- Details
- Category: กทม.
- Published: Monday, 15 June 2015 23:52
- Hits: 5574
ขสมก.ชะลอเซ็นรถเมล์ NGV กับ CHO ตั้งกก.ตรวจสอบประมูลหลังถูกคู่แข่งร้อง
นางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขสมก.ยังไม่สามารถลงนามในสัญญากับกลุ่มบริษัทร่วมค้า JVCC ที่มี บมจ.ช.ทวี ดอลลาเซียน(CHO) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง(NGV) จำนวน 489 คันได้ เนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาที่ผ่านมา หลังจากมีเอกชนอีกรายที่เข้าร่วมประมูลยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้ ขสมก.ต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ ขสมก.จะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ (16 มิ.ย.) โดยใช้เวลาตรวจสอบ 7 วัน ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ชัดเจนและสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย แม้ว่า ขสมก.จะมั่นใจกระบวนการประกวดราคาว่ามีความถูกต้องแล้วก็ตาม โดยกรรมการตรวจสอบจะมีทั้งผู้แทน ขสมก.และคนกลาง เช่น องค์กรต่อต้อต้านคอร์รัปชั่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังต้องรอให้คณะกรรมการ ขสมก.รับรองผลการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ได้อนุมัติผลการประกวดราคาก่อน รวมถึงอัยการยังตรวจสอบร่างสัญญาไม่แล้วเสร็จ จึงยังลงนามสัญญาไม่ได้ แม้ว่าวันนี้ ขสมก.จะได้แจ้งให้ผู้ชนะการประมูลมารับหนังสือเชิญลงนามสัญญาในวันนี้( 15 มิ.ย.) แต่เนื่องจากยังติดขัดดังกล่าว ทำให้ยังมอบหนังสือเชิญลงนามไม่ได้
นายเค่อนัว หลิน ประธาน บริษัท เบสทรินกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาขอให้ตรวจสอบกรณีการประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน วงเงิน 1,784.85 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าไม่โปร่งใส ส่อในไปในทางทุจริต เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่อ้างว่าโทรมาจากกองทัพภาคที่ 1 เชิญให้ไปเข้าพบในเช้าวันที่ 15 มิ.ย.เพื่อขอข้อมูล แต่เมื่อสอบถามชื่อและตำแหน่ง ต้นสายกลับปฏิเสธทื่จะบอก จึงขอคิดดูก่อนว่าจะเข้าพบหรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นความจริง
พร้อมกันนั้น นายเค่อนัว หลิน ระบุว่า ตนเองยอมรับที่จะเป็นผู้แพ้ได้ หากยืนอยู่บนกติกาเดียวกัน แต่หากเกิดสองมาตรฐานเลือกข้างปฏิบัติก็คงยอมไม่ได้ และหากวันที่ 15 มิ.ย.ยังมีการลงนามในสัญญา ตนเองในฐานะนักธุรกิจชาวจีนที่มาปักหลักทำธุรกิจในเมืองไทยมากว่า 14 ปีจะเป็นแกนนำร่วมกับองค์กรอิสระภาคเอกชนตรวจสอบโครงการนี้ทุกขั้นตอนไม่ว่าจะที่โรงงานประกอบรถยนต์หรือช่องทางการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า CHO ดำเนินงานผลิตภายในระยะเวลา 3 เดือนได้ทันทั้ง 489 คันหรือไม่
เนื่องจากกรณีที่ทาง CHO ระบุว่าทีโออาร์เปิดกว้างให้นำรถบัสเข้ามาได้ทั้งคันหรือประกอบภายในประเทศได้นั้น ไม่น่าเป็นความจริง เพราะทีโออาร์หน้าที่ 6 (7)ระบุว่าผู้ประมูลจะต้องได้ใบรับรองมาตรฐาน ISO และใบ รง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะประกอบเองหรือนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้เอกสารรับรองของโรงงานนั้นๆ หรือของโรงงานจากต่างประเทศที่ผลิตจริงเท่านั้น ซึ่ง CHO ได้เสนอเอกสารประกอบการพิจารณาไปแล้วว่าจะประกอบรถยนต์ภายในประเทศ ดังนั้น รถที่จะส่งมอบทั้งหมดจะต้องถูกประกอบที่โรงงานตามที่ระบุในเอกสาร ไม่อย่างนั้นรายอื่นก็ทำได้ และ ขสมก.เคยไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิตที่ประเทศจีนว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ตนเองเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ร่วมประมูลหลายราย
นอกจากนั้น ยังตั้งข้อสังเกตว่า CHO มั่นใจได้อย่างไรว่าจะเป็นผู้ชนะ จึงได้กล้าออกมาระบุว่าได้ผลิตรถยนต์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะในฐานะนักธุรกิจหรือพ่อค้า คงไม่มีใครกล้าลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลกว่าพันล้าน ทั้งที่ขณะนั้นผลการประมูลยังไม่รู้แพ้รู้ชนะ
อินโฟเควสท์