- Details
- Category: อาชีวะ
- Published: Sunday, 29 May 2022 11:51
- Hits: 2541
72 ทีมร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รอบคัดเลือก ประจำปีพุทธศักราช 2565
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการ กอศ.) เป็นประธานเปิดงานการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษารอบคัดเลือก ประจำปีพุทธศักราช 2565 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันต์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ นายธำรงค์ สว่างเดือน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี ร่วมในพิธี ณ หอประชุมศรีนนท์ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
นายสุเทพ กล่าวว่า "การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา"รอบคัดเลือก ประจำปีพุทธศักราช 2565 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ในครั้งนี้ ได้เห็นเยาวชนอาชีวศึกษา ให้ความสนใจในเรื่องการศึกษาหาความรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่แสดงถึงขีดความสามารถ ในการนำประเทศไปสู่การพัฒนให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับมาตรฐานในระดับสากลยิ่งขึ้น
ด้วยการนำเทคโนโลยีจากหลากหลายสาขาวิชา มาพัฒนาประดิษฐ์ คิดค้น นวัตกรรมหุ่นยนต์ไทยที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา นับเป็นกิจกรรมสำคัญ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เยาวชนทั้งหลายเกิดแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้ไปสู่การใช้งานได้จริง ทั้งในงานภาคอุตสาหกรรม งานอำนวยความสะดวกในบ้าน งานด้านการแพทย์ รวมถึงหุ่นยนต์กู้ภัยที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ
นอกจากนั้น ยังมีส่วนในการส่งเสริมนักศึกษารุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจศาสตร์ด้านเทคโนโลยีนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การคิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นระบบสร้างความสามัคคี ซึ่ง สอศ. ได้สนับสนุน ส่งเสริม เยาวชนของชาติ ให้ประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง
เลขาธิการ กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองต้องการเห็นเยาวชนของชาติ โดยเฉพาะในสถานศึกษาอาชีวะศึกษา มีความฝันที่อยากจะคิดค้นและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ประเภทไฮเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง"หุ่นยนต์"ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ประเทศทั่วโลกต่างพากันพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างหุ่นยนต์ ประเทศไทยก็ติดตามเกาะติดแวดวงเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตหุ่นยนต์กับเวทีนานาชาติด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยสามารถชนะการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติมาแล้วหลายรายการ
ดังนั้น สถานศึกษาจะต้องเร่งให้ความสำคัญ ในการส่งเสริมนักศึกษา ให้รู้จักและสนใจในวิทยาการด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้มากขึ้นตามลำดับและมุ่งพัฒนากำลังคนด้านหุ่นยนต์ในประเทศ ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้จริง ทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ และผลักตันให้เกิดการพัฒนาวิทยาการต้านหุ่นยนต์ให้มากยิ่งขึ้นตามนโยบาย Thailand 4.0
"ปัจจุบันอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาการใช้หุ่นยนต์โรงงานมากขึ้น อาชีวศึกษาจึงต้องพัฒนาบุคคลากรเพื่อมาควบคุมการใช้และซ่อมบำรุงนวัตกรรมเหล่านี้มาก ที่อยากเห็นคือการพัฒนาการใช้ AI เพื่อควบคุมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต"ดร.สุเทพกล่าว
การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา รอบคัดเลือก ของ สอศ. ครั้งที่ 24 กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ณ หอประชุมศรีนนท์ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี อ.ไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี มีทีมหุ่นยนต์จากสถานศึกษาต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 72 ทีม เพื่อแข่งขันคัดเลือกทีมหุ่นยนต์ จำนวน 36 ทีม เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับชาติต่อไป โดยใช้กติกาการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ชื่อ ‘พิชิตวัฏจักรหอคอย สู่แดนภารตะ’ ซึ่งเป็นโจทย์การแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยมีประเทศอินเดีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน