- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Monday, 09 October 2017 13:23
- Hits: 1363
แพทย์แนะนำผู้สูงอายุสร้างความสุข หลังวัยเกษียณ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคซึมเศร้า
ในทุกๆ วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล และถือว่าเป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้เกษียณอายุด้วย ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนมองว่า หากเกษียณอายุไปแล้วอาจจะกลายเป็นคนชรา กลัวการปรับตัว ปรับใจ หมดหวัง และกลายเป็นภาวะซึมเศร้า ดังนั้น หลังวัยเกษียณของผู้สูงอายุจะไม่เป็นคนชราอีกต่อไป หากปรับตัว ปรับใจ เตรียมความพร้อม ในการมีเวลาอยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัวอยู่กับลูกหลาน เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคม และสร้างความสุขที่ได้อยู่ร่วมกันในครอบครัว การเกษียณอายุ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตแบบเฉียบพลัน โดยทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ต้องตื่นนอน เตรียมตัวเพื่อไปทำงาน อาจจะส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้สูงอายุ หนึ่งในเรื่องนั้น คือ เรื่องรายได้ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียด กับเรื่องการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม จากบุคคลที่เคยมีบทบาทหน้าที่ มีคนเคารพยกย่อง พอเกษียณตำแหน่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทำทุกวันก็ไม่มี กลายเป็นเพียงคนธรรมดา เมื่อไม่มีการเตรียมความพร้อม ปรับตัวไม่ได้ ย่อมทำให้ยิ่งรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของตัวเองแย่ลง บางคนจึงอาจมี “ภาวะซึมเศร้า” เกิดขึ้น
พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ แพทย์ด้านจิตเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า ปัจจุบันสถิติผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งประเทศไทยเองกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงอายุไปสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น ถึง 7 ล้านคน และภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น หากผู้สูงอายุได้มีการเตรียมความพร้อมหลังการเกษียณ คือ ต้องยอมรับ ไม่ยึดติด มีความสุขในปัจจุบัน ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล และควรอยู่กับลูกหลานครอบครัวอย่างมีความสุข ตามแนวทางการสร้างสุขสำหรับวัยเกษียณ ด้วยหลัก 3 สร้าง ประกอบไปด้วย 1.สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองและผู้อื่น ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ทำความสำเร็จเล็กๆ ให้ได้ในแต่ละวัน และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ 2.สร้างสุขภาพกายและใจให้ตนเอง ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ตรวจสุขภาพประจำปี ฝึกจิต ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สดใส เมื่อรู้สึกหดหู่ เหงา เศร้า ไม่สดชื่น ควรรีบปรึกษาคนรัก ไปพบเพื่อนฝูง พูดคุยปรึกษาปัญหา ทำกิจกรรมที่ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ 3.สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมในบ้านและนอกบ้าน เช่น งานบ้าน งานสวน เข้าชมรม เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ตามความชอบความพอใจ ความถนัด และบริบทการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะของการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง หมดความกระตือรือร้น เบื่อหน่ายแยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว ท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า มองตัวเองไร้ค่าและยังเป็นภาระต่อคนอื่น นอนไม่หลับ ไม่อยากทานอาหาร น้ำหนักลด หากมีอาการมาก จะมีความรู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากตาย-ฆ่าตัวตาย รวมถึงมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองและมักพบได้บ่อยในสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่มีการสูญเสียหลายด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นวัยที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างมาก ดังนั้นลูกหลานและคนรอบข้าง เป็นตัวช่วยที่สำคัญที่จะสามารถช่วยผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณได้มีกำลังใจในการปรับตัว ปรับใจ และช่วยกันทำให้ผู้เกษียณมีความสุข รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สูงอายุ และไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นภาระ แต่ทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นคนสำคัญที่จะสามารถช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ให้ความเคารพยกย่อง ไม่ทอดทิ้งอยู่ตามลำพัง เพียงเท่านี้ก็ทำให้ชีวิตหลังวัยเกษียณมีความสุขทั้งกายและใจได้และไม่เสี่ยงภัยจากภาวะซึมเศร้า
บทความสาระการแพทย์ โดย พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ
แพทย์ด้านจิตเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า