- Details
- Category: กทม.
- Published: Thursday, 12 December 2019 22:40
- Hits: 2466
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร 'กรุงเทพมหานคร' ที่ 'AA+'แนวโน้ม 'Stable'
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ กรุงเทพมหานคร ที่ระดับ'AA+' ด้วยแนวโน้ม 'Stable' หรือ 'คงที่'โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลกลาง การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนของกรุงเทพมหานครซึ่งมาจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และการดำรงเงินสะสมในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม การประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณของกรุงเทพมหานครจากความต้องการในการลงทุนอย่างมากในระบบขนส่งมวลชนและโครงการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ อีกด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในฐานะเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศ
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและเป็นจังหวัดที่สร้างผลผลิตแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าจังหวัดใดๆ จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า มูลค่าผลผลิตมวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product – GPP) ของกรุงเทพมหานครในปี 2560 อยู่ที่จำนวน 5 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 32.5% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP)
จากปี 2556 จนถึงปี 2560 เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีอัตราการขยายตัวที่แท้จริงเฉลี่ยที่ระดับ 4.6% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.8% ต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 25%-2.7% ในปี 2562 หลังจากที่ขยายตัวที่ระดับ 2.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการที่เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนั้นเป็นผลมาจากการหดตัวอย่างมากของภาคการส่งออกและการขยายตัวในอัตราที่ลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศ
เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีความผันผวนน้อยกว่าเศรษฐกิจของจังหวัดอื่น ๆ อันเนื่องมาจากธรรมชาติที่มีการกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานครประกอบไปด้วยพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม บริการทางการเงินและประกันภัย ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งภาคเศรษฐกิจทั้ง 5 ประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 59% ของเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครตามข้อมูลของ สศช.
รายได้จากภาษีที่สม่ำเสมอ
รายได้ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครมาจากภาษีอากรมากกว่า 90% ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูง ทั้งนี้ ภาษีอากรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและภาษีอากรที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้และนำส่งกรุงเทพมหานครหรือจัดสรรโดยรัฐบาลกลาง ตามปกติแล้ว ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ภาษีอากรที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้หรือที่รัฐบาลกลางจัดสรรมีสัดส่วนประมาณ 77% ของรายได้ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร โดยในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2557-2561 รายได้จากภาษีอากรของกรุงเทพมหานครมีอัตราการเติบโตที่ระดับ 6.5% ต่อปี
รายได้หลักของกรุงเทพมหานครมาจากภาษีหลัก 4 ประเภทซึ่งได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รวมถึงภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน โดยมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 83% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ที่จัดเก็บจากภาษีทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลอาจปรับลดอัตราภาษีบางประเภทลงเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเป็นครั้งคราว ตัวอย่างเช่นในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีการปรับลดอัตราภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมลงเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น รายได้จากการจัดเก็บภาษีของกรุงเทพมหานครที่แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตในระดับปานกลางทุกปี แต่การจัดเก็บก็อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลได้ด้วยเช่นกัน
นโยบายการคลังแบบสมดุล
กรุงเทพมหานคร มีการจัดทำงบประมาณที่เหมาะสมภายใต้นโยบายการคลังแบบสมดุล ตามระเบียบกรุงเทพมหานครเรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2529 นั้น การจัดทำงบประมาณของกรุงเทพมหานครจะประมาณการรายจ่ายให้อยู่ภายในวงเงินงบประมาณรายได้ ดังนั้น การประมาณการรายได้ที่ค่อนข้างระมัดระวังจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีประมาณการรายจ่ายที่เหมาะสมและไม่เกินตัว ในกรณีที่การจัดเก็บรายได้น้อยกว่าประมาณการ กรุงเทพมหานครสามารถปรับปรุงรายจ่ายด้วยการชะลอการดำเนินโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือที่ยังไม่มีภาระผูกพันออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณบางปีอาจมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมระหว่างปีเมื่อมีความจำเป็นโดยต้องมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน เช่น รายได้จากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร หรือรายได้จากรายรับที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เป็นต้น
จัดเก็บรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
กรุงเทพมหานครยังคงมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2561 กรุงเทพมหานครมีรายได้รวม 8.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 7.23 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 เมื่อเทียบกับ 7.56 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังเกินดุลจำนวน 1.42 หมื่นล้านบาท และมีอัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 16.42% ในปีงบประมาณ 2561 จาก 4.66% ในปีงบประมาณ 2560
ในปีงบประมาณ 2562 รายได้ของกรุงเทพมหานครทั้งหมดคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครคาดว่าจะอยู่ที่ 8.0 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กรุงเทพมหานครจะมีดุลการคลังเกินดุลจำนวนประมาณ 3.0 พันล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2563 นั้น กรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณรายได้และรายจ่ายไว้ที่ระดับ 8.3 หมื่นล้านบาทเท่า ๆ กัน โดยในช่วงปีงบประมาณ 2564-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
งบดำเนินการในระดับสูงส่งผลจำกัดงบประมาณการลงทุน
การมีค่าใช้จ่ายดำเนินการอยู่ในระดับสูงจะจำกัดงบประมาณของกรุงเทพมหานครในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ทั้งนี้ รายจ่ายของกรุงเทพมหานครแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ งบดำเนินการและงบลงทุน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายจ่ายของงบดำเนินการอยู่ที่ระดับประมาณ 75% ของรายจ่ายรวม โดยในปีงบประมาณ 2561 กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายดำเนินการจำนวน 5.63 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่อัตรา 0.6% จากปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีรายจ่ายด้านบุคลากรซึ่งเป็นรายจ่ายดำเนินการที่สำคัญประเภทหนึ่งโดยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของรายจ่ายรวมในปีงบประมาณ 2561
ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2561 กรุงเทพมหานครมีการใช้งบลงทุนมูลค่าประมาณ 1.5-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศและมีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุด จึงทำให้มีความต้องการการลงทุนด้านสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของกรุงเทพมหานครให้เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการอยู่อาศัย ในการนี้ กรุงเทพมหานครอาจพิจารณาขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้ทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและอนุมัติจากรัฐบาล อีกทั้งขั้นตอนการอนุมัติก็ยุ่งยากและใช้เวลานาน ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานผ่าน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในการทำสัญญาและจัดหาเงินกู้เพื่อนำไปใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ภาระหนี้ของบริษัทกรุงเทพธนาคมรวมเป็นภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครด้วย
ณ เดือนกันยายน 2561 กรุงเทพมหานครมีภาระหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 1.47 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครประกอบไปด้วย (1) เงินกู้ของบริษัทกรุงเทพธนาคม (2) มูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้า BTS (3) สินเชื่อคงค้างจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาการติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) และ (4) มูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันทางการเงินจากสัญญาเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอยซึ่งมีอายุสัญญา 5 ปีและ 7 ปีตามลำดับ
สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะช่วยหลีกเลี่ยงภาระหนี้ในอนาคต
ในปีงบประมาณ 2562 ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากกรุงเทพมหานครจะต้องรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าประมาณ 5.18 หมื่นล้านบาท และยังต้องลงทุนในการติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาทด้วย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครอยู่ในระหว่างกระบวนการอนุมัติให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่ผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครคาดว่าจะมีการโอนภาระหนี้ของโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวไปให้แก่ผู้รับสัมปทานเพื่อแลกเปลี่ยนกับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าซึ่งจะช่วยให้กรุงเทพมหานครไม่ต้องรับภาระหนี้จำนวนมากจากโครงการดังกล่าว
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
สถานะสภาพคล่องของกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังเกินดุลจำนวน 1.42 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 จึงทำให้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเป็น 4.52 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2561 จากจำนวน 2.25 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2560 ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะรักษาเงินสะสมในระดับที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนสภาพคล่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามการคาดการณ์
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้ง มีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครในระหว่างปีงบประมาณ 2562-2565 ดังต่อไปนี้
- • รายได้ของกรุงเทพมหานครจะอยู่ระหว่าง 8.3 หมื่นล้านบาทถึง 8.6 หมื่นล้านบาท
- • ค่าใช้จ่ายจะไม่สูงเกินกว่ารายได้จัดเก็บตามนโยบายการคลังแบบสมดุล
- • อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อรายได้ประจำจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% ในปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไปหากกรุงเทพมหานครรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนมาจาก รฟม.
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable หรือ 'คงที่' สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางตลอดเวลาต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกรุงเทพมหานครมีแผนการบริหารการเงินที่ชัดเจนสำหรับการลงทุนและการดำเนินงาน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากกรุงเทพมหานครผ่อนปรนวินัยทางการเงิน หรือมีดุลการคลังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่จำกัดการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตของกรุงเทพมหานคร
โครงสร้างองค์กร
กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีระเบียบการบริหารราชการภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร) ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งแบ่งออกเป็น 50 เขต โดยกรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและยังเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
ภายใต้ พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร มาตรา 89 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดำเนินกิจการจำนวน 27 ภารกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาสภาพแวดล้อม ตลอดจนสวัสดิการและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้อยู่อาศัยและเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ
การบริหารราชการของกรุงเทพมหานครดำเนินการโดยคณะบุคคล 2 ส่วน ส่วนแรกคือสภากรุงเทพมหานครซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ส่วนที่ 2 คือฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 4 คนเพื่อช่วยในการบริหารงาน ฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยมีข้าราชการกรุงเทพมหานครภายใต้การกำกับดูแลของปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินงานตามนโยบาย
หลังจากการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน 30 คนให้ปฏิบัติหน้าที่ในปี 2557 และมีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ในปี 2559 ทั้งนี้ คสช. ได้ถูกยกเลิกไปหลังที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครชุดใหม่และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ในปี 2563
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Rating Methodology for Local Government, 23 สิงหาคม 2560
กรุงเทพมหานคร (BMA)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน