- Details
- Category: อาชีวะ
- Published: Saturday, 23 May 2020 21:48
- Hits: 2643
เรือเก็บขยะบนผิวน้ำ ว.การอาชีพเถิน รับรางวัลนวัตกรรมสร้างแรงบันดาลใจ
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน ให้นักเรียน นักศึกษาในสังกัด ได้นำความรู้และทักษะวิชาชีพเชิงช่างมาบูรณาการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สามารถนำไปผลิต คิด วิเคราะห์ พัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาไปสู่อาชีพและสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตนเองและครัวเรือน รวมทั้งยังช่วยพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ดังเช่น วิทยาลัยการอาชีพเถิน จังหวัดลำปาง โดยว่าที่ พ.ต. ณรงค์ศักดิ์ นพคุณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพเถิน ได้ให้นักศึกษาส่งผลงาน ‘เรือเก็บขยะบนผิวน้ำ Clean Energy’ เข้าประกวดในโครงการประกวดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.0 (Thailand Energy of Innovation and Technology Awards 2019) ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จากผลการตัดสินปรากฏว่า ผลงานของวิทยาลัยการอาชีพเถิน ได้รับรางวัลพิเศษ ชื่อ รางวัลคือ นวัตกรรมสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับนักศึกษาและสถานศึกษาเป็นอย่างมาก
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำลำคลองมีปัญหาเรื่องขยะลอยเกลื่อนและสภาพน้ำเน่าเสียเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และการนำไปใช้ ซึ่งรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับนำไปผลิตเป็นน้ำประปา นักศึกษาของวิทยาการอาชีพเถิน จึงคิดค้นเรือเก็บขยะบนผิวน้ำ Clean Energy ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเรือเก็บขยะบนผิวน้ำนี้ทำงานหรือขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานจากธรรมชาติจริงๆ ใช้แผงโซลาเซลล์เป็นพลังงานหลัก ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้ และเป็นพลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์ ที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด
แม้ว่า วันที่แสงอาทิตย์น้อย แผงโซลาเซลล์ก็มีกลไกในตัวเองที่ทำให้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ส่วนการบังคับเรือบังคับโดยการใช้รีโมทคอนโทรล ก่อนที่จะส่งเข้าประกวดได้นำไปทดลองใช้จริงในการเก็บขยะทั้งในบึง แม่น้ำ ลำคลอง สำหรับนักศึกษาที่ร่วมกันจัดทำนวัตกรรมชิ้นนี้คือ นางสาวสุวิดา กองวงศ์ และนายพิทวัส ต้อสาย นักศึกษา แผนกวิชาช่างไฟฟ้า ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 โดยมีครูที่ปรึกษา คือ นายณัฎฐชัย อ้ายฝอย และนายอนันต์ วงศ์จันต๊ะ
เลขาธิการฯ ได้กล่าวปิดท้ายว่า นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา อาจจะไม่ใช่เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ชิ้นใหญ่ที่มีความซับซ้อนในการใช้งาน แต่จะเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีกระบวนการสร้างที่เป็นไปตามหลักวิชาการพื้นฐาน เสริมด้วยองค์ความรู้ที่เป็นทักษะวิชาชีพ ราคาไม่แพง บุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ ที่ผ่านมาอาชีวศึกษาภูมิใจกับผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้รับรางวัลจากหลายๆ เวทีแล้ว ยังสามารถนำไปใช้งานได้อย่างจริงจัง ถูกใจกลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นจำนวนมา
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ