- Details
- Category: กทม.
- Published: Sunday, 30 December 2018 19:13
- Hits: 12278
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร'กรุงเทพมหานคร'ที่ 'AA+' แนวโน้ม 'Stable'
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานครที่ระดับ 'AA+' โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางตลอดเวลา การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนของกรุงเทพมหานครซึ่งมาจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และการดำรงเงินสะสมในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณของกรุงเทพมหานครจากความต้องการในการลงทุนอย่างมากในระบบขนส่งมวลชนและโครงการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ อีกด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศ
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและเป็นเขตการปกครองที่ก่อให้เกิดผลผลิตแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าเขตการปกครองใดใด จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ามูลค่าผลผลิตมวลรวมของกรุงเทพมหานครในปี 2559 เท่ากับ 4.73 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 32.5% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ
จากปี 2556 จนถึงปี 2559 เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2559 เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีอัตราการขยายตัวที่แท้จริงเท่ากับ 3.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.3% ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.5% ในปี 2561 หลังจากที่ขยายตัว 4.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการที่เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวตามที่คาดไว้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ การขยายตัวที่แข็งแกร่งของภาคการส่งออก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน และการฟื้นตัวของการลงทุนในภาคเอกชน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศ
เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีความผันผวนน้อยกว่าเศรษฐกิจของจังหวัดอื่น ๆ เนื่องมาจากการกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานครประกอบด้วยพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม บริการทางการเงินและประกันภัย ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งภาคเศรษฐกิจทั้ง 5 ประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58% ของเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครตามข้อมูลของ สศช.
รายได้จากภาษีที่สม่ำเสมอ
รายได้ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครมาจากภาษีอากรมากกว่า 90% ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูง โดยภาษีอากรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและภาษีอากรที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้และนำส่งกรุงเทพมหานครหรือจัดสรรโดยรัฐบาลกลาง ตามปกติแล้วภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ภาษีอากรที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้หรือที่รัฐบาลกลางจัดสรรมีสัดส่วนประมาณ 77% ของรายได้ทั้งหมด โดยในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2556-2560 รายได้จากภาษีอากรของกรุงเทพมหานครมีอัตราการเติบโต 5.9% ต่อปี
รายได้หลักของกรุงเทพมหานครมาจากภาษีหลัก 4 ประเภทซึ่งได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รวมถึงภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน โดยมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 83% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ที่จัดเก็บจากภาษีทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลอาจปรับลดอัตราภาษีบางประเภทเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเป็นครั้งคราว ตัวอย่างเช่นในปีงบประมาณ 2559 ภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปรับตัวลดลง 23.6% เนื่องจากรัฐบาลมีการปรับลดอัตราภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น รายได้จากการจัดเก็บภาษีของกรุงเทพมหานครที่แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตในระดับปานกลางทุกปี แต่การจัดเก็บก็อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลได้ด้วยเช่นกัน
นโยบายการคลังแบบสมดุล
กรุงเทพมหานครมีการจัดทำงบประมาณที่เหมาะสมภายใต้นโยบายการคลังแบบสมดุล ตามระเบียบกรุงเทพมหานครเรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2529 นั้น การจัดทำงบประมาณของกรุงเทพมหานครจะประมาณการรายจ่ายให้อยู่ภายในวงเงินงบประมาณรายได้ ดังนั้น การประมาณการรายได้ที่ค่อนข้างระมัดระวังจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีประมาณการรายจ่ายที่เหมาะสมและไม่เกินตัว ในกรณีที่การจัดเก็บรายได้น้อยกว่าประมาณการ กรุงเทพมหานครสามารถปรับปรุงรายจ่ายด้วยการชะลอการดำเนินโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือที่ยังไม่มีภาระผูกพันออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณบางปีอาจมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมระหว่างปีเมื่อมีความจำเป็นโดยต้องมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน เช่น รายได้จากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร หรือรายได้จากรายรับที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เป็นต้น
จัดเก็บรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดี ในปีงบประมาณ 2560 กรุงเทพมหานครมีรายได้รวม 79,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 75,577 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 เมื่อเทียบกับ 69,038 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2559 ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังเกินดุลจำนวน 3,694 ล้านบาท และมีอัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.66% ในปีงบประมาณ 2560 จาก 3.80% ในปีงบประมาณ 2559
ในปีงบประมาณ 2561 กรุงเทพมหานครคาดว่าจะมีรายได้ทั้งหมดประมาณ 86,000 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 78,500 ล้านบาท จึงส่งผลให้กรุงเทพมหานครจะมีดุลการคลังเกินดุลจำนวนประมาณ 7,500 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2562 นั้น กรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณรายได้และรายจ่ายไว้ที่ระดับ 80,000 ล้านบาท โดยในช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
งบดำเนินการในระดับสูงส่งผลจำกัดงบประมาณการลงทุน
การมีค่าใช้จ่ายดำเนินการอยู่ในระดับสูงจะจำกัดงบประมาณของกรุงเทพมหานครในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ทั้งนี้ รายจ่ายของกรุงเทพมหานครแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ งบดำเนินการและงบลงทุน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายจ่ายของงบดำเนินการอยู่ที่ระดับประมาณ 75% ของรายจ่ายรวม โดยในปีงบประมาณ 2560 กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายดำเนินการจำนวน 56,622 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.8% จากปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีรายจ่ายด้านบุคลากรซึ่งเป็นรายจ่ายดำเนินการที่สำคัญประเภทหนึ่ง โดยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของรายจ่ายรวมในปีงบประมาณ 2560
ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2560 กรุงเทพมหานครมีการใช้งบลงทุนมูลค่าประมาณ 15,000-19,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศและมีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุด จึงทำให้มีความต้องการการลงทุนด้านสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของกรุงเทพมหานครให้เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในการนี้ กรุงเทพมหานครอาจพิจารณาขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้ทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและอนุมัติจากรัฐบาล อีกทั้งขั้นตอนการอนุมัติก็ยุ่งยากและใช้เวลานาน ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานผ่าน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในการทำสัญญาและจัดหาเงินกู้เพื่อนำไปใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ภาระหนี้ของบริษัทกรุงเทพธนาคมรวมเป็นภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครด้วย
ณ เดือนกันยายน 2560 กรุงเทพมหานครมีภาระหนี้คิดเป็น 13,426 ล้านบาท ทริสเรทติ้งพิจารณาให้ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครรวมภาระต่าง ๆ ไว้ด้วย ดังนี้ (1) เงินกู้ของบริษัทกรุงเทพธนาคม (2) มูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้า BTS (3) สินเชื่อคงค้างจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาการติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) และ (4) มูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันทางการเงินจากสัญญาเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอยซึ่งมีอายุสัญญา 5 ปีและ 7 ปีตามลำดับ
ภาระหนี้อาจเพิ่มขึ้นเว้นแต่จะมีการตกลงในสัญญาสัมปทาน
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปีงบประมาณ 2562 เนื่องจากกรุงเทพมหานครจะต้องรับโอนโครงการรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าประมาณ 51,000 ล้านบาท และยังต้องลงทุนในการติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านบาทด้วย ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนต่าง ๆ ได้ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครอยู่ในระหว่างการพิจารณาหาทางเลือกแหล่งเงินทุนต่าง ๆ สำหรับการลงทุนดังกล่าว รวมถึงการให้สัมปทานการเดินรถไฟฟ้าแก่ผู้รับสัมปทานเพื่อแลกเปลี่ยนกับภาระหนี้ของโครงการดังกล่าว
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
สถานะสภาพคล่องของกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังเกินดุลจำนวน 3,694 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 จึงทำให้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเป็น 22,532 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2560 จากจำนวน 18,839 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2559
ทริสเรทติ้ง คาดว่ากรุงเทพมหานครจะรักษาเงินสะสมในระดับสูงเพื่อสนับสนุนสภาพคล่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ ภายใต้ระเบียบในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครจะต้องดำรงเงินสะสมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครอยู่ในระหว่างการปรับแก้ไขระเบียบเพิ่มเงินสะสมขั้นต่ำเป็นไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
การจัดทำงบการเงินที่ล่าช้า
งบการเงินของกรุงเทพมหานครมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ งบการเงินของกรุงเทพมหานครไม่ได้รวมผลการดำเนินงานของโครงการรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายและของบริษัทกรุงเทพธนาคมไว้ด้วย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้จัดทำงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้วเสร็จถึงปีงบประมาณ 2558 ทั้งนี้ การจัดทำงบการเงินที่ล่าช้า 2 ปีอาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดหาเงินทุนจากตลาดทุนในอนาคตเนื่องจากนักลงทุนอาจไม่สามารถวิเคราะห์สถานะการเงินของกรุงเทพมหานครได้อย่างเหมาะสม
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต'Stable'หรือ'คงที่'สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางตลอดเวลาต่อไป
ภายใต้สมมุติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของกรุงเทพมหานครจะอยู่ระหว่าง 80,000 ล้านบาทถึง 85,000 ล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2562-2564 ทั้งนี้ ตามนโยบายการคลังแบบสมดุล ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะไม่สร้างค่าใช้จ่ายเกินกว่ารายได้จัดเก็บ โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อรายได้ประจำของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% ในปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไปหากกรุงเทพมหานครรับโอนโครงการรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนจาก รฟม.
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกรุงเทพมหานครมีแผนการบริหารการเงินที่ชัดเจนสำหรับการลงทุนและการดำเนินงาน อีกทั้งมีการเปิดเผยงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วภายในเวลาที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากกรุงเทพมหานครผ่อนปรนวินัยทางการเงิน หรือมีดุลการคลังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่จำกัดการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิต
โครงสร้างองค์กร
กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีระเบียบการบริหารราชการภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร) ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งแบ่งออกเป็น 50 เขต โดยกรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและยังเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ภายใต้ พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร มาตรา 89 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดำเนินกิจการจำนวน 27 ภารกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาสภาพแวดล้อม ตลอดจนสวัสดิการและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ
การบริหารราชการของกรุงเทพมหานครดำเนินการโดยคณะบุคคล 2 ส่วน ส่วนแรกคือสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ส่วนที่ 2 คือฝ่ายบริหาร ซึ่งนำโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 4 คนเพื่อช่วยในการบริหารงาน ฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยมีข้าราชการกรุงเทพมหานครภายใต้การกำกับดูแลของปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินงานตามนโยบาย
หลังจากการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 86/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ซึ่งได้มีการสรรหาสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน 30 คนให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน 61 คนที่ครบวาระในการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 นอกจากนี้ คสช. ยังได้กำหนดห้ามมิให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวด้วย ต่อมาในเดือนตุลาคม 2559 คสช. ได้ผู้แต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Rating Methodology for Local Government, 23 สิงหาคม 2560
กรุงเทพมหานคร (BMA)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
Click Donate Support Web