WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8670 ข่าวสดรายวัน


ให้ความรู้'อีโบลา' 
หมอจุฬาขึ้นเวที มติชนเฮลท์แคร์'สาว'ต้องสงสัย ใกล้ได้กลับบ้าน


อีโบลา - นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษ 'อีโบลา โรคระบาด น่ากลัวจริงหรือ' ในงานมติชนเฮลท์แคร์ 2014 ที่ชั้น 5 เซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 23 ส.ค.

       หมอจุฬาฯให้ความรู้'อีโบลา'ในงาน 'มติชนเฮลท์แคร์'ได้รับความสนใจจากประชาชนผู้รักสุขภาพล้น หลาม ผู้เชี่ยวชาญไวรัส เจาะลึกกำเนิดเชื้อร้าย มั่นใจมาตรการรับมือของไทยป้องกันการระบาดได้ สธ.แถลงอาการสาวต้องสงสัยไม่ติดเชื้ออีโบลา รอตรวจซ้ำตามขั้นตอนก่อนปล่อยกลับ ยันการติดเชื้อเหมือนเอชไอวีคือจากเลือดและน้ำเหลือง ผู้มีความเสี่ยงสูงคือแพทย์พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย
      เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาด พร้าว มีงาน'มติชนเฮลท์แคร์ 2014'มหกรรมเพื่อสุขภาพครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด "ชีวิตสดใส หัวใจแข็งแรง" จัดขึ้นเป็นวันที่ 3 บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ได้รับความสนใจจากประชาชนคนรักสุขภาพที่เดินทางเข้าชมงานอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย และฟังบรรยายข้อมูลสุขภาพและสมุนไพรไทย โดยเฉพาะเวทีเสวนาได้รับความสนใจมีผู้เข้าฟังจำนวนมาก 
     ขณะที่เวทีกลางจัดบรรยายพิเศษหัวข้อ 'อีโบลา โรคระบาด น่ากลัวจริงหรือ'โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไวรัสดังกล่าวมีต้นกำเนิดที่คองโก บริเวณแม่น้ำอีโบลา จึงตั้งชื่อตามแม่น้ำที่พบเชื้อ โดยเชื้อไวรัสอีโบลาพบครั้งแรกในค้างคาว มีวงจรการแพร่เชื้อคือ เชื้อออกจากน้ำลายค้างคาวไปติดที่ผลไม้ สัตว์ตระกูลลิงไปกินผลไม้ จึงติดไปยังลิงด้วย จากนั้น คนแถบประเทศนั้นๆ ก็ล่าสัตว์ไม่ว่าลิง กวาง นำมาเป็นอาหาร จึงติดจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนในที่สุด ประเด็นสำคัญจึงเกิดการติดเชื้อจากการนำสัตว์ป่ามากิน แต่เนื่องจากความยากจน ความอดอยาก ทำให้เกิดการระบาดของโรคขึ้น 
       ศ.นพ.ยง กล่าวว่า โรคอีโบลาพบครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ระบาดมาแล้ว 20 ครั้ง มักเกิดตอนกลางของทวีปแอฟริกา ที่ผ่านมาการระบาดเกิดขึ้นในจำนวนคนหลักสิบเท่านั้น ครั้งนี้ระบาดมากที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งรวดเร็วมากจนมีผู้ป่วยและเสียชีวิตหลักพันคน เชื่อว่าตัวเลขที่รายงานไปองค์การอนามัยโลกยังต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีการรายงานการระบาดของโรคอีโบลาไปยังองค์การอนามัยโลก หลังจากพบผู้ป่วยรายแรกเสียชีวิตไปแล้ว 3 เดือน
     "การระบาดครั้งนี้ตั้งแต่ธ.ค. 2556 แต่รายงานองค์การอนามัยโลกในเดือนมี.ค. 2557 ผู้ป่วยรายแรกคือเด็กอายุ 2 ขวบในประเทศกินี จากนั้นติดคนในครอบครัวทั้งหมด การระบาดครั้งแรกเกิดในเขตชนบท พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้การระบาดควบคุมยาก เพราะความเชื่อพิธีกรรมของชาวแอฟริกาที่ว่าก่อนฝังต้องทำการล้างศพ ซึ่งชาวบ้านไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใดๆ ทำให้การระบาดเกิดขึ้นรวดเร็วและควบคุมยาก" ศ.นพ.ยงกล่าว
     ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า โอกาสที่การระบาดจะมายังประเทศไทยเกิดขึ้นได้ แต่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา เพราะการเดินทางข้ามทวีปยังไม่มีสายการบินตรงจากแอฟริกามายังไทย ลักษณะโรคเมื่อติดเชื้อจะมีไข้สูงทันที อาเจียนจนไม่สามารถเดินทางได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ความกังวลว่าหากรับเชื้อแล้วมาแสดงอาการที่ประเทศไทยก็สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขที่ติดตามผู้เดินทางเข้ามา 21 วัน สามารถช่วยป้องกันได้ 
     "กรณีการระบาดในประเทศไนจีเรียซึ่งมีพื้นที่ใกล้ไลบีเรีย เกิดจากมีผู้ติดเชื้ออีโบลาเดินทางจากไลบีเรียไปไนจีเรีย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ด้วยอาการมีไข้และอาเจียน ทำให้แพร่เชื้ออีโบลาติดบุคลากรทางการแพทย์ 11 คน และเสียชีวิตแล้ว 4 คน จากนั้นก็เกิดการระบาดใหญ่ในประเทศไนจีเรีย" ศ.นพ.ยงกล่าว 
       ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ที่ระบาดปัจจุบันมีชื่อว่า "ซาอีร์" ติดต่อได้ทางเลือด น้ำเหลือง อาเจียน อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสิ่งที่ขับออกมาจากร่างกาย และติดได้จากสัมผัสโดยไม่ป้องกัน เชื้อไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ การดูแลรักษาจึงต้องมีเครื่องมือป้องกัน เช่น ถุงมือ ชุดป้องกัน หรือใช้เพียงน้ำยาล้างห้องน้ำหรือแอลกอฮอล์ก็สามารถฆ่าเชื้อในสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับวัณโรคสามารถติดต่อได้ในระยะ 10 เมตร ไข้หวัดติดต่อได้ในระยะ 1 เมตร ส่วนอีโบลาติดต่อจากการสัมผัสได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรค จากการทดลองยาซีแมปในลิงที่ติดเชื้อ 7 ตัว พบว่า 4 ตัวตาย 3 ตัวรอด แต่ถ้าไม่ฉีดยาตายทั้งหมด ซึ่งการนำมาใช้ในคนต้องคำนึงถึงจริยธรรมด้วย สำหรับกรณีการทดลองในแพทย์ชาวอเมริกาเป็นเพียงการใช้ยาในภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้หมายความว่านำมาใช้ได้ทันที ต้องทดลองตามขั้นตอนต่อไป 
     ผู้สื่อข่าวถามกรณีการตรวจเชื้อยืนยันครั้งที่ 2 ในรายหญิงวัย 48 ปีที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ผลตรวจเลือดครั้งแรกที่เป็นลบ โอกาสตรวจเชื้อครั้งที่ 2 มักออกมาเหมือนเดิม ปกติการตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน มักตรวจเมื่อผลเลือดออกมาเป็นบวก แต่กรณีเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงถือเป็นผลดีที่ใช้ผลตรวจจากหลายแล็บและตรวจซ้ำอีกครั้ง ทั้งนี้ ในรายดังกล่าวอาการตั้งแต่ต้นก็ไม่มีไข้หรือลักษณะอาการอื่นที่บ่งชี้ว่าเป็นอีโบลา ต้องชื่นชมหญิงรายดังกล่าวที่มีความรับผิดชอบอย่างมาก
     ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภมิตร ชุณสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงอาการของหญิงวัย 48 ปี ซึ่งเดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย และอยู่ในกระบวนการสอบสวนโรค ที่สถาบันบำราศนราดูรว่า ผลการตรวจร่างกายอย่างต่อเนื่องไม่พบอาการผิดปกติ การวัดไข้พบว่าอุณหภูมิต่ำกว่า 37 องศามาโดยตลอด ไม่ถือว่ามีไข้ ส่วนอาการผื่นที่ไปพบแพทย์โรงพยาบาลเอกชนในครั้งแรก และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นลมพิษนั้น เมื่อเริ่มแรกเข้ามาที่สถาบันบำราศฯ ยังพบว่ามีผื่นอยู่นิดหน่อย แต่ขณะนี้ผื่นลดลง โดยรวมถือว่าสบายดี ทั้งนี้หากดูตามเงื่อนไขอาการโรคติดเชื้ออีโบลาไม่ถือว่าหญิงรายนี้เข้าข่ายผู้สงสัย แต่ด้วยเหตุที่เกิดความกังวลจึงขอรับการตรวจสอบด้วยตัวเอง 
     "แม้หญิงรายนี้จะไม่เข้าข่ายว่าต้องสงสัย แต่เมื่อเริ่มต้นกระบวนแล้วก็ต้องดูแลให้ตลอดต่อเนื่อง นอกจากวัดไข้ยังเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อ ผลการตรวจครั้งแรกเป็นลบ คือไม่พบเชื้อ แต่ตามกระบวนการควบคุมโรคจะต้องตรวจยืนยันอีกครั้ง คาดว่าวันที่ 24 ส.ค. จะแจ้งผล อย่างไรก็ตาม ถือว่าไม่มีความวิตกสำหรับเคสนี้" นพ.ศุภมิตรกล่าว 
     นพ.ศุภมิตร กล่าวว่า จากนี้คณะแพทย์ยังคงติดตามอาการและรอผลตรวจเลือดครั้งที่ 2 เมื่อได้ผลแล้วจะนำเข้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง โดยคณะกรรมการจะตัดสินว่าให้กลับบ้านได้เลยหรือไม่ เมื่อกลับบ้านจะมีกระบวนการเหมือนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง คือให้คำแนะนำทางสุขภาพและติดตามสอบถามทางโทรศัพท์ 21 วัน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทุกแหล่งและการรวบรวมความรู้ล่าสุด ยังยืนยันว่าโรคติดเชื้อไวรัส อีโบลาติดจากทางเลือด น้ำเหลือง ด้วยการสัมผัสโดยตรง การติดต่อเหมือนโรคเอดส์ แต่เอดส์เชื้อจะสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ผู้ติดไม่แสดงอาการเจ็บป่วยจึงแพร่เชื้อได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ แต่ผู้ป่วยอีโบลามักมีอาการหนักมาก การแพร่เชื้อจึงมักเกิดขึ้นในช่วง ผู้ป่วยป่วยหนัก คนเสี่ยงติดโรคจึงเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คนทั่วไปมีความเสี่ยงน้อย
      ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ยอดผู้ป่วยล่าสุดสะสม 2,615 ราย ตาย 1,427 ราย ใน 3 ประเทศ 1 เมือง สถานการณ์การระบาดคงเดิมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการระบาดยังคงรุนแรงในประเทศไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ส่วนในประเทศไทย กรณีชาวพม่าที่แวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทยนั้น จากการติดต่อข้อมูลประเทศพม่ายืนยันว่า ชาวพม่ารายดังกล่าวป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ปัจจุบันได้รับยาและอาการดีขึ้นแล้ว ส่วนชาวไนจีเรียที่เดินทางเข้าประเทศเวียดนาม พบว่าเป็นกรณีคล้ายๆ ประเทศไทย ผู้ที่ถูกสอบสวนโรคไม่มีไข้ อาการปกติดี
      นพ.โอภาส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่สถาบันบำราศนราดูรมีขวัญกำลังใจดี ไม่ได้วิตกกังวลในการดูแลผู้สอบสวนโรค หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่จะเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยโดยรวม อย่างไรก็ตาม หญิงรายดังกล่าวที่รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ถือเป็นบุคคลที่เสียสละอย่างมาก หากเก็บอาการเจ็บป่วยเป็นความลับแล้วติดเชื้อขึ้นจริงๆ จะทำให้เกิดการระบาดในประเทศขึ้น ซึ่งพื้นที่ที่มีการระบาดพบว่าเกิดจากผู้ป่วยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปตามมาตรฐาน ความเข้าใจและความพร้อมของสังคมจึงมีส่วนสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรค 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!