- Details
- Category: กทม.
- Published: Thursday, 06 September 2018 16:39
- Hits: 3849
เดินหน้า 9 มาตรการสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.2 เขตดินแดง ทั้งนี้ สำนักการศึกษาได้รายงานถึงการดำเนินมาตรการ เฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 9 มาตรการ ได้แก่ 1. กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน 2. ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง 3. กำหนดแผน และขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และมีคู่มือปฏิบัติสำหรับบุคลากรเพื่อความปลอดภัย 4. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีตัวแทนครูและผู้ปกครองร่วมกันตรวจสอบปีละ 4 ครั้ง 5. จัดให้มีระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี กำหนดให้มีโครงการป้องกันยาเสพติด และพฤติกรรมข่มขู่ รังแกนักเรียน 6. จัดให้มีระบบความปลอดภัยด้านอาคารและสถานที่โดยรอบโรงเรียน 7. กำหนดการเดินทางไป–กลับโรงเรียนอย่างถูกวิธี มีความปลอดภัยจากการจราจร 8. มีการบันทึกข้อมูลอุบัติภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และ 9. จัดให้มีหลักสูตร “จิตสำนึกความปลอดภัย”
สำหรับ มาตรการเฝ้าระวังอัคคีภัยในสถานศึกษา คือ จัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังจากเพลิงสงบแล้ว พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงเรียน และเฝ้าระวังอัคคีภัย เช่น ปรับปรุงพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยง จัดหาอุปกรณ์ดับเพลิง อบรมให้ความรู้และการฝึกซ้อมระงับเหตุและอพยพเพื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างน้อย ปีละ 1–2 ครั้ง
มาตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ สถานศึกษาต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในสถานศึกษา โดยให้บุคลากรในสถานศึกษา ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ รวมถึงประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่ทุกสถานศึกษา สถานศึกษาต้องส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เน้นการป้องกันปัญหาพื้นฐานควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ
ขณะเดียวกัน ต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และจัดสภาพแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เช่น จัดห้องทำงาน ห้องเรียนที่เปิดเผย โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน ติดกล้องวงจรปิด (CCTV) ส่วนการแก้ไขและจัดการปัญหา หากร้ายแรงให้เข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนด การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที และต้องเป็นความลับ โดยให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีมีการร้องเรียนให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และให้มีบุคลากรที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังการสอบข้อเท็จจริง หากต้องมีการดำเนินการทางวินัยให้คณะกรรมการนำข้อมูลเสนอผู้บริหารประกอบการดำเนินการทางวินัย ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องติดตามผลการดำเนินงานและรายงานต่อหน่วยงานต้นสังกัดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
มาตรการป้องกันอุบัติเหตุ ได้แก่ การป้องกันอุบัติเหตุจากอาคารเรียนและอาคารประกอบ เช่น โครงสร้างอาคาร ห้องเรียน ห้องครัว โรงอาหาร ระเบียง บันได ราวลูกกรง กันสาด และครุภัณฑ์ภายในห้องเรียน การป้องกันอุบัติเหตุจากสภาพแวดล้อมภายใน และภายนอกบริเวณโรงเรียน เช่น การป้องกันอุบัติเหตุจากสภาพแวดล้อมและบริเวณโรงเรียน ประตูโรงเรียน บานเลื่อน รั้ว กำแพง บ่อน้ำ สระน้ำ เครื่องเล่นสนามเด็กเล่น สนามกีฬา อุปกรณ์เครื่องเล่นกีฬา ต้นไม้ สัตว์เลื้อยคลานมีพิษ และแมลงมีพิษ รวมทั้ง การป้องกันอุบัติเหตุจากการรับ–ส่งนักเรียนและเดินทางไป–กลับ ได้แก่ โรงเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง และชุมชน จัดทำมาตรการแนวทางการปฏิบัติในการรับ–ส่งนักเรียนร่วมกัน จัดระบบรักษาความปลอดภัยในการเดินทางและกำหนดหน้าที่ผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน เช่น ครูเวรคอยดูแลการรับ–ส่งนักเรียน มีการเช็คจำนวนนักเรียนบริเวณด้านหน้าประตูโรงเรียน และ 3. ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยดูแลในช่วงเช้าและช่วงเวลาเลิกเรียน ทั้งนี้สำนักการศึกษาได้อบรมครูแกนนำหมวกนิรภัยในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 แห่ง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง
สำหรับ มาตรการป้องกันการลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน คือ 'นับ'พนักงานขับรถรับ–ส่งนักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้องต้องนับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง'ตรวจตรา' ก่อนล็อคประตูรถควรตรวจดูให้ทั่วรถทุกครั้งว่ามีเด็กอยู่ในรถหรือไม่ และ 'อย่าประมาณ' ไม่ทิ้งเด็กไว้ลำพังแม้ช่วงเวลาสั้นๆ ให้เรียกหาเจ้าของรถเพื่อเปิดรถโดยเร็ว หากไม่พบเจ้าของรถขอให้คนรอบข้างช่วยเหลือ และโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น คือ มีห้องพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทุกโรงเรียน อบรมให้ความรู้ทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ครูอนามัยประจำโรงเรียน นักเรียนทุกคนมีสมุดสุขภาพประจำตัวและมีการบันทึกสุขภาพอย่างต่อเนื่อง สำนักอนามัยจัดพยาบาลอนามัยโรงเรียนมาชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมินภาวะโภชนาการ และทดสอบสมรรถนะของนักเรียนภาคเรียนละ 2 ครั้ง และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามฤดูกาลให้เด็กนักเรียน อีกทั้ง มีการจัดอบรมลูกเสือยุวกาชาดกู้ชีพเพื่อให้นักเรียนได้รับการฝึกการปฐมพยาบาลและการกู้ชีพเบื้องต้นเมื่อวันที่ 28–29 ส.ค. 61 ด้วย
Click Donate Support Web