- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Friday, 27 July 2018 10:27
- Hits: 2603
เอ็นไอเอ ผนึกกำลัง อิสราเอล ติดสปีดนวัตกรรมไทยสู่ระดับอินเตอร์ พร้อมดึงอิสราเอลโมเดลหนุนการเติบโตธุรกิจเกษตร-ไซเบอร์ -ไอโอที
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล (Israel Innovation Authority) หรือ IIA เดินหน้าความร่วมมือการพัมนาระบบนวัตกรรมของทั้งสองประเทศ โดยมุ่งให้การสนับสนุนการแลกปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างบริษัทไทย กับบริษัทอิสราเอล ผ่านกลไกการให้ทุน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมนำต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมจากอิสราเอลมาสู่ประเทศไทย อาทิ การดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติระดับโลกมาตั้งศูนย์วิจัยเพื่อทำงานร่วมกับนักวิจัยและสถาบันการศึกษา การสนับสนุนการเงินจากภาครัฐสู่ภาคธุรกิจ รวมทั้ง การผลักดันให้สตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรมไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะสาขาธุรกิจนวัตกรรมด้านการเกษตร ด้านอาหาร ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) และ Internet of Things หรือ ไอโอที
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เอ็นไอเอ ได้มุ่งสร้างเครือข่ายนวัตกรรมในระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ระบบนวัตกรรมไทยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ใหม่ๆ ความร่วมมือในการ ต่อยอดธุรกิจ การร่วมลงทุน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายที่จะผลักดันให้เกิด สตาร์ทอัพเนชั่น (Startup Nation) และธุรกิจนวัตกรรมให้ขยายขอบเขตไปสู่ระดับนานาชาติ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับสินค้าและบริการ โดยยังจะช่วยเปิดมุมมองให้ผู้พัฒนานวัตกรรมได้มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นและตอบสนองได้ตรงกับตลาดผู้ใช้นวัตกรรมในระดับโลกได้อย่างตรงจุด
ล่าสุด NIA ได้ร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล (Israel Innovation Authority หรือ IIA) ดำเนินความร่วมมือระดับองค์กรเพื่อส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทอิสราเอล ผ่านกลไกการให้ทุนของ เอ็นไอเอ และ ไอไอเอ โดยเอ็นไอเอ จะเป็นผู้ให้ทุนแก่ผู้ประกอบการไทย ขณะที่ไอไอเอ เป็นผู้ให้ทุนแก่บริษัทอิสราเอลที่จับคู่ทำโครงการกับบริษัทไทย นอกจากนี้ การร่วมมือกันในครั้งนี้ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะสาขาธุรกิจนวัตกรรมด้านการเกษตรด้านอาหาร ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) และ Internet of Things (IoT)
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า อิสราเอลยังมีความน่าสนใจในการพัฒนาสตาร์ทอัพและสามารถนำมาต้นแบบในการส่งเสริมสตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรมไทยได้ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิธีการในการเข้าถึงกลุ่มเงินทุน การจัดการทรัพยากรและการสร้างผลลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดโดยเฉพาะประชากรที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการศึกษาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การสนับสนุนการเงินจากภาครัฐสู่ภาคธุรกิจ การดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติระดับโลกมาตั้งศูนย์วิจัยเพื่อทำงานร่วมกับนักวิจัยและสถาบันการศึกษา ตลอดจนวิธีการผลักดันจำนวนสตาร์ทอัพต่อจำนวนประชากรที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 8,000 ราย (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และมีสัดส่วนการประสบความสำเร็จ 1 : 10 ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับในประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีความโดดเด่นในการพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไซเบอร์ ซึ่งไทยจะต้องนำต้นแบบในการสนับสนุนระบบนิเวศมาพัฒนา โดยมี 4 ส่วนที่จำเป็น คือ 1) ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนา การสร้างประสบการณ์ในการพัฒนา และการสร้างมาตรฐานของการวิจัยด้านไซเบอร์ 2)กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมไซเบอร์ โดยเน้นในเรื่องนโยบาย และกฏระเบียบต่างๆ 3)เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่พร้อมจะนำไปสู่กระบวนการใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ และ 4) บุคลากรด้านไซเบอร์ ที่จะต้องสร้างให้เกิดผู้เชี่ยวชาญ และการสร้างองค์ความรู้ด้านไซเบอร์พร้อมด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น
สำหรับ ในปัจจุบัน ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมสูงระดับต้นๆของโลก อันดับนวัตกรรมของประเทศดังกล่าวอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก เป็นอันดับที่ 1 ในหลากหลายด้าน ได้แก่ การเชื่อมโยงทางนวัตกรรมระหว่างองค์กร ความสามารถในงานวิจัยทางธุรกิจ นักวิจัย การส่งออกสินค้า ICT กองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Venture Capital : VC) และยังอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกในด้าน การพัฒนาแอปพลิเคชั่น ความคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจบริการและการต่อยอดทางวัฒนธรรม และการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO:9001 ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
ด้าน ฯพณฯ ดร.เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า หากประเทศไทย ซึ่งกำลังก้าวสู่ยุค 4.0 และอิสราเอล ในฐานะชาติแห่งสตาร์ทอัพ ร่วมมือกัน จะต้องเกิดผลดีอย่างมากตามมาอย่างแน่นอน ข้าพเจ้าเชื่อว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งของความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างประเทศไทยและอิสราเอล'
ขณะที่ ดร. อามี แอปเปิลโบม หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้บริหาร สำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล กล่าวว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในระดับต่อไป ซึ่งความสำเร็จจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ เราสร้างเครือค่ายไปทั่วโลก
สำหรับ ผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand
เกี่ยวกับสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล (Israel Innovation Authority) หรือ ไอไอเอ
สำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล (Israel Innovation Authority) หรือ ไอไอเอ เป็นหน่วยงานอิสราเอลที่อยู่ภายใต้และได้รับงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy and Industry) มีหน้าที่ส่งเสริมนโยบายโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรม และสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการ ระดับสตาร์ทอัพ ระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ผ่านกลไกการให้ทุนด้วยเงินสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงริเริ่มและต่อยอดโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในระดับวิจัยและพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศอิสราเอลอีกด้วย
ปัจจุบัน IIA มีความร่วมมือกับหลายทวีปและหลายประเทศ มีความร่วมมือระดับทวิภาคีมากกว่า 65 แห่งทั่วโลก มีโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกันมากกว่า 100 โครงการต่อปี ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
อเมริกาเหนือ (ในหลายรัฐ รวมถึง BIRD Foundation และ CIIRDF Foundation)
ละตินอเมริกา (อาร์เจนตินา บราซิล บราซิล อุรุกวัย เม็กซิโก โคลัมเบีย ชิลี)
ยุโรป (ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี เยอรมนี กรีซ เดนมาร์ค ฮังการี ตุรกี โปรตุเกส ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เช็ค สเปน เบลเยียม โปแลนด์ โรมาเนีย)
เอเชีย (จีน เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย คาซัคสถาน)
จีน (มณฑลเจียงซู เมืองเซี่ยงไฮ้ เมืองเซินเจิ้น มณฑลซานดง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเสฉวน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง)
ออสเตรเลีย (Federal Agreement วิคตอเรีย นิว เซาธ์เวลส์)
การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สนช. และ ไอไอเอ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์โดยกว้าง คือ (1) เพื่อส่งเสริมดำเนินการและริเริ่มกิจกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมของทั้งสองฝ่าย (2) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน หรือความร่วมมือในโครงการอันจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย และ (3) เพื่อประสานงานและแนะนำทรัพยากรในด้านต่างๆ และกลไกต่างๆ ที่สนับสนุนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมร่วมกัน หลังจากลงนามความร่วมมือแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานและวางแผนการทำงานร่วมกัน ก่อนจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ และประกาศรับข้อเสนอโครงการ Call for Proposal (CFP) เพื่อหาบริษัทมาพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันต่อไป