- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Sunday, 24 September 2017 22:56
- Hits: 6200
กทปส. สนับสนุนโครงการขยายผล NETPIE IoT Platform ผลงานของคนไทย เพื่อคนไทย
หวังผลักดันส่งเสริมด้านบุคลากรและภาคอุตสาหกรรมไทยในการใช้ Internet of Things
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เดินหน้าสนับสนุนศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือ บริการ ในมุมของ Internet of Things หรือ IoT โดยร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สนับสนุน NETPIE หรือ Cloud Platform สำหรับงาน IoT อันเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยไทย และมุ่งหวังผลักดันให้เกิดการใช้งานในอนาคต รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ รับเทรนด์การเติบโตของ Industry 4.0 และ Smart IoT Device พร้อมทั้งหวังให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมในประเทศ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้งานแต่หวังให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำด้าน IoT ในระดับโลกได้
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เห็นถึงเทรนด์การใช้งานของระบบ Internet of Things หรือ IoT อันเป็นสัญญาณของกระแสโลก ที่อนาคตจะมีบทบาทสำคัญในประเทศไทย โดยกองทุนสนับสนุนโครงการขยายผล NETPIE IoT Platform สู่ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือให้เกิดการพัฒนาขยายผลสู่ภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอนาคตเทรนด์การใช้งานด้าน Internet of Things จะเติบโตและมีบทบาททั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งในวันนี้หากประเทศไทยมีการศึกษาวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้าน Internet of Things อันเป็นการเชื่อมต่อระบบสัญญาณอุปกรณ์ภายในบ้าน อาคาร ตลอดจนภายในเครื่องจักรภายในโรงงาน องค์กรจะลดการทำงานในด้านทรัพยากรบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การพัฒนา NETPIE IoT Platform สู่ภาคอุตสาหกรรม ยังเป็นสามารถช่วยลดต้นทุนของนำเข้าซอฟต์แวร์และการใช้บริการแพลตฟอร์มคลาวด์จากต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาคอุตสาหกรรมในประเทศอีกด้วย
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Internet of Things เป็นสิ่งที่ทั่วโลกตื่นตัวมากมีการคาดการณ์ถึงการใช้งานอุปกรณ์ด้าน IoT ทั่วโลกถึง 5 หมื่นล้านชิ้นในปี 2020 โดยอุปกรณ์ IoT สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันผ่านโพรโทคอลการสื่อสารทั้งแบบใช้สายและไร้สาย นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น ระบบเซ็นเซอร์ภายในบ้านตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้อยู่อาศัย ระบบการส่งสัญญาณสั่งเปิด-ปิด อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และการส่งข้อมูลของอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือระบบส่งข้อความเรียกหน่วยกู้ชีพหรือรถฉุกเฉิน เป็นต้น ในการพัฒนา IoT สิ่งที่ประเทศไทยขาด คือ บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคือรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบดังกล่าว ในด้านบุคลากร การสร้างความเข้าใจให้สังคมทราบถึงเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเตรียมตัวใช้งานด้าน Internet of Things อย่างรู้เท่าทัน และเดินหน้าตามเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไป เนื่องจากเทคโนโลยี IoT เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ต้องลงทุนสูงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้ นักพัฒนาไทยมีศักยภาพสูงทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และความคิดสร้างสรรค์ ถ้าได้รับการส่งเสริม เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถเป็นหนึ่งในผู้นำการสร้างนวัตกรรมด้าน IoT ของโลกได้
ดร.พนิตา กล่าวอีกว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศจำเป็นต้องมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมถึงแพลตฟอร์มคลาวด์ภายในประเทศเพื่อรองรับการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ IoT ต่างๆ การใช้แพลตฟอร์มต่างชาติส่งผลให้ข้อมูลถูกส่งออกนอกประเทศ เป็นการสิ้นเปลืองแบนด์วิดท์และเพิ่มระยะเวลาสื่อสารโดยใช่เหตุ แพลตฟอร์ม NETPIE (https://netpie.io) ที่ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติพัฒนาขึ้น ถือเป็นการวิจัยนวัตกรรมต้นแบบในการสนับสนุนการให้บริการแพลตฟอร์ม IoT ภายในประเทศ โดยจุดประสงค์ของโครงการที่ได้รับทุนจาก กทปส. นี้คือต้องการให้บริการแพลตฟอร์ม NETPIE ต่อสาธารณะ ได้อย่างต่อเนื่อง มีความเสถียรและความพร้อมใช้ของระบบในระดับสูงเทียบเท่าบริการแพลตฟอร์ม IoT เชิงพาณิชย์ของต่างชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานให้กับนักพัฒนา IoT ในประเทศ
นอกจากนี้ โครงการไม่ได้เน้นเพียงการพัฒนาเฉพาะแพลตฟอร์ม แต่ต้องการสร้างบุคลากรอันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ นักวิจัย นักพัฒนา นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ IoT นวัตกรรมหรือแอปพลิเคชั่นด้าน IoT ในประเทศ ดังนั้น โครงการจึงมีกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ ดูแลให้บริการแพลตฟอร์ม NETPIE และพัฒนาบุคลากรอันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม IoT ในประเทศเป็นสำคัญ
“ในการดำเนินโครงการขยายผล NETPIE IoT Platform เงินทุนที่ได้รับจาก กทปส. จะนำมาดำเนินกิจกรรมพัฒนาบุคลากร ประกอบด้วย การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งระดับนักพัฒนาและระดับผู้สอน (Trainer) การจัดประชุมสัมมนา การจัดประกวดนวัตกรรม IoT การสร้างเครือข่ายชุมชนนักพัฒนา IoT ในประเทศที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน โดยวางกรอบระยะเวลา 3 ปี จะมีกิจกรรมทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑลรวมถึงในเขตภูมิภาค”
ดร.พนิตา กล่าวเพิ่มเติมว่า Internet of Things หรือ IoT จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า Industry 4.0 อาศัยการเชื่อมต่อสื่อสารการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักร มนุษย์ และข้อมูล โดยเทคโนโลยีที่ทำให้ IoT เกิดขึ้นได้จริงและสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ แบ่งออกเป็นสามกลุ่มได้แก่ 1) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่งรับรู้ข้อมูลในบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น เซ็นเซอร์ 2) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่่งมีความสามารถในการสื่อสาร เช่น ระบบสมองกลฝังตัว รวมถึงการสื่อสารแบบไร้สายที่ใช้พลังงานต่ำ อาทิ Zigbee, 6LowPAN, Low-power Bluetooth และ 3) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่งประมวลผลข้อมูลในบริบทของตน เช่น เทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics การพัฒนานอกจากนี้ทางเนคเทคจะพัฒนา NETPIE Library เพิ่มเติมเพื่อรองรับฮาร์ดแวร์ ระบบปฏิบัติการ และระบบสมองกลฝังตัวที่หลากหลายขึ้น และเปิดเผย NETPIE Library ในรูปแบบ open-source ให้นักพัฒนาสามารถนำไปปรับปรุงต่อให้ตรงกับความต้องการใช้งาน พร้อมเปิดโอกาสให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ (NETPIE Library ทั้งหมดเปิดเผยอยู่ที่ https://github.com/netpieio)โดยเนคเทคหวังที่จะให้เกิด community ที่จะมาร่วมกันพัฒนาต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการ IoT ของไทย