- Details
- Category: กทม.
- Published: Friday, 27 March 2015 13:06
- Hits: 4234
ช่วยเหลือประชาชน ด้านมท.1 แนะให้ขอโทษที่เกิดปัญหาขึ้น เชื่อว่าจะได้รับการอภัย ด้านเพื่อไทยได้ทีไล่สุขุมพันธุ์นั่นแหละไปอยู่บนดอย
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนัก งานเขต 50 เขต ร่วมประชุมว่าสำนักการระบายน้ำรายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กทม. เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ในพื้นที่กรุงเทพฯ เหนือ มีปริมาณฝนตกหนัก เฉลี่ย 80-120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หยุดตกเมื่อเวลา 20.30 น. และในเวลา 23.00 น. กทม.สามารถระบายน้ำในถนนสายหลักได้แห้งทั้งหมด โดยเฉพาะในซอยแอนเน็กซ์ ถ.พหลโยธิน และศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ระบายน้ำให้แห้งได้ในเวลา 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ดูแลอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมใช้งาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มในพื้นที่จุดเสี่ยงในเขตรับผิดชอบ และจัดบุคลากรเจ้าหน้าที่ประจำจุดเพื่อเฝ้าระวัง รวมทั้งให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกประชาชนขณะที่ฝนตกหนักและมี น้ำขังรอระบายในจุดต่างๆ อย่างเต็มเวลา
"อยากให้ประชาชนวางใจได้ เพราะเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าฝนจะตกมากน้อยเมื่อไหร่อย่างใด แต่เหตุการณ์ 2 วันที่ผ่านมา ชัดเจนว่ากทม. สามารถแก้ไขปัญหาได้ ในเวลาที่เร็วกว่าในอดีต ประชาชน กังวลได้ เป็นห่วงได้ ขออย่าคิดว่ากทม.ไม่มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ขอให้เข้าใจตรงกัน บางทีพูดเล่นบ้าง ทีเล่นทีจริงบ้าง แล้วยกคำพูดนั้นให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ จะทำอย่างนั้นผมก็ไม่ว่า แต่ขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้เกียรติลูกน้อง เพราะลูกน้องทำงานหนัก โดยการรายงานข่าวดีๆ จะด่าผมเมื่อไหร่ก็ได้ ส่วนข่าวไม่ดี เก็บใส่ลิ้นชัก จะเอาออกมาเมื่อไหร่ก็ได้" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ตรวจสอบการทำงาน ของกทม. เกี่ยวกับการรับมือน้ำท่วม กทม.ได้ชี้แจงอย่างไร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร รัฐบาลจะตรวจสอบการทำงานก็สามารถทำงานได้ ไม่ได้กังวล ไม่มีอะไรปิดบัง อำพรางหลอกลวงใคร ก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า แต่หากดูในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา กทม.ใช้เวลาระบายน้ำให้แห้งได้เร็วขึ้น บางเส้นทางที่เคยท่วมประจำ ก็ไม่ท่วม และก็ได้ชี้แจ้งรายงานการทำงานรวมถึงข้อจำกัดในการทำงานกับ พล.อ.ประวิตร อยู่ตลอดเวลา ซึ่งท่านก็เข้าใจ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีในโลกโซเชี่ยลมีเดียพูดถึงคำพูดที่บอกว่าเราเป็นเมืองน้ำเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า "ผมพูดเล่น ผมตอบคำถามจะมีน้ำท่วมอีกหรือไม่ ผมก็ตอบว่าเมืองน้ำ เมืองฝน ไม่อยากได้น้ำก็ไปอยู่บนดอย แต่คุณไม่ช่วย ใส่อะไรให้มันบวกบ้างสิ"
ด้านนายสัญญา กล่าวว่า สำหรับแนวทางการระบายน้ำของกทม.ในจุดที่เป็นปัญหานั้น ต้องยอมรับว่าพื้นที่กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่ง ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง กทม.จึงใช้วิธีสูบน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำออกไปยังคลองต่างๆ ดังนั้นการพร่องน้ำในคลองเพื่อรองรับปริมาณน้ำจึงเป็นแนวทางการระบายน้ำอย่างหนึ่ง แต่ปัจจุบันเป็นช่วงฤดูแล้ง กทม.จึงต้องผันน้ำเข้าคลองหลัก อาทิ คลองแสนแสบ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมในกรุงเทพฯ มีกว่า 100,000 ไร่ ผู้ว่าฯ กทม.มีความเป็นห่วงปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน ดังนั้นกทม.จึงต้องหาสมดุลในการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามกทม.มีพื้นที่ที่เป็นแก้มลิงสำหรับรับน้ำอีกกว่า 21 แห่ง นอกจากนี้ยังมีเรดาร์ในการตรวจจับกลุ่มฝนและคาดการณ์สถานการณ์ฝนล่วงหน้า แต่หากอากาศแปรปรวนอย่างมากเหมือนไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็ทำให้บางครั้งไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากกลุ่มฝนมักเคลื่อนตัวไม่คงที่และเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ รวมถึงอาจมีการก่อตัวใหม่ในพื้นที่อีกด้วย อาจทำให้บางจุดที่เป็นปัญหา เจ้าหน้าที่เข้าไปเตรียมความพร้อมไม่ทัน
นายสัญญา กล่าวว่า สำหรับระบบท่อระบายน้ำของกทม.สามารถรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมาได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร จะสามารถระบายน้ำได้ทันที แต่ถ้าปริมาณฝนเกินกว่านี้ ยังคงต้องใช้เวลาในการระบายน้ำ นอกจากนี้กทม.ยังประสบปัญหาขยะจำนวนมากไปอุดตันท่อระบายน้ำ และตะแกรงระบายน้ำ ซึ่งเมื่อฝนตกแต่ละครั้ง สามารถจัดเก็บขยะอุดตันท่อระบายน้ำได้กว่า 10 ตัน ต่อสถานีสูบน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลงอย่างมาก ซึ่งปัญหาขยะอุดตามท่อระบายน้ำ กทม.ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ฝ่ายเดียว เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากประชาชน จึงขอความร่วมมือประชาชนอย่าทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำหรือคูคลองเด็ดขาด อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ในช่วงฤดูฝน กทม.สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแน่นอน แต่บางพื้นที่อาจเกิดน้ำขังรอการระบายบนพื้นผิวจราจรบ้าง หากมีปริมาณฝนตกเกินกว่า 60 มิลลิเมตร การระบายน้ำจะต้องใช้ระยะเวลา ขณะเดียวกันกทม. มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ(แก้มลิง) แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการท่วมขังไปยังบ้านเรือนของประชาชนอย่างแน่นอน
ขณะที่น.ส.ตรีดาว กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ภาพในโซเชี่ยลมีเดีย เป็นรูปม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวบนเวทีและรูปของผู้บริหารกทม.อยู่ในบรรยากาศงานเลี้ยงสังสรรค์ภายในโรงแรมแห่งหนึ่ง พร้อมข้อความระบุว่า "ในขณะที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ กทม. ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วย ผู้อำนวยการสำนักฯ กำลังเลี้ยงสังสรรค์ที่โรงแรมดังย่านห้างเกษร ว่า ภาพทั้งหมดเป็นภาพที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงการประชุมผู้จัดพิมพ์นานาชาติในช่วงเวลา 19.00 น. ของวันที่ 24 มี.ค.จริง แต่เป็นการจัดงานตามพิธีการการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่จะมีงานตลอด 3 วัน โดยมีผู้แทนจากสำนักพิมพ์ต่างๆ จาก 37 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน 300 คน โดยผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการสำนักที่มานั้นมาร่วมต้อนรับในฐานะที่ กทม. เป็นเจ้าภาพ ไม่ได้เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ภายในของหน่วยงานแต่อย่างใด หลังจากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้เดินทางกลับมาปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ศาลาว่าการกทม. และบัญชาการดูแลแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 12.00 น.
ที่อาคารเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังว่า ผู้ว่าฯกทม.ชี้แจงไปแล้ว รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาหากเกิดน้ำท่วมขังในลักษณะดังกล่าวอีก ส่วนที่ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า ถ้าไม่อยากน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยนั้น ตนก็ไม่รู้ ต้องไปถามท่านเอง แต่ท่านก็พยายามแก้ปัญหาอยู่
"ผมคุยกับท่านไปแล้วว่า จะดำเนินการอะไรต้องชี้แจงประชาชนให้รับทราบ ว่าหากเกิดปัญหาแบบนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อประชาชนทราบก็ไม่ด่า แต่ถ้าเขาไม่รู้เขาก็ด่า แต่คงไม่จำเป็นต้องบอกว่า ท่านต้องเอาน้ำออกเพื่อให้น้ำแห้ง เมื่อแห้งแล้วต้องเช็ด คงไม่ใช่คนละเรื่อง ท่านเป็นผู้บริหาร ท่านรู้หมด" พล.อ.ประวิตรกล่าว
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ระบุให้ประชาชนยอมรับ ในชะตากรรมเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองน้ำ ถ้าไม่อยากมีน้ำท่วมก็ต้องไปอยู่บนดอยว่า เข้าใจว่าผู้ว่าฯ กทม.คงไม่ได้หมายความตามที่พูด แต่ตนเห็นว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ต้องออกมาขอโทษประชาชนกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เพียงแค่ออกมาขอโทษและรีบแก้ไข เชื่อว่าคนไทยให้อภัยได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับผู้ว่าฯ กทม.ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เชื่อว่าม.ร.ว.สุขุมพันธุ์คงจะใช้เวลาเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีกในช่วงนี้
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับ กทม.หลายครั้ง ซึ่งได้มีพูดคุยเรื่องของการพร่องน้ำ ระบายน้ำในคลองต่างๆ รวมถึงเรื่องของท่อระบายน้ำใน กทม.ซึ่งตนเคยให้นโยบายไปแล้วว่าถ้า กทม.สามารถขยายท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ก็อยากให้ดำเนินการ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยเรื่องของการระบายน้ำได้
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แถลงถึงสถานการณ์ฝนตกหนักถล่มกรุงในวันที่ 24 มี.ค.โดยขอให้ประชาชนยอมรับในชะตากรรมเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองน้ำ ถ้าไม่อยากมีน้ำท่วม ก็ต้องไปอยู่บนดอย ว่า ถือเป็นถ้อยแถลงแรกที่ออกมาแล้วสร้างความฮือฮา หลังประชาชนแทบจะต้องประกาศตามหาผู้ว่าฯ กทม.หาย ตอนหาเสียงบอกทั้งชีวิตเราดูแล แต่แค่ฝนตกยังแก้ปัญหาไม่ได้ ประชาชนไม่ได้อยากได้ผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นเทวดา แต่ขอแค่คนธรรมดาๆ ที่เข้าใจปัญหา และตั้งใจจริงในการแก้ไข ไม่ใช่ไล่ประชาชนไปอยู่บนดอย เพราะคนที่สมควรถูกไล่ไปอยู่บนดอย เพราะแก้ไขปัญหาอะไรไม่เคยได้ คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พรรคประชาธิปัตย์ควรเรียกไปอบรมด่วน เพราะถือว่าสะท้อนวิธีคิด วิธีการทำงานสไตล์ประชาธิปัตย์ หากปล่อยให้อยู่นานๆ คะแนนความนิยมของพรรคลดต่ำลงเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
ด้านกองบังคับการตำรวจจราจรได้รวบรวมข้อมูลจุดอ่อนที่มักเกิดน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2557 ไว้ ทั้งหมด 17 เขตทั่วกรุงเทพ มหานคร รวมทั้งสิ้น 24 จุด ประกอบด้วย เขตดุสิต 4 จุด ได้แก่ ลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านฝั่งสวนอัมพร ถนนราชวิถี ช่วงหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธนบุรี ถนนสามเสน หน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ ถนนนครไชยศรี ช่วงหน้ากรมสรรพสามิต
เขตราชเทวี 2 จุด ได้แก่ ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ ถนนศรีอยุธยา ช่วงหน้า สน.พญาไท และช่วงหน้าวังสวนผักกาด เขตจตุจักร 1 จุด ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ เขตบางซื่อ 1 จุด ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน เขตหลักสี่ 2 จุด ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงซอยศูนย์ราชการ และถนนงาม วงศ์วาน ช่วงหน้าตลาดพงษ์เพชร เขตดอนเมือง 1 จุด ได้แก่ ถนนพหลโยธิน 58 ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร เขตบางเขน 1 จุด ได้แก่ ถนนแจ้งวัฒนะ จากวงเวียนหลักสี่ ถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตประเวศ 1 จุด ได้แก่ ถนนศรีนครินทร์ บริเวณโนโวเทล เขตพระนคร 1 จุด ได้แก่ ถนนสนามไชย จากซอยเศรษฐการ ถึงถนนท้ายวัง และรอบสนามหลวง
เขตสัมพันธวงศ์ 2 จุด ได้แก่ ถนนเจริญกรุง (แยกหมอมี) จากถนนแปลงนาม ถึงแยกหมอมี ถนนเยาวราช ฝั่งเหนือ จากถนนทรงสวัสดิ์ถึงถนนราชวงศ์ เขตสาทร 2 จุด ได้แก่ ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุลศลถึงไปรษณีย์ยานนาวา ถนนสวนพลูจากถนนสาทรใต้ ถึงถนนนางลิ้นจี่ เขตบางบอน 1 จุด ได้แก่ ถนนบางบอน 1 จากถนนเอกชัย ถึงคลองบางโคลัด
เขตบางขุนเทียน 1 จุด ได้แก่ ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2 ถึงถนนบางขุนเทียนชายทะเล เขตทุ่งครุ 1 จุด ได้แก่ ถนนประชาอุทิศ จากคลองรางจากถึงหน้าสำนักงานเขตทุ่งครุ เขตบางแค 1 จุด ถนนเพชรเกษม จากถนนบรมราชชนนีถึงถนนราชชนนี ถึงทางรถไฟสายใต้ เขตตลิ่งชัน 1 จุด บริเวณถนนฉิมพลี จากถนนบรมราชชนนีถึงถนนราชชนนี ถึงทางรถไฟสายใต้ เขตมีนบุรี 1 จุด ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวา ถึงคลองแสนแสบ