- Details
- Category: กทม.
- Published: Friday, 04 September 2015 12:11
- Hits: 10420
รื้อสะพานเกษตร 12 กย.แน่-ติดวุ่นแหง ตุลา-ทุบ รัชโยธิน ลุยสร้าง รถไฟฟ้า
คนกรุงรับ มือติดหนึบ เตรียมปิดรื้อสะพานข้ามแยกเกษตร12 ก.ย.นี้ เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นเวลากว่า 3 ปีหรือจนกว่าแล้วเสร็จ พร้อมลดช่องจราจรเหลือแค่ทิศละ 2 เลน คิวต่อไปรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินด้วย เดินหน้ารื้อถอนเดือนต.ค. เตรียมขุดเป็นทางลอดแทน แนะผู้ใช้ถนนใช้เส้นทางเลี่ยงอื่น เชื่อ 6 เดือนแรกติดวิกฤตแน่
วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9046 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงการรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.เป็นต้นไป รฟม.จะปิดสะพานข้ามแยกเกษตร ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ตลอด 24 ช.ม. เป็นระยะเวลารวมประมาณ 3 ปี เพื่อก่อสร้างโครงการรถ ไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ โดยการปิดการจราจรเพื่อเปิดพื้นที่ให้บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาได้เข้าพื้นที่ดำเนินงานก่อสร้าง ซึ่งยอมรับว่าการปิดเส้นทางจราจรดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง เนื่องจากช่องการจราจรทั้ง 2 ทิศทางจะลดลงเหลือเพียงทิศละ 2 ช่องจราจร จากเดิมที่มี 3 ช่องจราจร ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นโปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างการจัดทำเส้นทางทดแทน เพื่อเป็นทางเลี่ยงทางเลือกให้ผู้ใช้รถใช้ถนน
นายพีระยุทธ กล่าวต่อว่า หลังจากปิดสะพาน ข้ามแยกเกษตรแล้ว บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างจะต้องเข้าไปทุบสะพาน เพื่อก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยในอนาคตจะสร้างสะพานข้ามแยกเกษตรขึ้นทดแทนซึ่งจะเป็นสะพานที่เกาะตามโครงสร้างของรถไฟฟ้าดังกล่าว
นายพีระยุทธก ล่าวถึงการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินว่า เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา นายจุมพล สำเภาทอง รองผู้ว่าฯกทม. ได้ทำหนังสือตอบกลับมายังรฟม.ว่า เห็นชอบให้รฟม.รื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอดแทน ตามโครงการก่อ สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นไปตามข้อ เสนอของรฟม. โดยรฟม.จะนำผลสรุปเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดรฟม.ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการได้ โดยการรื้อสะพาน ข้ามแยกรัชโยธินต้องรอหลังรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรไปแล้ว คาดประมาณเดือนต.ค.-พ.ย. จะประกาศปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี หรือจนกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะแล้วเสร็จ
นายพีระยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุผลที่กทม. เปลี่ยนท่าทีกลับมาสนับสนุนการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด เนื่องจากเห็นว่าการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจะเป็นแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรดังกล่าวได้ในระยะยาว ส่วนที่จะมีปัญหาคือในช่วงระหว่างการก่อ สร้าง ซึ่งต้องวางระบบการบริหารจัดการจราจร แต่ก็ยอมรับว่าจะวิกฤตหนักมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกเท่านั้น หลังจาก 6 เดือนไปแล้วจะเริ่มคืนพื้นที่บางส่วนไม่น้อยกว่า 70 เปอร์ เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างเป็นระยะเวลา 3 ปี
นายพีระยุทธ กล่าวด้วยว่า การก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินตามแบบเดิมที่มีการศึกษา พบว่าแนวทางการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินและเปลี่ยนมาเป็นก่อสร้างทางลอดจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดและแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณ สี่แยกดังกล่าวได้ในระยะยาว แต่ก่อนหน้านี้กทม.มีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตจราจรระหว่าง การก่อสร้าง จึงขอให้รฟม.ศึกษาหาแนวทางและรูปแบบอื่นแทน ทำให้รฟม.ต้องปรับแบบใหม่โดยไม่ทุบสะพานดังกล่าว แต่จะยกระดับโครงสร้างรถไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 2 เมตรแทน และหากเลือกแนวทางนี้จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติมด้วย แต่ข้อสรุปล่าสุดของกทม. ทำให้รฟม.สามารถเดินหน้าโครงการได้ตามแผนที่กำหนด
ส่วนการโอนการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 ก.ม. นายพีระยุทธกล่าวว่า ขณะนี้มีความชัดเจนว่ากทม.ต้องจ่ายคืนเงินค่าก่อ สร้างและค่าเวนคืนที่ดินในวงเงินกว่า 17,000 ล้านบาทให้กับรฟม. ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่าง การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงและจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจัดการจราจรทางบก (คจร) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธานต่อไป
นายพีระยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนการคัดเลือกเอกชนเข้ามาจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแคนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ยังไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้ ทางรฟม.จะดำเนินการตามแนวทางที่บอร์ดรฟม.เห็นชอบ ให้ใช้วิธีการเจรจากับเอกชนรายเดิมคือ บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด เพราะได้พิจารณาแล้วว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ตามขั้นตอน รฟม.จะเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอครม.ขอทบทวนมติครม.เมื่อปี 2553 ที่เห็นชอบให้ใช้วิธีการจ้างเอกชนเดินรถและซ่อมบำรุง (พีพีพี กรอสคอสต์) เพื่อเปลี่ยนมาเป็นการให้เอกชนเข้ามาลงทุนและจัดเก็บรายได้ (พีพีพีเน็ต คอสต์) แทน
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. ดูแลงานจราจร กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ล่าสุดได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าดำเนินทำทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 8 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ซอยพหลโยธิน 35 ถึงหน้ากรมส่งเสริมการเกษตร จุดที่ 2 หน้ากรมทหารราบที่ 11 จุดที่ 3 ปากซอยพหลโยธิน 57-61 จุดที่ 4 ซอยพหลโยธิน 67-69 จุดที่ 5 หน้าตลาดยิ่งเจริญ จุดที่ 6 หน้าโรงเรียนนายเรืออากาศ-แยกสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัย จุดที่ 7 บริเวณแยกคปอ.ถึงทางโค้งประตูกรุงเทพ และจุดที่ 8 บริเวณหน้าสภ.คูคต
พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นผู้รับเหมาจะลงพื้นที่วางแท่งแบริเออร์และปิดกั้นผิวการจราจร โดยจะแบ่งปิดช่องการจราจรฝั่งละ 1 เลน ในส่วนของสะพานข้ามแยกเกษตร บชน.ได้ออกข้อบังคับให้เริ่มดำเนินการปิดกั้นหัวและท้ายสะพาน ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ระยะเวลารวมประมาณ 3 ปี จากนั้นจะลงเสาตอม่อรถไฟฟ้าและก่อสร้างสะพานข้ามแยกเกษตรระยะทาง 300 เมตรทดแทน