- Details
- Category: กทม.
- Published: Saturday, 10 October 2015 20:54
- Hits: 6229
วสท.และ15 องค์กรถกปัญหาก่อสร้างในกทม.กับวิกฤติรถติด...เสนอแนวทางแก้ไข
ประเทศไทยและกรุงเทพมหานครกำลังอยู่ในโหมดของการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและคมนาคมขนส่ง ผนวกกับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ตามมาทำให้เกิดไซต์ก่อสร้างและการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างในเมืองมากมาย งานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ได้ซ้ำเติมภาวะรถติดหนักที่กรุงเทพฯกำลังเผชิญอยู่เป็นประจำวันอยู่แล้วนั้นให้กลายเป็นวิกฤติรถติดที่หนักขึ้นอีก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจ อุบัติเหตุ คุณภาพชีวิต ฝุ่นละอองมลพิษ และสุขอนามัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ15 องค์กร ได้ร่วมระดมสมอง เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติรถติดจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และสาธารณูปโภค
คุณอรวิทย์ เหมะจุฑา (Oravit Hemachudha) ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) กล่าวว่า "การจัดเสวนา เรื่อง ก่อสร้างรถติด...ช่วยกันคิดแก้ไข ทางวสท.ได้รับความร่วมมือจาก 15 องค์กร ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(คณะวิศวกรรมศาสตร์), สมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาไทย, สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ, มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย(ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน),สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร(สำนักการระบายน้า สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการจราจรและขนส่ง), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง,การประปานครหลวง และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในเมือง ทั้งโครงการระบบราง, โครงการส่วนต่อขยายทางด่วน, โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน และอื่นๆ อีก ทั้งนี้ก็ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน แต่ในการทำงานก็มีผลกระทบในเรื่องต่างๆ เพราะต้องนำพื้นที่ถนนที่มือยู่จำกัดไปใช้ขนวัสดุ และขุดวางสิ่งก่อสร้าง หากไม่บริหารจัดการและตรวจตราให้ดีก็จะนำไปสู่ความเดือดร้อนของประชาชน และอุบัติเหตุจากการก่อสร้างได้ การจัดเสวนาในวันนี้ได้ร่วมกันระดมสมองแสดงแนวทางลดผลกระทบในด้านต่างๆ รวมทั้งอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการก่อสร้าง"
รศ.เอนก ศิริพานิชกร (Assoc.Prof.Anek Siripanichkorn) ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.)กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการจราจรว่า "ปัจจุบันการจราจรในกรุงเทพมหานครอยู่ในสภาวะติดขัดอยู่แล้ว โดยในปี 2557 อัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนสายหลักต่างๆ(ไม่รวมบนถนนวงแหวนชั้นใน) ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าจะอยู่ที่ 15.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในช่วงเย็นจะอยู่ที่ 22.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทันทีที่มีสิ่งกีดขวางเกิดขึ้นในช่วงถนนใด ก็พร้อมจะเกิดการจราจรติดขัดหนักขึ้นและต่อเนื่องไปทั่วเกือบทุกถนน ยิ่งในช่วงที่ฝนตก มีน้ำขัง รถจอดเสียเกิดอุบัติเหตุ หรือรถชน หรือมีกิจกรรมข้างถนน ก็ยิ่งจะทำให้ปัญหาลุกลามเลวร้ายขยายวงยิ่งขึ้น โดยถนนที่มีรถติดมากที่สุด 5 อันดับแรก ช่วงเร่งด่วนเช้า (ขาเข้าเมือง) ได้แก่ อันดับที่ 1 ถนนกรุงธนบุรี ช่วงถนนกรุงธนบุรี-สุรศักดิ์ มีความเร็วเฉลี่ย 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันดับที่ 2 ถนนเจริญกรุง ช่วงถนนตก-สุรวงศ์ โดยมีความเร็วเฉลี่ย 9.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันดับที่ 3 ถนนราชวิถีชั้นใน ช่วงถนนอุภัย-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิโดยมีความเร็วเฉลี่ย 10.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันดับที่ 4 ถนนพระราม 9 ช่วงถนนรามคำแหง-พระราม 9 โดยมีความเร็วเฉลี่ย 10.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอันดับที่ 5 ถนนอโศก-ดินแดง ช่วงถนนพระราม 9-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมีความเร็วเฉลี่ย 11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดบนถนนนั้นมีสาเหตุมาจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เบียดบังผิวการจราจรไป เช่น 1.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่แยกเกษตร ทำให้รถติดหนัก 2.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค-บางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน อาทิ ถนนเจริญกรุง ถนนอิสรภาพ ถนนเพชรเกษม ถนนจรัญสนิทวงศ์ 3.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งจะกระทบการจราจรในย่านนนทบุรี บางบัวทอง4.โครงการก่อสร้างทางลอดแยกไฟฉาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนพรานนก 5.โครงการสร้างทางลอดแยกมไหศวรรย์ ซึ่งทำให้ถนนตากสิน และถนนรัชดาภิเษกเกิดการจราจรติดขัดอย่างหนัก 6.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการจราจรในเส้นสุขุมวิท ยาวไปถึงการจราจรในจังหวัดสมุทรปราการ 7.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ทำให้ถนนโลคัลโรดรถติดยาวตลอดทั้งเส้นทาง และ 8.โครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ซึ่งทำให้การจราจรในถนนราชพฤกษ์ จรัญสนิทวงศ์ สิรินธร บรมราชชนนี และกำแพงเพชร หนาแน่นและติดขัดตลอดเส้นทาง"
ในงานเสวนาได้สรุปข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ปัญหาวิกฤตจราจรจากงานก่อสร้างโครงการต่างๆในกทม.จากข้อคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ 1.ในสัญญาก่อสร้าง ควรระบุให้ชัดเจนแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างถึงการวิเคราะห์สภาพจราจรและการจัดการพื้นที่ก่อสร้างและจราจรในระหว่างการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ 2. ขั้นตอนดีไซน์มีความสำคัญยิ่งเนื่องจากเป็นแม่บทภาพรวมของงานส่วนต่างๆและนำไปสู่การแก้ปัญหาทางวิศวกรรมเมื่องานก่อสร้างลงพื้นที่จริง ทั้งนี้สัญญามาตรฐานงานวิศวกรรมประเภท Design and Built เป็นอีกทางเลือกที่ดีโดยรับผิดชอบตั้งแต่งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้งและก่อสร้าง ซึ่งทำให้เกิดความคล่องตัวในการปรับแบบหน้างาน ประหยัดเวลาและงานก่อสร้างทำได้เร็ว สามารถคืนพื้นผิวจราจรได้รวดเร็ว 3.พัฒนาฐานข้อมูลระบบสาธารณูปโภคของเมืองหน่วยงานต่างๆให้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อลดปัญหาขุดไปเจอสาธารณูปโภคอื่น ต้องย้ายจุดก่อสร้าง หรือเสียเวลาปรับแบบ ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้หน่วยปฏิบัติงานได้ลงมือเริ่มงานก่อสร้างได้รวดเร็ว 4.ผู้ปฏิบัติงานในไซต์ก่อสร้างบริหารจัดการวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างควรหลีกเลี่ยงการจัดวางในบริเวณที่กีดขวางการจราจรและก่อมลพิษฝุ่นละออง 5.เจ้าของโครงการต้องมีความรับผิดชอบและตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา 6.รณรงค์ให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนในการเดินทางผ่านเข้าออกย่านที่มีการก่อสร้าง 7.ผู้ใช้รถใช้ถนนมีระเบียบวินัย เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร ประชาชนผู้อาศัยและชุมชนใกล้พื้นที่ก่อสร้างไม่เพิ่มภาระให้รถติดหนักขึ้นไปอีก เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด การจอดริมถนนแวะซื้อของ หรือการตั้งร้านหาบเร่แผงลอยบริเวณพื้นผิวจราจร เป็นต้น 8.หน่วยงานต่างๆ มีการเตรียมการจัดระเบียบและลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดรถติด เช่น การเตรียมท่อระบายน้ำรับมือหากฝนตกจะไม่เกิดน้ำท่วมขัง การรณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะลงท่อหรือทางน้ำเพื่อลดการอุดตัน การติดตั้งป้ายเตือนเลี่ยงการจราจรบริเวณก่อสร้าง การจัดหน่วยซ่อมฉุกเฉิน และหน่วยบริการส่งตัวผู้บาดเจ็บเร่งด่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนร่วมช่วยดูแลการจราจร เป็นต้น 9.ควรสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนเพื่อความปลอดภัยในบริเวณก่อสร้าง เช่น ไฟสว่าง ป้ายเตือนต่างๆ
หากผู้ปฏิบัติได้ใช้ความรู้ ความสามารถให้เต็มที่ ด้วยความใส่ใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บุคลากรของหน่วยงานและของผู้ก่อสร้างสามารถฟื้นฟูและเพิ่มพูนได้ ทั้งนี้ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ได้พัฒนาและจัดการอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Audit,RSA) ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเป็นทางการตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยตรวจสอบถนนที่ใช้งานอยู่ในช่วงถนนหรือทางแยก และการตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนน ซึ่งประกอบด้วย 5 ช่วง คือ ช่วงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ช่วงออกแบบเบื้องต้น ช่วงการออกแบบในรายละเอียด ช่วงก่อสร้าง และช่วงก่อนเปิดใช้งาน ในการตรวจสอบมีการแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบอิสระจากหลายสาขาวิชาชีพ อีกหลักสูตรหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรด้านงานก่อสร้างคือ หลักสูตรการจัดการการก่อสร้างในเมือง ซึ่งนำไปสู่การทำงานก่อสร้างที่มีความปลอดภัยในไซต์งานและพื้นที่รอบข้าง และไม่สร้างปัญหาแก่การจราจร สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย หากดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องก็จะทำให้ ลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ส่งเสริมกระบวนการที่ทำให้เกิดความปลอดภัยอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานครและประเทศไทยในอนาคต"