- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Saturday, 30 May 2015 09:55
- Hits: 3651
ซีเอส ล็อกซอินโฟ CSL เตือนระวังอีเมล์หลอกลวงให้ทำการโอนเงิน เพื่อชำระค่าสินค้า
บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL แจ้งว่า ด้วยปรากฏว่าปัจจุบันมีการใช้อีเมล์เพื่อหลอกลวงให้ทำการโอนเงิน เพื่อชำระค่าสินค้าโดยการปลอมแปลงอีเมล์ขององค์กรและ/หรือคู่ค้าแล้วแจ้งเปลี่ยนแปลง บัญชีธนาคารหรือปลอมแปลงเอกสารการชำระเงิน ทำให้องค์กรหรือคู่ค้าได้รับความเสียหายจากการโอนเงินไปยังบัญชีที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับการชำระค่าสินค้า
เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ทางบริษัทฯ จึงใคร่ขอแจ้งเตือนผู้ใช้บริการได้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้อีเมล์ และการดำเนินธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนี้
1. ลบอีเมล์น่าสงสัยออกไป ไม่เปิดอีเมล์ หรือไฟล์แนบที่น่าสงสัยจากบุคคลที่ไม่รู้จักหรือเป็นอีเมล์จากบุคคลที่รู้จักแต่ไม่มีกิจธุระที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหาในอีเมล์หรือไฟล์แนบนั้นเพราะอาจติดไวรัสที่มากับอีเมล์และสร้างความเสียหายได้
2. พึงระวังอีเมล์ที่ขอให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะหากเป็นอีเมล์ที่มาจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้ธนาคารหลายแห่งได้แจ้งอย่างชัดเจนว่า ธนาคารไม่มีนโยบายในการขอให้ลูกค้าเปิดเผยเลขประจำตัว หรือข้อมูลที่มีความสำคัญอื่น ๆ ผ่านทางอีเมล์โดยเด็ดขาดหากได้รับอีเมล์ในลักษณะดังกล่าวควรลบ หรือตรวจสอบกับทางธนาคาร
3. ไม่ใช้อีเมล์ในการแจ้งหรือรับแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางการเงิน เนื่องจากอีเมล์และไฟล์แนบสามารถถูกปลอมแปลงได้ ควรใช้ช่องทางอื่นๆ เช่น แฟกซ์ และโทรศัพท์เพื่อยืนยันการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ควรทำข้อตกลงกับคู่ค้าในวิธีการเปลี่ยนบัญชีธนาคารและอาจจะกำหนดขั้นตอนการเปลี่ยนบัญชีธนาคารให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติ เพื่อป้องกันความเสียหายระหว่างองค์กรและคู่ค้า
4. ควรทำธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคาร ตามชื่อธนาคาร หมายเลขบัญชี และประเทศ ที่ได้ตกลงกันไว้กับคู่ค้าอย่างเป็นทางการเท่านั้น ควรตรวจสอบเกี่ยวกับเลขที่บัญชีและธนาคารที่จะทำการโอนให้ถูกต้องตรงกับที่ได้ตกลงไว้ตั้งแต่เดิม ทั้งนี้ หากพบว่า ข้อมูลของธนาคารและหมายเลขบัญชีมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือมีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้ทำการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องอีกครั้ง
5. เปิดเว็บไซต์โดยการพิมพ์ที่อยู่ของเว็บไซต์ด้วยตนเอง ไม่เปิดลิงก์ที่แนบมาในอีเมล์เนื่องจากลิงก์ที่มองเห็นในอีเมล์ว่าเป็นเว็บไซต์ของธนาคารอาจซ่อน ลิงก์ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ปลอม
6. ซีเอส ล็อกซอินโฟ ไม่มีนโยบายในการส่งอีเมล์หรือเว็บไซต์เพื่อแจ้งให้ลูกค้าทำการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่าน หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น หากพบเห็นอีเมล์ในลักษณะดังกล่าวให้ลบทิ้งโดยทันที หรือติดต่อกลุ่มงานให้บริการด้านเครือข่ายและระบบองค์กร ที่ 0-2263-7117 เพื่อสอบถามความถูกต้อง อนึ่ง ผู้ใช้อีเมล์ควรเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัย
7. สังเกตให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ที่ใช้งานมีการเข้ารหัสความปลอดภัย (https://) ก่อนกรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น เลขบัตรเครดิต หรืออื่น ๆ
8. ติดตั้งโปรแกรม Anti-Virus และทำการอัพเดทโปรแกรมดังกล่าวให้เป็นรุ่นปัจจุบันเสมอ
ปัญหาการหลอกลวงโดยการแก้ไขข้อมูลด้านการเงินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างแพร่หลายและเพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการสูญเสียด้านการเงิน องค์กรของท่านควรตระหนักถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้องค์กรได้รับผลกระทบจากการหลอกลวง และควรแน่ใจว่ามีมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันเหตุดังกล่าว
เตือนคนขาย ระวังกลโกง หลอกให้ส่งของ
หากท่านได้รับ e-mail ติดต่อเข้ามาแบบแปลกๆ จากชาวต่างชาติ โดยส่วนใหญ่อาจเป็นไนจีเรีย ยูเครน หรือมาเลเซีย ให้ท่านระวังไว้ว่าอาจจะเป็นแก๊งค์มิจฉาชีพ โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพจะเป็นสินค้าไอที เช่น กล้องถ่ายรูป notebook โทรศัพท์มือถือ หรืออาจจะเป็นรถยนต์
โดยแก๊งค์มิจฉาชีพอาจมีพฤติกรรมดังนี้
- มิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาจะเป็นชาวต่างชาติ (อาจอ้างว่าทำอาชีพนักธุรกิจ/ตำรวจ) ส่ง e-mail ถึงท่านเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยที่แปลกๆ เนื่องจากแปลจากเว็บแปลภาษา
- หลอกสั่งสินค้าท่านในปริมาณมาก และ/หรือ จะเสนอราคาซื้อที่สูงกว่าปกติ เพื่อดึงดูดใจผู้ขาย และอาจจะอ้างว่าจะรับผิดชอบค่าส่งของเอง โดยไม่สนใจว่าค่าใช้จ่ายจะสูงแค่ไหน
- หากเป็นสินค้าไอที หรือสินค้าชิ้นเล็ก ที่ท่านสามารถส่งได้ มิจฉาชีพจะอ้างว่าตัวเองอยู่อเมริกา อังกฤษ หรือประเทศอื่นๆ แล้วขอให้ท่านส่งสินค้าไปให้เพื่อนหรือลูกที่อยู่ประเทศไนจีเรียเป็นของขวัญ
หากเป็นการติดต่อซื้อขายรถยนต์ มิจฉาชีพจะอ้างว่าตัวเองอยู่ต่างประเทศ แต่จะให้ตัวแทนมาดู หรือลองขับรถ แทน หรืออาจจะอ้างว่าให้บริษัทขนส่งสินค้ามาทำการรับรถที่บ้านท่าน - มิจฉาชีพจะอ้างว่า จะจ่ายเงินทาง Paypal โดยใช้บัตรเครดิตที่ขโมยมา เมื่อ Paypal ตรวจสอบพบว่าเป็นบัตรที่ขโมยมา ก็จะดึงเงินท่านคืนเจ้าของบัตรตัวจริง
หรือมิจฉาชีพอาจจะขอเลขบัญชีธนาคารของท่าน แล้วบอกว่าจะโอนเงินมาให้ผ่านทางธนาคารต่างประเทศ จากนั้นมิจฉาชีพจะทำการส่ง e-mail ปลอมของธนาคารต่างประเทศ (ซึ่งอาจจะมีโลโก้ทำให้ท่านเชื่อถือ) เพื่อยืนยันว่าตัวเองได้ทำการโอนเงินมาให้ท่านเรียบร้อยแล้ว แต่มิจฉาชีพจะอ้างว่า ท่านต้องทำการส่งของมาก่อน เพื่อนำ Tracking Number รายละเอียดการส่งของไปยืนยันกับธนาคาร ธนาคารจึงจะโอนเงินเข้าบัญชีให้ท่าน
- หากท่านบอกรายละเอียดเลขที่บัญชีแก่มิจฉาชีพไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งของ มิจฉาชีพจะอ้างว่าได้ทำการแจ้งตำรวจ หรือ FBI หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำการขู่ให้ท่านส่งของไปให้
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ท่านไม่ควรบอกเลขที่บัญชีหรือข้อมูลส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น หากประสบเหตุการณ์เช่นนี้และมีข้อสงสัย ให้รีบติดต่อทีมงานก่อนค่ะ
ตัวอย่าง e-mail จากมิจฉาชีพ
http://www.kaidee.com/help/scam