆไม่เคยทำได้มาก่อนโดยได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งมีโทษปรับอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เราใช้ชีวิตอยู่กับแรงงานข้ามชาติมากกว่า 2.2 ล้านคนหรือประมาณ ร้อยละ 6 ของกำลังแรงงานไทยประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาลกระจายอยู่ทั่วประเทศและประกอบอาชีพที่คนไทยเคยทำมากกว่า 24 กลุ่มอาชีพ (สถิติจากกรมการจัดหางาน)
อุปสรรคใหญ่ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวต่อไปที่รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องคำนึงคือ จะปฏิบัติตามกฎหมายใหม่คือ พ.ร.ฎ. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561ให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างสัมฤทธิ์ผลให้ได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนต้องมีผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือ นายจ้างต่างด้าวประมาณเกือบ 4 แสนคนที่จ้างแรงงานมากกว่า 24 ประเภทกิจการ ครอบคลุมคนงานต่างด้าวมากกว่า 2.2 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในส่วนของภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลแรงงานต่างด้าวและนายจ้างจำนวนมากกว่า 2.6 ล้านคนนั้น คำถามคือ มีกี่หน่วยงานที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ จะบูรณาการการรับผิดชอบกันอย่างไร มีกำลังที่ได้รับมอบหมายในภารกิจที่ต้องกำกับดูแลมากน้อยเพียงใด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกคนและหน่วยงานเข้าใจกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ซึ่งจากผลของการศึกษาพบว่ายังมีคนที่เข้าใจกฎหมายใหม่นี้น้อยมาก เอาแค่นายจ้าง 4 แสนคนนี้ก่อนซึ่งจะต้องทำอย่างไรตามขั้นตอนของกฎหมายใหม่ซึ่งบังคับใช้มาไม่กี่เดือนเพราะถ้าเขาผิดพลาดไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอาจจะถูกปรับถึงขั้นขาดทุนหรือต้องปิดกิจการ
ดร.ยงยุทธ ยกตัวอย่างปัญหาที่จะเกิดขึ้น อาทิ มาตรา 7 นายจ้างเข้าใจอาชีพที่ห้ามต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดหรือให้ทำได้อย่างมีเงื่อนไข เป็นต้น มากน้อยเพียงใดเพื่อมิให้ทำงานนอกเหนือจากสิทธิ (มาตรา 8 และ 9) มาตรา 11 นายจ้างต้องแจ้งชื่อ สัญชาติ และลักษณะงานที่ต่างด้าวทำภายใน 15 วันและถ้าคนงานออกจากงานก็ต้องแจ้งเช่นกันและต้องบอกด้วยว่าออกด้วยเหตุผลใดเป็นต้น ซึ่งเวลาขณะนี้ก็ล่วงเลยมาจนครบและเลย 15 วันไปแล้ว สำหรับแรงงานที่จดทะเบียนไปแล้วนับล้านคน คำถามก็คือทางรัฐได้อำนวยความสะดวกอย่างไร เช่น สามารถแจ้งได้ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่นๆและแจ้งให้นายจ้าง 4 แสนคนได้ทราบแล้วอย่างทั่วถึงแล้วใช่หรือไม่
ถ้าตอนนี้ ยังแจ้งไม่ครบจะทำอย่างไร กรณีปฏิบัติเดิมผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานบางคนก็ทำหน้าที่แทนนายจ้าง บางคนก็ทำตัวเป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรงแต่มาตรา 41 ที่ดูเหมือนจะไม่อนุญาตให้ทำได้อีกต่อไปซึ่งอาจจะกระทบผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่นายหน้าตามกฎหมายเก่า ขณะเดียวกันก็จะมีสถานประกอบการหรือนายจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่เคยใช้บริการแรงงานเหมาช่วงหรือเหมาค่าแรง ผลของมาตรา 41ทางราชการได้เตรียมหาทางออกไว้หรือไม่หรือจะให้นายหน้ากับนายจ้างไปหาทางออกกันเองซึ่งในกรณีนี้ก็น่าจะมีผู้ถูกระทบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ ให้ข้อสังเกตสำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและว่า ควรปรับปรุงขั้นตอนการรายงานในหลายๆเรื่องต่อทางราชการที่ยังต้องเปลืองทั้งกระดาษและเปลืองเวลา นอกจากนั้น ยังต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอโดยเฉพาะกรุงเทพปริมณฑลและภาคกลาง ควรดำเนินการสื่อสารในทุกรูปแบบเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบเนื้อหาของกฎหมายใหม่ที่สำคัญๆเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายเป็นสิ่งที่นายจ้างและ/หรือลูกจ้างต่างด้าวควรทราบอาจจะในรูปของ fact sheets หลายๆภาษาให้มีการกระจายดำเนินการไปทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน เป็นต้น.