- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Monday, 15 June 2015 11:17
- Hits: 2406
คณะกรรมการสมาคมเอทีซีไอ ชุดใหม่ ประกาศพันธกิจ 4 ด้าน มั่นใจช่วยรัฐดันดิจิทัลอีโคโนมีไทยไปไกลกว่าเดิม
คณะกรรมการสมาคมเอทีซีไอชุดใหม่ ประกาศพันธกิจ 4 ด้านเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอทีไทยตลอดวาระ 2 ปีนับจากนี้ การันตี 2 ใน 4 พันธกิจหลักสามารถทำได้ทันทีหากมีการผลักดันเต็มแรง มั่นใจผลจากพันธกิจทั้งหมดจะทำให้บริษัทไอทีไทยสามารถลบจุดอ่อนและยืนอยู่แถวหน้าของกลุ่มเออีซีได้สำเร็จ แถมยังช่วยชี้ทางให้รัฐบาลไทยกลายเป็นดิจิทัลเนชั่น (Digital Nation) อย่างเต็มตัว
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) กล่าวถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะกรรมการชุดใหม่ว่าประกอบด้วยงาน 4 ด้าน หนึ่งในนั้นคืองานด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (ดิจิทัล อีโคโนมี) ที่รัฐบาลจะใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารงานของประเทศไทยในอนาคต
“สมาคมมองว่านโยบายดิจิทัล อีโคโนมีเป็นเรื่องดี แต่สิ่งสำคัญคือเราจะต้องดันให้ภาครัฐเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลก่อน จุดนี้สมาคมจะหาแนวทางเสนอรัฐบาลให้ปฏิรูปตัวเองด้วยการมองหน่วยงานต้นแบบที่ไม่ต้องเสียเวลาตั้งขึ้นใหม่ เราเชื่อว่าพันธกิจนี้จะทำให้เกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์ เพราะถ้าหน่วยงานหนึ่งทำได้ อีกหลายหน่วยงานก็จะทำตาม”
นโยบายดิจิทัล อีโคโนมี มีเนื้อหาหลักคือการใช้ไอทีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ สร้างเครือข่าย จัดกระบวนการทำงานสมัยใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการได้มากขึ้น นโยบายนี้เป็นผลจากสื่อดิจิตอลและไอซีทีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย สามารถนำไปสู่การต่อยอดไปสู่ระบบเศรษฐกิจอื่นๆทั้งการดำเนินธุรกิจการค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข ตลอดจนการใช้ไอซีทีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
นอกจากงานด้านนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี อีก 3 งานที่เอทีซีไอเลือดใหม่ประกาศพันธกิจไว้คืองานด้านต่างประเทศ งานด้านการศึกษา และงานด้านธุรกิจ ทั้ง 3 พันธกิจนี้จะช่วยให้วงการไอทีไทยสามารถยกระดับตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม
“งานที่เอทีซีไอทำมาอย่างต่อเนื่อง และจะสำคัญมากขึ้นคืองานด้านต่างประเทศ เอทีซีไอเป็นสมาชิกหลายสมาคมสากล จุดนี้ทำให้เราสามารถพาบริษัทไทยไปปรากฏสู่สายตาชาวโลกได้ทั้งในรูปแบบการแสดงสินค้าและการเข้าร่วมงานประกวดซอฟต์แวร์” ดร.ธนชาติ กล่าว
สำหรับ งานด้านการศึกษา เอทีซีไอมองว่าแนวโน้มเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่ภาคบุคลากรกลับไม่สอดคล้องกัน เอทีซีไอจึงต้องการยื่นมือเข้าไปช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนาหลักสูตร หรือการจับคู่บริษัทไอทีกับมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาคนอย่างจริงจัง
ส่วนงานธุรกิจ เอทีซีไอระบุว่าจะต่อยอดจากการจัดงาน E Government Forum หลายครั้งที่ผ่านมา โดยจะดึงผู้ค้าในวงการไอทีมาจัดงานร่วมกันอีก จุดนี้เอทีซีไอจะส่งเสริมให้บริษัทเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัปได้มีเวทีโชว์ตัวที่ทั่วถึงยิ่งขึ้น
“2 เรื่องที่เรามองว่าเร่งด่วนที่สุดคือการช่วยให้ภาครัฐปฏิรูปตัวเองเข้าสู่ดิจิทัลและการพัฒนาคน เราอยากช่วยภาครัฐด้วยการเข้าไปแนะนำให้เห็นว่าหน่วยงานใดเหมาะเป็นต้นแบบ ซึ่งสามารถนำระบบของหน่วยงานนั้นไปทำซ้ำได้กับหลายหน่วยงาน วิธีนี้สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีรอการแก้กฏหมายหรือการตั้งหน่วยงานใหม่”
กรณีการพัฒนาคน ดร.ธนชาติระบุว่าเอทีซีไอจะเชื่อมภาคการศึกษาเข้ากับอุตสาหกรรม ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาที่ทำให้ไทยอาจเป็นรองบนเวทีเออีซี
“ปัญหาของอุตสาหกรรมไอทีไทยในกลุ่มเออีซีมี 2 จุด หนึ่งคือบุคลากรไม่พร้อมและสองคือสินค้าไอทีไทยยังไม่มีจุดเด่น สิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นสำหรับการปรับปรุงบุคลากรไทยคือการจับคู่บริษัทกับมหาวิทยาลัย เราจะไม่มองแค่หลักสูตร แต่อาจเป็นการพัฒนาร่วมกันในรูปโครงการงานวิจัย รวมถึงการเป็นพันธมิตร ส่วนการเพิ่มจุดเด่นให้สินค้าและบริการไอทีไทย เราจะเน้นประสานงานให้บริษัทไทยได้รับรางวัลบนเวทีประกวดซอฟต์แวร์ชั้นนำของเอเชีย”
ดร.ธนชาติระบุด้วยว่าเทรนด์เทคโนโลยีที่เอทีซีไอจะเน้นกระตุ้นให้ความรู้กับเอกชนไทยในช่วง 2 ปีนับจากนี้คือคลาวด์และบิ๊กดาต้า เนื่องจากตลาดของทั้ง 2 เทคโนโลยียังไม่ร้อนแรงเท่าที่ควรในประเทศไทย ต่างจากเทรนด์โซเชียลมีเดียและโมบายที่สังคมไทยตอบรับอย่างดี
ปัจจุบัน สถิติเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือจากค่ายผู้ให้บริการหลักทั้งสามรายของประเทศไทยได้แก่ AIS, DTAC และ TrueMove ชี้ว่ายอดผู้ใช้บริการมือถือมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 94.3 ล้านราย (ข้อมูลไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2557) โดยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2557 คือ 23.8 ล้านคน คิดเป็น 35% ของประชากรทั้งหมด 67.4 ล้านคน ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียคิดเป็นสัดส่วน 25% ของประชากรไทย.